เปิดรายชื่อผู้ประกาศลงชิงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย คุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร และดูว่าใครมีสิทธิลงคะแนนเสียง
วงการฟุตบอลไทยช่วงนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยคนใหม่ เมื่อ “พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” นายกสมาคมคนปัจจุบันกำลังจะหมดวาระลงในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2567 พร้อมประกาศวางมือ หลังจากดำรงตำแหน่งประมุขบอลไทยมานาน 2 วาระ เป็นเวลา 8 ปี แม้ระเบียบใหม่จะเปิดโอกาสให้นายกสมาคมอยู่ในตำแหน่งได้นานสุด 12 ปีก็ตาม
ก่อนหน้ามีผู้แสดงตนลงชิงตำแหน่งนายกสมาคม คือ “นายวรวีร์ มะกูดี” อดีตนายกสมาคม ตามด้วย “เดอะตุ๊ก-ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน” ตำนานกองหน้าทีมชาติไทย และ “พอลลีน-พาลินี งามพริ้ง” อดีตประธานชมรมเชียร์ไทย
ล่าสุด ข่าวใหญ่ไม่กี่วันที่ผ่านมา “มาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ” ประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟซี และผู้จัดการทีมชาติไทยก็ประกาศลงชิงตำแหน่งนายกสมาคม บนเวทีการแถลงข่าวที่ขนาบข้างด้วย 2 บิ๊กแห่งไทยลีกอย่าง “นายเนวิน ชิดชอบ” ประธานสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ด และ “นายปวิณ ภิรมย์ภักดี” ประธานสโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด
หลังจากที่มาดามแป้งประกาศตัวลงชิงตำแหน่งเพียง 1 วัน เดอะตุ๊ก-ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ที่ประกาศลงชิงประมุขบอลไทยมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมก็ประกาศถอนตัวทันที พร้อมให้เหตุผลว่า มาดามแป้งเป็นคนที่มีความพร้อมและคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดที่จะเข้ามาเป็นผู้นำ ด้วยประสบการณ์ 16 ปี บนเส้นทางลูกหนัง
“เมื่อมาดามแป้งยืนยันที่จะลงสมัครนายกสมาคม จึงขอถอนตัวออกไป เพื่อเปิดทางให้คนที่เหมาะสมกว่าเข้ามาทำหน้าที่” ปิยะพงษ์กล่าว
เท่ากับว่าตอนนี้มีผู้ประกาศลงชิงตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลไทยรวม 3 ราย ได้แก่ บังยี-วรวีร์ มะกูดี, พอลลีน งามพริ้ง และมาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ
มาดามแป้ง 16 ปีในวงการลูกหนัง
ส่วนหนึ่งในคำแถลงของมาดามแป้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา มาดามแป้งเป็นคนรักฟุตบอลและได้มีโอกาสเข้ามาร่วมทำงานกับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯตั้งแต่ปี 2551 จากการเชิญชวนของบังยี-วรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมในขณะนั้น ให้เข้ามาเป็นผู้จัดการฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย
เป็นเวลากว่า 12 ปีในการฝ่าฟันพาฟุตบอลหญิงไทยไปแข่งขันในทุกเวที ทั้งในระดับอาเซียน เอเชีย และระดับโลก ในฟุตบอลโลกปี 2558 ที่แคนาดา และฟุตบอลโลกปี 2562 ที่ฝรั่งเศส
ต่อมาในปี 2558 มาดามแป้งได้หันมาบริหารสโมสรฟุตบอลอาชีพ คือ ทีมการท่าเรือ เอฟซี เข้าร่วมการแข่งขันในไทยลีก ซึ่งปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 8
ในปี 2564 ยังได้รับเกียรติให้เป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทยชุดใหญ่ จากการแต่งตั้งของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ุม่วง นายกสมาคมคนปัจจุบัน โดยสามารถคว้าแชมป์อาเซียนได้ 2 ครั้ง คือ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020 และมิตซูบิชิ อิเล็กทริก คัพ 2022
