ทำไมภูเขาไฟใต้น้ำปะทุ จึงทำให้เกิดฟ้าแลบ เหตุตองกาทำสถิตินับแสนครั้ง

ภูเขาไฟใต้น้ำปะทุ
An eruption occurs at the underwater volcano Hunga Tonga-Hunga Ha'apai off Tonga, January 14, 2022. Tonga Geological Services/via REUTERS

จากเหตุการณ์ ภูเขาไฟใต้น้ำปะทุ ที่ภูเขาไฟ ฮุงกา ตองกา-ฮุงกา ฮาอาปาย (Hunga Tonga–Hunga Haʻapa) ปะทุเมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 14 มกราคม ค.. 2022 และปะทุซ้ำอีกครั้งช่วงบ่ายวันเสาร์ที่ 15 ม.ค. ทำให้เกิดคลื่นสึนามิซัดเข้าฝั่ง อีกทั้งเกิดผลกระทบถึงปัจจุบันนั้น

ภาพข่าวบันทึกเหตุการณ์นี้ ปรากฏทั้งกลุ่มควัน เถ้าถ่าน พวยพุ่งตลบท้องฟ้า ทั้งยังมีสายฟ้าแลบเป็นระยะ

 

บัญชา ธนบุญสมบัติ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ และผู้เขียนหนังสือ All about Clouds ให้ข้อมูลทางเพจ ชมรมคนรักมวลเมฆ ว่า จำนวนสายฟ้าในเหตุการณ์นี้สร้างสถิติใหม่สำหรับปรากฏการณ์ volcanic lightning หรือฟ้าแลบที่เกิดจากภูเขาไฟปะทุ

ตามปกติแล้ว การปะทุของภูเขาไฟทำให้เกิดฟ้าแลบได้ เนื่องจากอนุภาคของฝุ่นและขี้เถ้าในกลุ่มควันเกิดการเสียดสีกันเอง หรือเสียดสีกับอนุภาคน้ำแข็งในเมฆที่อยู่ค่อนข้างสูง การเสียดสีทำให้เกิดประจุไฟฟ้าสถิต

ในทางวิชาการเรียกปรากฏการณ์ที่ประจุไฟฟ้าสถิตเกิดขึ้นจากการเสียดสีว่า triboelectricity (ไทรโบอิเล็กทริกซิตี้)

ภูเขาไฟใต้น้ำปะทุ
An overview of Hunga Tonga Hunga Ha’apai volcano in Tonga on Jan. 6, 2022, before a huge undersea volcanic eruption. (Satellite image ©2022 Maxar Technologies via AP)

ฟ้าแลบที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟเป็นปัจจัยหนึ่งที่บ่งชี้ถึงภูเขาไฟที่มีเถ้าในปริมาณมาก (ash-rich volcanoes) และฟ้าแลบแบบนี้บางครั้งเกิดขึ้นก่อนที่ภูเขาไฟจะปะทุอย่างเต็มที่ ดังนั้นนักภูเขาไฟวิทยาจึงสามารถใช้เป็นปัจจัยบ่งชี้ได้ว่าอาจเกิดอะไรขึ้นตามมาหลังจากนั้น

ฟ้าแลบที่เกิดจากภูเขาไฟ Hunga Tonga ครั้งนี้ตรวจจับโดย Global Lightning Detection Network (มักเรียกย่อว่า GlD360) ซึ่งตรวจจับสัญญาณคลื่นวิทยุที่เกิดจากฟ้าแลบ

ภูเขาไฟใต้น้ำปะทุ
An eruption occurs at the underwater volcano Hunga Tonga-Hunga Ha’apai off Tonga, January 14, 2022 Tonga Geological Services/via REUTERS  .

ทั้งนี้ในช่วงที่ภูเขาไฟลูกนี้เริ่มแสดงอาการในช่วงเดือนธันวาคม .. 2021 โครงข่าย GLD360 ตรวจจับฟ้าแลบได้หลายร้อยหรืออาจถึงระดับพันครั้งต่อวัน (ซึ่งเป็นค่าปกติที่คาดหมายได้)

แต่เมื่อการปะทุเพิ่มขึ้นใกล้ขีดสุดและถึงขีดสุดในวันเสาร์ที่ 15 มกราคม พบว่าตรวจจับฟ้าแลบได้ระดับหมื่นครั้งและพุ่งสูงถึงระดับ 2 แสนครั้งใน 1 วันตามที่กล่าวมาแล้ว 

เหตุการณ์นี้ยังทำให้เกิดฟ้าแลบถี่เป็นสถิติแล้ว ยังเกิดปรากฏการณ์ Meteotsunami

คลื่นกระแทกจากการขยายตัวของอากาศที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำ ได้มีส่วนผลักมวลน้ำออกไปอย่างรวดเร็ว เรียกว่า Meteotsunami (มีทีโอสึนามิ) นับเป็นสึนามิอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นเสริมสึนามิแบบปกติ

Photo: Twitter / Dr Faka’iloatonga Taumoefolau

สึนามิแบบปกติเกิดจากการที่ภูเขาไฟปะทุแล้วทำให้ตัวภูเขาไฟยุบตัวลง ส่งผลให้มวลน้ำปริมาณมหาศาลเกิดการเคลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็วและกระเพื่อมออกไปโดยรอบ

คำว่า Meteotsunami มาจากคำว่า meteor ในทางอุตุนิยมวิทยาเป็นคำที่ใช้เรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบรรยากาศ (meteorology ก็คืออุตุนิยมวิทยา) บวกกับคำว่า สึนามิ 

………..

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ภูเขาไฟใต้น้ำตองกาปะทุ ส่งคลื่นกระแทกและสึนามิไปค่อนโลก