สัมผัสเสน่ห์ “ชุมพร” เมืองสงบ แหล่งวัฒนธรรม มีดีกว่าแค่ประตูสู่ภาคใต้

โดย กนกวรรณ มากเมฆ ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์

 

เพราะภาคใต้ไม่ได้มีดีแค่ทะเล ตอนที่แล้วเราจึงพาผู้อ่านไปสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวทางบกกันที่ จ.สุราษฎร์ธานี (คลิกอ่าน เยือนถิ่นสุราษฎร์ฯ ล่องเขื่อนเชี่ยวหลาน ไหว้พระธาตุไชยา กราบพุทธทาสภิกขุที่สวนโมกขพลาราม) ตามแคมเปญ “มหาจตุธรรมธาตุแดนใต้” ที่นำเสนอแหล่งท่องเที่ยวบนบกแห่งใหม่โดยใช้แนวทางท่องเที่ยว 4 พระบรมธาตุใน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี, ชุมพร, นครศรีธรรมราช และ จ.พัทลุง เพื่อเพิ่มโอกาสการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ฝั่งอ่าวไทย ซึ่งคราวนี้เราจะพาทุกคนมาสัมผัสเสน่ห์ของจังหวัดเล็กๆ อย่าง “ชุมพร” กันบ้าง

“ชุมพร” เป็นจังหวัดในภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยที่ใครๆ ต่างก็ว่าที่นี่เป็นประตูสู่ภาคใต้ หลายคนมองผ่านจังหวัดนี้ไป มองว่าไม่มีอะไรโดดเด่น มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอย่างหาดทุ่งวัวแล่น หาดทรายรี และเกาะทะลุ แต่อีกด้านหนึ่ง “ชุมพร” ยังเป็นจังหวัดที่ไม่ได้มีความสวยงามแค่เพียงแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องราวทางศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ไปจนถึงแหล่งเรียนรู้เชิงเกษตรอีกด้วย

เริ่มต้นการเดินทางในชุมพรด้วย “วัดพระบรมธาตุสวี” ตั้งอยู่ที่ อ.สวี ซึ่งห่างจาก อ.ไชยา ที่ตั้งของ “พระบรมธาตุไชยา” ไม่ไกลนัก ทางเข้าวัดพระบรมธาตุฯเป็นชุมชนเล็กๆ เงียบสงบ จนเมื่อมาถึงที่วัด เราพบกับลานโล่งกว้าง มีพระอุโบสถเล็กๆ กุฏิพระ หอระฆัง ศาล และองค์พระบรมธาตุสวี ถือเป็นวัดที่ยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างมากนัก เป็นวัดเล็กๆ ริมแม่น้ำ ที่เพียงเดินเข้ามาแล้วก็สงบใจจริงๆ

“พระครูจันทปัญโญภาส” เจ้าอาวาสของวัด เล่าประวัติพระบรมธาตุสวีให้ฟังว่า เป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งที่เก่าแก่สุดของ จ.ชุมพร มีลักษณะรูปแบบทรงระฆังคว่ำ ตามแบบพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา บริเวณฐานด้านล่างประดับด้วยรูปช้างโผล่หัวและขาหน้า เสมือนค้ำเจดีย์ไว้ สลับกับรูปยักษ์ถือกระบอง มีการบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง ฐานชั้นบนมีพระพุทธรูปปางสมาธิประทับนั่งในซุ้ม ส่วนยอดบนสุดของพระบรมธาตุเป็นปลียอดและเม็ดน้ำค้าง ซึ่งในการบูรณะครั้งล่าสุดเมื่อปี 2559 ได้มีการเปลี่ยนแปลงหยดน้ำค้างจากไม้สักเป็นหยดน้ำค้างทองคำ

บริเวณโดยรอบองค์พระบรมธาตุสวียังมีสิ่งสำคัญทางพระพุทธศาสนาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ระเบียงคดที่รายล้อมด้วยพระพุทธรูปปางประทานพรกว่า 108 องค์ และเจดีย์ขนาดย่อจากพระบรมธาตุอีก 4 ด้วย

ตามตำนานเล่าถึงประวัติการสร้างพระบรมธาตุสวีว่า เมื่อครั้งที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราช แห่งนครศรีธรรมราช เสด็จยกทัพมาพักที่วัดนี้ ได้พบกาฝูงหนึ่งเกาะอยู่บนกองอิฐกระพือปีกและส่งเสียงร้อง ซึ่งมีกาเผือกอยู่ในฝูงนั้นด้วย พระองค์จึงทรงให้รื้อกองอิฐที่กองทับกันออกจากฐานเจดีย์ใหญ่ เมื่อขุดลึกลงไปได้พบผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จึงให้แม่ทัพนายกอง ไพร่พลช่วยกันสร้างเจดีย์ขึ้นมาใหม่แทนที่เดิม แล้วจัดงานสมโภชเป็นการใหญ่ เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน จากนั้นพระราชทานชื่อว่า “พระบรมธาตุกาวีปีก” (วีปีก แปลว่า กระพือปีก) ต่อมาเรียกว่าพระบรมธาตุกาวี และคำว่า “กาวี” ต่อมาได้เรียกตามชื่อเมืองเป็น “พระบรมธาตุสวี”

พระครูจันทปัญโญภาส

ด้านนอกของพระบรมธาตุสวี ยังพบกับ “ศาลพระเสื้อเมือง” ซึ่งตามตำนานเล่าว่า ก่อนที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราชจะเสด็จยกทัพกลับ ทรงห่วงใยพระบรมธาตุว่าจะไม่มีผู้ใดดูแลรักษา จึงสั่งเรียกบรรดาทหารในกองทัพที่กำลังนอนหลับสนิท ในขณะนั้นมีทหารคนหนึ่งชื่อเมืองขานรับ พระองค์จึงมีรับสั่งถามว่าต้องการดูแลรักษาพระบรมธาตุแห่งนี้ไหม นายเมืองขานรับอาสา พระองค์จึงสั่งให้ทหารตัดศีรษะนายเมืองเซ่นบวงสรวงไว้ในศาลเพียงตา ศาลนี้จึงได้ขนานนามว่า “ศาลพระเสื้อเมือง” อยู่คู่พระบรมธาตุสวีสืบมา ในปัจจุบันศาลแห่งนี้ยังมีคนทั่วไปเคารพนับถือในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ปัจจุบันพระบรมธาตุสวีเริ่มได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากขึ้น จากการพัฒนาของพระครูจันทปัญโญภาส ที่ต้องการผลักดันให้ทุกคนรู้จักพระบรมธาตุเก่าแก่แห่งนี้ ทั้งการขอจัดตั้งเป็นโบราณสถาน, ผลักดันให้มีป้ายชื่อของพระบรมธาตุอยู่ในเส้นทางหลัก เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รู้จัก และเตรียมขอให้ชื่อของพระบรมธาตุสวีอยู่ในคำขวัญจังหวัดชุมพรด้วย

จากพระบรมธาตุสวี เรานั่งรถเข้าสู่อำเภอเมืองชุมพร เพื่อไปสัมผัสเสน่ห์ชุมพรจากมุมสูงกันที่ “จุดชมวิวเขามัทรี” จากตัวเมืองไปยังเขามัทรีอาจจะหาทางไปยากนิดหน่อย เนื่องจากป้ายบอกทางมีน้อย แต่ก็อาศัยกูเกิลแม็พ ผสมกับถามทางจากชาวชุมพร ซึ่งก็พบว่าทางขึ้นจุดชมวิวเขามัทรีมาทางเดียวกับทางไปหาดทรายรี แต่ถึงก่อนหาดทรายรี

ด้านบนเขามัทรีเรียกได้ว่าคุ้มค่ากับการขับรถขึ้นเขามาจริงๆ เพราะสามารถชมวิวชุมพรได้แบบ 360 องศา โดยด้านหนึ่งจะมองเห็นหาดภราดรภาพ ส่วนอีกด้านจะเห็นปากน้ำชุมพรและชุมชนชาวประมงขนาดใหญ่ มีภูเขาเรียงรายเป็นฉากหลัง เป็นทัศนียภาพให้เราได้ทอดสายตาพักผ่อนได้อย่างดี

เราทอดอารมณ์อยู่บนจุดชมวิวเขามัทรีกันจนอาทิตย์ลับของฟ้า ก่อนจะเข้าเมืองไปพักผ่อนที่โรงแรม เพื่อพักผ่อนและเตรียมตัวสำหรับการเดินทางในวันพรุ่งนี้

เริ่มต้นวันที่สองของการเดินทางในชุมพร เช้านี้เราเปลี่ยนแนวการท่องเที่ยวมาเป็นท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้เกษตรกันบ้าง โดยจุดหมายปลายทางของเราอยู่ที่ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์”