คุณสมบัติผู้สมัคร ด่านใหญ่บังยี
วรวีร์ มะกูดี เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯมาแล้วระหว่างปี 2550-2558 ก่อนที่ พล.ต.อ.สมยศจะคว้าเก้าอี้มาครอง การเลือกตั้งครั้งนี้ด่านใหญ่ของบังยี คือ “คุณสมบัติผู้สมัคร”
ข้อบังคับสมาคมบอลไทยฯ เรื่องคุณสมบัติสภากรรมการ (นายกสมาคม เป็นหนึ่งในสภากรรมการ) ข้อที่ 37.3.10 ระบุว่า ต้องไม่เคยถูกสมาคมฟ้องร้อง ไม่ว่าในฐานความผิดใด และไม่ว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือไม่ก็ตาม และข้อ 37.3.11 ระบุว่า ต้องไม่เคยถูกคำสั่งลงโทษห้ามยุ่งเกี่ยวกับวงการฟุตบอลจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า), สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) หรือสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน (เอเอฟเอฟ)
บังยีเคยถูกฟีฟ่าลงโทษห้ามยุ่งเกี่ยวกับวงการฟุตบอล 5 ปี จากการละเมิดข้อบังคับของฟีฟ่า ในการปลอมแปลงเอกสารในการแก้ไขข้อบังคับของสมาคมฟุตบอลฯ ตั้งแต่ปี 2559 แต่ปัจจุบันคดีที่ถูกฟ้องร้องทั้งหมดตัดสินไปแล้ว และอดีตประมุขบอลไทยรายนี้ชนะทุกคดี เจ้าตัวกล่าวว่า ในเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วตนชนะคดี จึงไม่มีความผิด
ดังนั้น คุณสมบัติของผู้สมัครที่ต้องไม่เคยถูกสมาคมฟ้องร้อง หรือต้องไม่เคยถูกแบนจากฟีฟ่า, เอเอฟซี และเอเอฟเอฟนั้น นายวรวีร์จะยื่นร้องต่อศาลให้คุ้มครอง เพื่อลงสมัครชิงเก้าอี้นายกสมาคมต่อไป
อย่างไรก็ตาม ข้อบังคับเรื่องคุณสมบัติดังกล่าว เคยทำให้นายวรวีร์ถูกสำนักเลขาธิการสมาคม ตัดสิทธิการลงชิงตำแหน่งนายกสมาคมมาแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563
อุปสรรคยังไม่หมดเท่านั้น ปัจจุบันบังยีอายุ 72 ปีแล้ว ซึ่งข้อบังคับกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครลงชิงนายกสมาคม ระบุไว้ว่า ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 70 ปี ซึ่งอดีตประมุขสมาคมลูกหนังไม่เห็นด้วยและเห็นว่ากฎนี้ไม่เป็นสากล จึงจะนำเรื่องนี้ไปอ้างกับศาลให้คุ้มครองด้วยเช่นกัน
พอลลีน งามพริ้ง เดินหน้าต่อ
สำหรับ พอลลีน งามพริ้ง อดีตประธานชมรมเชียร์ไทย ประกาศพร้อมสู้ศึกในครั้งนี้ต่อ และแสดงความคิดเห็นว่า รู้สึกเสียดายกับการถอนตัวของเดอะตุ๊ก เพราะถ้าเป็นทัศนคติด้านการแข่งขันเชิงกีฬา ก็ควรจะยืนหยัดในจุดยืนที่แตกต่าง และพยายามสู้แม้ว่าจะเสียเปรียบ แต่อย่างไรก็เคารพการตัดสินใจของเดอะตุ๊ก
พอลลีนยังคงเดินหน้าต่อ พร้อมเสนอแนวความคิดให้สโมสรเรียนรู้วิธีขยายฐานแฟนบอลใหม่และเกิด Sustainability ให้กับวงการอย่างฟุตบอลไทย
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการพัฒนาสโมสรเล็ก ๆ ให้อยู่รอดในเชิงธุรกิจอย่างยั่งยืน และที่สำคัญคือการพัฒนาองคาพยพของฟุตบอลอย่างครบถ้วนทุกมิติ
โดยพอลลีนได้ประกาศนโยบายภายใต้แนวความคิด Football Transformation ออกมา 7 ข้อ ดังนี้
- ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อนทุกประการ มีความรัก และความรู้ฟุตบอลในทุกมิติ
- เพิ่มรายได้ จัดหา และดูแลผลประโยชน์ และการตัดสินให้กับทุกสโมสรอย่างเท่าเทียม ไม่มีขั้วอำนาจ
- มีความคิดสร้างสรรค์ ขยายตลาด กลุ่มผู้ชม และผู้สนับสนุนฟุตบอลให้กว้างขวางกว่าเดิม
- ฟุตบอล 360 องศา สร้างสรรค์เกมฟุตบอลให้ตื่นตาตื่นใจ และมีผลสำเร็จด้านความเป็นเลิศ
- ร่วมมือรัฐบาลพัฒนาเยาวชน ผ่านกลไกสโมสร เพิ่มจำนวนนักฟุตบอลเยาวชน สู่อาชีพให้มากกว่าที่เป็นอยู่
- ช่วยสโมสรพัฒนาช่องทางสื่อสารการตลาดแบบออนไลน์
