ก้าวหน้าอีกขั้น นักวิจัยญี่ปุ่นประเดิมหุ้ม “ผิวหนังมีชีวิต” ให้นิ้วหุ่นยนต์

ความก้าวหน้าอีกขั้นในการสร้างหุ่นยนต์เหมือนมนุษย์ ผลงานนักวิจัยญี่ปุ่นเนรมิต ผิวหนังมีชีวิต หุ้มนิ้วหุ่นยนต์ ครั้งแรกในโลก

วันที่ 10 มิถุนายน 2565 บีบีซี รายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น นำโดยศาสตราจารย์ โชจิ ทาเคอุจิ จากมหาวิทยาลัยโตเกียวของญี่ปุ่น แสดงผลงานจากการประดิษฐ์นิ้วจักรกลหุ้มด้วยผิวหนัง ทำจากวัสดุชีวภาพและเซลล์ผิวหนังของคนจริง ๆ ขึ้นมา

ผิวของนิ้วหุ่นยนต์ดังกล่าวมีความยืดหยุ่นและเกิดเป็นรอยพับเมื่อขยับข้อนิ้วไปมา ทั้งยังมีความชุ่มชื้นเหมือนกับมีเหงื่อออกเล็กน้อยตลอดเวลาด้วย ที่สำคัญคือเยียวยารักษาตนเองได้หากเกิดบาดแผล เพียงใช้พลาสเตอร์คอลลาเจนปิดทับไว้เท่านั้น

 

ทีมผู้วิจัยกล่าวว่าการประดิษฐ์ “ผิวหนังมีชีวิต” ให้นิ้วหุ่นยนต์ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกในการพัฒนาไปสู่การสร้างหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์อย่างแท้จริง เพื่อให้ผู้ใช้งานหุ่นยนต์ในอนาคตมีทัศนคติและความสัมพันธ์ที่ดีกับเครื่องจักรกล ไม่รู้สึกรังเกียจหรือแปลกแยก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหุ่นยนต์ในภาคงานบริการ หรืองานดูแลพยาบาลผู้ป่วยและคนชรา

SHOJI TAKEUCHI /
นิ้วหุ่นยนต์ที่หุ้มด้วย “ผิวหนังมีชีวิต” รักษาบาดแผลให้ตัวเองได้ด้วยพลาสเตอร์คอลลาเจน

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ประสบปัญหาในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อผิวหนังบนวัตถุสามมิติที่เคลื่อนไหวได้ แต่ทีมของศ. ทาเคอุจิแก้ปัญหานี้ โดยนำนิ้วหุ่นยนต์มาแช่ในสารละลายคอลลาเจนผสมกับเซลล์สร้างเส้นใยผิวหนังของมนุษย์ (fibroblast) เพื่อให้เกิดเนื้อเยื่อมีชีวิตที่เชื่อมต่อกันชั้นแรกก่อน แล้วจึงปลูกถ่ายเซลล์หนังกำพร้า (epidermal keratinocyte) ห่อหุ้มไว้อีกที

หุ่นยนต์ที่คล้ายมนุษย์มากแต่ยังดูออกได้ว่าไม่ใช่คนจริง สร้างความรู้สึกแปลกประหลาดน่าขนลุกให้กับผู้คนได้ /
SHOJI TAKEUCHI

อย่างไรก็ตาม ผิวหนังมีชีวิตของหุ่นยนต์ในขั้นนี้ยังอ่อนแอกว่าผิวหนังของคนจริงอยู่มาก เนื่องจากไม่มีระบบไหลเวียนโลหิตและระบบประสาท จึงต้องรักษาไว้ในสภาพที่ชุ่มชื้นตลอดเวลาเพื่อไม่ให้เซลล์ผิวหนังตายลง นอกจากนี้กลไกของนิ้วหุ่นยนต์ยังคงส่งเสียงขณะเคลื่อนไหว ทำให้รู้สึกไม่เป็นธรรมชาติเท่าใดนัก

ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและวิศวกรรมหุ่นยนต์บางรายเกรงว่า การใช้งานหุ่นยนต์ที่รูปลักษณ์คล้ายกับมนุษย์มาก แต่ดูออกได้ว่าไม่ใช่คนจริง อาจสร้างความรู้สึกแปลกพิลึกน่าขนลุกที่เรียกว่า uncanny valley effect ซึ่งทำให้ผู้คนปฏิเสธที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับหุ่นยนต์ได้

“ความรู้สึกหวาดกลัวต่อหุ่นยนต์ที่เลียนแบบมนุษย์นั้น อาจหายไปได้เมื่อคนเราได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการใช้งานหุ่นยนต์บ่อยครั้ง ซึ่งจะทำให้ uncanny valley effect ที่เกิดขึ้นตอนแรกหมดสิ้นไปได้” ศาสตราจารย์ เฟเบียน กราเบนฮอร์สต์ ผู้เชี่ยวชาญทางประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดของสหราชอาณาจักร ผู้ร่วมงานวิจัย กล่าว

……….

เนื้อหาข่าวจาก BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว