เปิดธุรกิจ โปสเตอร์หนัง จากแผ่นกระดาษเก่าเก็บ สู่มูลค่าหลักร้อยถึงหมื่น

โปสเตอร์หนัง
รายงาน

 โปสเตอร์หนัง ของสะสมที่มีการซื้อขายมาหลายสิบปี ทว่า 2-3 ปีหลัง ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ด้วยฐานกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่หันมาซื้อเก็บสะสม ตามหาโปสเตอร์หนังที่ชอบกันมากขึ้น

จากร้านตามตลาดนัดของเก่ามือสอง ได้เกิดผู้เล่นหน้าใหม่ขึ้นบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากมาย จากนักสะสม สู่พ่อค้าที่พาธุรกิจนี้ไปไกลขึ้น ซื้อขายง่ายขึ้น หาของแรร์ไอเท็มได้จากทั่วโลก จนกลายเป็นธุรกิจเล็กๆ ที่เปลี่ยนแผ่นกระดาษเก่าเก็บหน้าโรงหนัง ให้มีมูลค่าตั้งแต่ราคาหลักร้อย จนถึงหลักหมื่น

ส่วนหนึ่งมาจากเทรนด์ Nostalgia ที่ทุกคนหวนกลับไปหาความ Analog จับต้องได้ ตั้งแต่ กล้องถ่ายรูป เทปคาสเซ็ท แผ่นเสียง เช่นเดียวกับ โปสเตอร์หนัง

ประชาชาติธุรกิจ พูดคุยกับ RedLight Poster ร้านขายโปสเตอร์ออนไลน์ ที่เน้นขายโปสเตอร์แท้นำเข้า และของเก่าเก็บ เน้นหนังอินดี้แมส อินดี้หายาก จนถึงหนังบล็อกบัสเตอร์ ถึงจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจในฐานะนักสะสม กลไกราคา และทิศทางธุรกิจที่ดำเนินด้วยแพชชั่น ความรัก แต่กำไรไม่สูงตาม เหมือนราคาขาย

ก็คงเหมือนวัยรุ่นยุคหนึ่งที่โหยหาความเป็นเด็ก สิ่งที่เราหลงใหลในช่วงเวลาหนึ่ง เด็กรุ่นใหม่โตมาในยุคดิจิทัล ทุกวันนี้โปสเตอร์หนังมีน้อยลง เราไปเห็นมันอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ บนป้ายบิลบอร์ด มันจับต้องไม่ได้” RedLight Poster เกริ่น

มันคืองานศิลปะชิ้นหนึ่ง เราชอบหนังเรื่องไหน ก็อยากเก็บของที่ระลึกจากหนังเรื่องนั้น มัน Remind ความทรงจำที่มีต่อหนัง ซีนในหนังที่เราชอบ นักแสดง เพลงประกอบ บางเรื่องไปดูกับแฟนครั้งแรก หนังที่เปลี่ยนชีวิต เราก็อยากมีเก็บไว้ ภาพยนตร์กับมนุษย์ มัน Relate กันอยู่แล้วในแต่ละช่วงชีวิต

จากนักสะสม สู่พ่อค้า

เราอยากแบ่งปันความรู้สึกที่เรามีกับลูกค้า คนที่รักในภาพยนตร์จริงๆ แบบเรา มีความสุขเวลาหาโปสเตอร์หนังที่เค้ารักได้ ผมเริ่มจากศูนย์ ไม่เก่งเรื่องการตลาด เลยไม่ได้มองกลุ่มเป้าหมายต้องเป็นแบบไหน เรายึดแค่ว่า เราชอบหนังเรื่องไหน ต้องมีคนอินเหมือนเราแน่ เราเลยเจอกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นที่ชอบหนังอินดี้ หนังคัลท์ ไปจนถึงหนังบล็อกบัสเตอร์

เราก็พอมีฐานลูกค้าประมาณหนึ่งที่เข้าใจว่าร้านมีตัวตนยังไง แล้วมันจะดึงดูดกันเอง คนดูหนังแนวนี้ถึงกลุ่มเล็กแต่มันแข็งแรง เหนียวแน่น ส่วนใหญ่ให้คุณค่ากับหนังที่เค้ารัก มันเป็นคุณค่าทางใจ

ด้วยความเป็นของเก่าเก็บ โปสเตอร์หนัง จึงไม่มีราคากลาง มีแต่ราคาความพอใจ แล้วกลไกราคาของโปสเตอร์หนัง ขึ้นอยู่กับอะไร

ของเก่า ความต้องการของตลาด ความยากง่ายในการหา จำนวนการผลิต หนังเรื่องนี้พิมพ์เยอะน้อย และใบตรงปีฉายต้นฉบับ เป็นปัจจัยที่บ่งชี้ราคาหมด อย่างหนังอินดี้ จะหายากมาก เพราะผลิตน้อย จำกัดโรงฉาย และถ้าหนังมันฮิตสร้างกระแส หรือได้รางวัล คนจะยิ่งตามหากัน