- พัฒนาสนามและสาธารณูปการที่เกี่ยวกับฟุตบอลให้ได้มาตรฐาน พร้อมใช้อยู่ตลอดเวลา ขอสิทธิประโยชน์ส่งเสริมจากภาครัฐ
คุณสมบัติของผู้สมัครและลักษณะต้องห้าม
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ ในวันเลือกตั้ง
- ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ในกีฬาฟุตบอลอย่างแท้จริง
- ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
- ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
- ไม่เคยได้รับโทษในคดีอาญา โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
- ไม่เคยถูกนายทะเบียนสั่งให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการสมาคม ตามมาตรา 86 (4) แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย เว้นแต่จะพ้นกำหนด 5 ปีนับแต่วันที่ถูกสั่งให้พ้นจาก ตำแหน่ง
- ต้องไม่เคยเป็นผู้กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาคม
- ต้องไม่เคยกระทำการหรืองดเว้นกระทำการในการปฏิบัติหน้าที่ จนทำให้เสื่อมเสีย ประโยชน์ของสมาคม
- ต้องไม่เคยกระทําการทุจริตต่อสมาคม
- ต้องไม่เคยถูกสมาคมฟ้องร้อง ไม่ว่าในฐานความผิดใด และไม่ว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วหรือไม่ก็ตาม
- ต้องไม่เคยถูกคำสั่งลงโทษห้ามยุ่งเกี่ยวกับวงการกีฬาฟุตบอลจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย หรือสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน
ใครเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลฯ
หลายคนคงสงสัยว่า ใครเป็นผู้มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ตามข้อบังคับของสมาคม ข้อที่ 26 ระบุว่า ตัวแทนผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ ประกอบไปด้วยตัวแทนจากสมาชิกต่าง ๆ ดังนี้
- สโมสรที่เข้าร่วมการแข่งขันในลีกสูงสุด สโมสรผู้มีสิทธิออกเสียง 1 ราย ออกเสียงได้ 1 เสียง (ทีมจากไทยลีก 1 จำนวน 16 ทีม)
- สโมสรที่เข้าร่วมการแข่งขันในลีกอันดับที่สอง สโมสรผู้มีสิทธิออกเสียง 1 ราย ออกเสียงได้ 1 เสียง (ทีมจากไทยลีก 2 จำนวน 18 ทีม)
- สโมสรที่มีคะแนนการแข่งขันอันดับที่ 1-5 ในแต่ละโซนของลีกอันดับที่สาม สโมสรผู้มีสิทธิออกเสียง 1 ราย ออกเสียงได้ 1 เสียง (ทีมอันดับ 1-5 จากไทยลีก 3 แต่ละโซน จำนวน 30 ทีม)
- สโมสรชนะเลิศในลีกสมัครเล่น สโมสรผู้มีสิทธิออกเสียง 1 ราย ออกเสียงได้ 1 เสียง (ทีมที่ชนะเลิศในลีกสมัครเล่น 1 ทีม)
- สโมสรชนะเลิศและรองชนะเลิศของลีกสูงสุดกีฬาฟุตซอลชาย สโมสรผู้มีสิทธิออกเสียง 1 ราย ออกเสียงได้ 1 เสียง (ทีมชนะเลิศและอันดับ 2 ในฟุตซอลไทยลีก จำนวน 2 ทีม)
- สโมสรชนะเลิศและรองชนะเลิศของลีกสูงสุดกีฬาฟุตบอลลีกหญิง สโมสรผู้มีสิทธิออกเสียง 1 ราย ออกเสียงได้ 1 เสียง (ทีมชนะเลิศและอันดับ 2 ในฟุตบอลลีกหญิง จำนวน 2 ทีม)
- สำหรับทีมชนะเลิศของลีกสูงสุดกีฬาฟุตซอลหญิง สโมสรผู้มีสิทธิออกเสียง 1 ราย ออก เสียงได้ 1 เสียง (ทีมที่ชนะเลิศในฟุตซอลลีกหญิง 1 ทีม)
- สำหรับทีมชนะเลิศของลีกสูงสุดกีฬาฟุตบอลชายหาด สโมสรผู้มีสิทธิออกเสียง 1 ราย ออกเสียงได้ 1 เสียง (ทีมที่ชนะเลิศฟุตบอลชายหาด 1 ทีม)
- สมาคมนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ ที่สมาคมและสหพันธ์สมาคมนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ (FIFPro) รับรองแล้ว มีสิทธิออกเสียงได้ 1 เสียง (สมาคมนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ 1 เสียง)
ดังนั้นผู้มีสิทธิเลือกนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯจะมีทั้งสิ้น 72 เสียง