“กัณฐาภรณ์ ศิลปศร” ลูกสาวประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เล่าให้ฟังว่า วิสาหกิจชุมชนนี้เริ่มก่อตั้งในปี 2551 โดยกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อผลิตบ้านถ้ำสิงห์ ประชุมหารือการสร้างแนวทางอาชีพให้กับเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง มีรายได้เพิ่ม และไม่มีหนี้สิน ซึ่งในพื้นที่มีการปลูกกาแฟอยู่แล้ว แต่ผลผลิตที่ได้คุณภาพยังไม่ตรงกับที่ผู้บริโภคและตลาดต้องการนัก จึงรวมกลุ่มกันเพื่อหาทางออกและพัฒนากาแฟให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น

การดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจ นอกจากจะรับซื้อเมล็ดกาแฟจากชาวบ้านในกิโลกรัมละ 20 บาท มาแปรรูปเป็นกาแฟรูปแบบต่างๆ ส่งขายทั่วประเทศในแบรนด์ “กาแฟถ้ำสิงห์” แล้ว ที่นี่ยังมีทั้งกล้าต้นกาแฟสำหรับแจกชาวบ้าน ซึ่งในชุมชนนี้มักจะปลูกแบบผสมผสาน มีทั้งทุเรียน มังคุด กล้วย เงาะ เพื่อให้สามารถสร้างรายได้ได้หลายทาง

กัณฐาภรณ์ ศิลปศร

“กัณฐาภรณ์” ยังพาเราไปชมวิธีการผลิตกาแฟกันแบบไม่หวงความรู้ โดยเริ่มตั้งแต่การปลูกที่ต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี กว่าจะให้เมล็ดกาแฟได้ และเมื่อได้เมล็ดกาแฟมา ก็จะนำมาลอยน้ำเพื่อเลือกเมล็ดที่จม ส่วนเมล็ดลอยจะตีคืนชาวบ้าน นำเมล็ดดีที่เลือกไว้มาขัดเปลือก ล้างให้เมือกออก แล้วตากไว้ 7-10 วัน เสร็จแล้วนำมาบ่ม 1 ปี แล้วนำมาสีอีกรอบ จากนั้นมาคัดเลือกอีกครั้ง แล้วจึงนำมาคั่ว ซึ่งใช้เวลาคั่วราว 18-20 นาที

จากเริ่มต้นที่มีสมาชิก 20 คน ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์มีสมาชิกกว่า 450 คน มีพื้นที่ปลูกกาแฟรวมกว่า 1,500 ไร่ มีเครื่องคั่วกาแฟเป็นของวิสากิจเอง มีผลิตภัณฑ์กาแฟทั้งหมด 5 อย่าง ส่งขายผ่านตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ ช่องทางออนไลน์ และเตรียมวางขายในท็อปส์และเดอะมอลล์ด้วย โดยกาแฟบดแล้วขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 500 บาท ถือเป็นความเข้มแข็งของชุมชนที่เกิดขึ้นจากชุมชนเองจริงๆ

ซื้อกาแฟเป็นของฝากกันเรียบร้อยก็ได้เวลามื้อกลางวันกันแล้ว เที่ยงนี้คณะของเราขอฝากท้องกันไว้ที่ “ร้านครัวยายปวด” ร้านอาหารที่ภายนอกหน้าตาดูธรรมดาๆ แต่รสชาติไม่ธรรมดาเลย เรียกได้ว่าใครมาชุมพรแล้วไม่มากินที่นี่ถือว่าพลาดอย่างแรง

เมนูเด็ดของร้านเก่าแก่กว่า 20 ปีอย่างร้านครัวยายปวดนี้เริ่มตั้งแต่ แกงคั่วกระดูกอ่อนลูกกล้วย” ที่ใช้ลูกกล้วยดิบมาแกงในน้ำกะทิเข้มข้น รสชาติหวานเค็มกลมกล่อม ต่อด้วยเมนูที่ 2 อย่าง ปลาอินทรีทอด” กรอบนอกนุ่มใน รสชาติเค็มนิดๆ เข้ากันดีกับข้าวสวยร้อนๆ

ต่อกันด้วยเมนูซิกเนเจอร์ของภาคใต้อย่าง แกงส้มปลาโฉมงามผักรวม” “ต้มส้มปลากะพง” “ใบเหลียงผัดไข่” และไฮไลท์คือ หมูคั่วเค็ม” ที่ถึงแม้จะมันเยิ้มแค่ไหน แต่ทุกคนต้องยอมเลิกกลัวอ้วนกันหนึ่งวันเพื่อเมนูนี้

การมาชุมพรครั้งนี้ถือเป็นการสัมผัส “เสน่ห์” อีกด้านหนึ่งของจังหวัดเล็กๆ ในภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ดูเป็นเมืองสงบ อบอุ่น คงไปด้วยศิลปวัฒนธรรมล้ำค่า และยังมีอีกหลายสิ่งที่รอให้เรามาเรียนรู้และค้นหา…