อย่างหนัง หว่อง กาไว พวก Chungking Express, Fallen Angels, In The Mood For Love หรือหนังที่ฮิต คลาสสิคตลอดกาล Pulp Fiction, Taxi Driver, The Godfather, Star Wars, James Bond 007 และงานขึ้นหิ้งของ Stanley Kubrick ที่ผ่านเวลาแค่ไหน คนก็ยังตามหา และราคาไม่เคยตกเลย

อีกปัจจัยคือ หนังที่นักแสดงหรือผู้กำกับเสียชีวิต ก็เป็นเหตุผลที่คนต้องการเก็บโปสเตอร์ อย่าง Batman : The Dark Knight ที่ ฮีธ เลดเจอร์ ผู้รับบทโจ๊กเกอร์เสียชีวิต ตัวหนังก็ยิ่งได้รับความนิยม จนตอนนี้โปสเตอร์ราคาไปถึง 4,500 บาท เป็นอย่างต่ำ

โปสเตอร์หนัง

หรือหนังที่นำกลับมาฉายใหม่ เช่น AKIRA หรือ Star Wars ที่กลับมาฉายแล้วความต้องการ ราคาพุ่งมาก ทั้งใบเก่าและผลิตใหม่

ในมุมผู้ขาย เราตั้งราคาจาก สภาพโปสเตอร์ ตำหนิ ความหายาก ราคาทุนที่ได้มา บางใบได้มาแพงมาก 4,000 กว่าบาท จะขาย 8,000 ก็ไม่ได้ ก็ขาย 4,500 เพราะใครจะซื้อโปสเตอร์แพงขนาดนั้น มันมีทั้งใบที่ถูกมากแทบไม่ได้กำไร กับกำไรสูงไปเลย มันถัวเฉลี่ยกัน มันหวังกำไรมหาศาลยาก

 

โปสเตอร์แต่ละแบบที่ได้รับความนิยม ใบไทย/ใบต่างประเทศ ราคา/ความแตกต่าง คืออะไร

อาร์ตเวิร์ก กับขนาด แต่ละประเทศจะมีเอกลักษณ์การออกแบบไม่เหมือนกัน โปสเตอร์ไทยยุคก่อนจะโดดเด่นที่งานวาด เช่นงานวาดของ อาจารย์ทองดี ภานุมาศ, อาจารย์บรรหาร ไทธนบูรณ์ ชาวต่างชาติจะถามแต่ใบไทยเท่านั้น เป็นเอกลักษณ์ที่สุด ราคาหลักพันถึงหมื่น ส่วนใบไทยช่วง 90 ถึงปัจจุบัน คือเอาอาร์ตจาก U.S. มาพิมพ์เลย ราคาอยู่ที่หลักร้อยถึงพัน

ส่วนโปสเตอร์จาก U.S. คือมาตรฐาน เพราะหนังฮอลลีวูดก็คือเบอร์หนึ่งในโลกภาพยนตร์ ราคาหลักพันถึงหลักหมื่น แล้วแต่เรื่องและปีฉาย ญี่ปุ่นก็ชัดเลย ตัวอักษรคันจิ ลงไปอยู่หนังเรื่องไหนก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง อิตาลีเมื่อก่อนก็เป็นงานวาดเหมือนกัน โปแลนด์ยิ่งมีความเป็นงานศิลปะสูง

แหล่งที่มาของโปสเตอร์แต่ละประเภท

ใบไทยเก่าส่วนใหญ่จะเร่ซื้อมาจากโรงหนังเก่า หรือเก็บสะสมมาเองจากหน้าโรงภาพยนตร์ และซื้อตามกลุ่มขายโปสเตอร์เก่าในเฟซบุ๊ก ส่วนหนังไทยยุคปลาย 90 ถึงปัจจุบัน ก็ได้มาจากค่ายหนัง โรงหนัง ส่วนใบอิมพอร์ต U.S. หรือประเทศอื่นๆ เราสั่งเข้ามา หรือซื้อจากพ่อค้าในบ้านเราแล้วขายทำกำไรต่อ และรับพรีออเดอร์โปสเตอร์หนังตามที่ลูกค้าต้องการ

ความต่าง ได้เปรียบเสียเปรียบ ระหว่างขายโปสเตอร์หน้าร้านกับออนไลน์

ออนไลน์มันช่วยให้ขายได้ง่ายขึ้นจริง แต่การขายโปสเตอร์ที่มีหน้าร้านมีความผูกพันกับลูกค้า ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน จับเลือกโปสเตอร์ที่ชอบ ออนไลน์สามารถพรีออเดอร์เรื่องไหนก็ได้ ตามหาโปสเตอร์ได้หลากหลาย แต่ข้อเสียลูกค้าต้องวัดดวงความน่าเชื่อถือของคนขาย ทั้งสภาพโปสเตอร์ และของปลอม

ถึงวงการโปสเตอร์หนังจะบูมขึ้นมาใน 2-3 ปีหลัง แต่งานศิลปะยังคงไม่ถูกให้ค่า จึงเป็นธุรกิจที่เฉพาะกลุ่มและขายยากอยู่ดี

คนที่เห็นคุณค่ามันยังน้อย คนเล่นยังคงเป็นเฉพาะกลุ่ม แค่เรามีโซเชียลที่ทำให้ดูวงการนี้มีชีวิตชีวา แชร์ภาพการเก็บสะสมมากขึ้น บ้านเรายังคงให้ค่ากับศิลปะน้อย พูดกันตรงๆ ตอนนี้มันทำมาเพื่อซัพพอร์ตการโฆษณา ถ้าศิลปะถูกให้ค่า เราอาจยังได้เห็นโปสเตอร์มือวาดแบบอาจารย์สมัยก่อน ซึ่งต่างประเทศคลั่งไคล้ และเป็นที่ต้องการมาก ราคาสูง บางใบซื้อขายกันถึง 2-3 หมื่นบาทขึ้นไป แต่ในไทยยังราคาต่ำกว่านั้น

ทุกร้านขายโปสเตอร์เหมือนกัน ของคล้ายกัน จะสร้างความแตกต่างยังไงให้ลูกค้าเลือกซื้อร้านเรา

ความน่าเชื่อ ความซื่อสัตย์ ถ้าเราไม่รู้เราก็ต้องหาความรู้เพิ่ม ได้ของปลอมมา ก็บอกตรงๆ ว่าของปลอม เราเคยโดนมาก่อนก็เจ็บใจ ด้วยความที่เป็นคนเก็บของมาก่อนก็ถามจากพี่ๆ ที่เค้าเก็บสะสมมานาน มีประสบการณ์ ส่วนราคาก็อยู่ที่ผู้ขายว่าต้องการตั้งขนาดไหน ผู้ซื้อรับได้แค่ไหน บางคนตั้งราคาแพงมาก เพราะเค้ามั่นใจในประสบการณ์ การันตีของคุณภาพ สร้างความน่าเชื่อถือให้ร้าน

โปสเตอร์หนัง

ธุรกิจที่ถูก Disrupt ได้ตลอดเวลา เพราะใครก็สามารถสั่งโปสเตอร์หนังจากต้นทางเองได้

เป็นเรื่องปกติ และเรายินดีถ้าจะมีผู้ขายเพิ่ม หรือเค้าสามารถซื้อได้เอง แล้วเราให้คำปรึกษา สังคมโปสเตอร์จะใหญ่ขึ้น แต่สุดท้ายร้านค้ายังพอมีทางไปอยู่ เพราะเราเชื่อว่า เราสามารถเข้าถึงของที่คนอื่นไม่สามารถหาได้ เป็นโปสเตอร์ที่หายาก ด้วยคอนเนคชั่น ประสบการณ์ การสื่อสารกับลูกค้า และแหล่งที่เราไปหาของ เป็นจุดที่เรายังแตกต่างจากการสั่งซื้อทั่วไป สุดท้ายถ้าแหล่งที่เค้าสั่งไม่มีใบที่ต้องการ เค้าอาจกลับมาซื้อกลับเราก็ได้

โปสเตอร์หนัง

5 อันดับ ราคาโปสเตอร์ใบไทยที่ซื้อขายในบ้านเรา (รวบรวมจากร้าน Red Light Poster และนักสะสมชื่อดัง tar.movieposter)

  1. Apocalyse Now 2 ใบต่อกัน (1979) วาดโดย อาจารย์ ทองดี ภานุมาศ ราคา 20,000-30,000 บาท
  2.  Jaws (1975) วาดโดย อาจารย์ บรรหาร ไทธนบูรณ์ ราคา 15,000-25,000 บาท
  3. Godfather ภาค 1 และ ภาค 2 (1972 – 1974) ภาค 1 ราคา 15,000-30,000 บาท ภาค 2 ราคา 25,000 -40,000 บาท
  4. MadMax (1979) วาดโดย อาจารย์ทองดี ภานุมาศ ราคา 15,000-30,000 บาท
  5. น้ำพุ (2527) วาดโดย อาจารย์ บรรหาร ไทธนบูรณ์ ราคา 5,000-8,000 บาท

โปสเตอร์หนัง

5 อันดับ ราคาโปสเตอร์ใบต่างประเทศที่ซื้อขายในบ้านเรา

  1. Lolita (1962) Stanley Kubrick ราคา 25,000-60,000 บาท
  2. Psycho (1960) Alfred Hitchcock ราคา 30,000 – 80,000 บาท
  3. Godfather l (1972) Francis Ford Coppola ราคา 15,000 -35,000 บาท
  4. The Think (1982) John Carpenter ราคา 15,000-50,000 บาท
  5. Pulp Fiction (1994) Quentin Tarantino ราคา 10,000-25,000 บาท

………….