รู้จักจิตวิทยาการกีฬา ช่วยลดอาการหัวร้อน หลังเหตุนักบอลฟันศอก

ภาพจาก unsplash

ทำความเข้าใจหลักจิตวิทยาการกีฬา หลังเกิดเหตุนักบอลฟันศอกคู่แข่งเจ็บยับ เปิด 3 เคล็ดลับลดอาการคาดหวัง บรรเทาความเครียดของนักกีฬา 

วันที่ 14 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเหตุการณ์ที่นายอิศเรศ น้อยใจบุญ นักฟุตบอลสโมสรบางกอกเอฟซี ฟันศอกใส่นายศุภสัณฑ์ เรืองศุภนิมิตร นักฟุตบอลสโมสร ม.นอร์​ท​กรุงเทพ ระหว่างการแข่งขันไทยลีก 3 มังกรฟ้า ลีก รอบแชมเปียนส์ลีก 2021/22 เมื่อช่วงเย็นวานนี้

ผลพวงจากการโชว์แม่ไม้มวยไทยผิดที่ ทำให้นักเตะค่ายบางกอกเอฟซีต้องโพสต์ข้อความขอโทษผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว แต่ก็ถูกค่ายลงดาบยกเลิกสัญญาทันที และกำลังจะถูกคู่กรณีแจ้งความซ้ำอีกต่างหาก

ภาพจากข่าวสด

แน่นอนว่า กรณีนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของการคุมอารมณ์ไม่อยู่ของนักเตะที่นำมาสู่การทำร้ายร่างกายคู่แข่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ข่าวสดรายงานว่า  ในศึกฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี รอบคัดเลือก กลุ่มเค ระหว่างทีมชาติไทยและเวียดนาม โดยผลการแข่งขันในวันนั้นไทยพ่ายเวียดนามยับ 4-0

ซึ่งโมเมนต์สำคัญในวันนั้นคือการที่นายศุภชัย ใจเด็ด ศูนย์หน้าตัวเก่งของทัพช้างศึก ที่ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่จงใจชกนักเตะเจ้าถิ่น จนถูกผู้ตัดสินแจกใบแดงไล่ออกจากสนาม ในนาทีที่ 57 ภายหลังเจ้าตัวต้องออกมาขอโทษถึงการกระทำดังกล่าว

จังหวะที่ ศุภชัย ใจเด็ด ต่อยนักเตะของเวียดนามระหว่างการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์เอเชีย ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Comment – คอมเมนต์แฟนกีฬาต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม หากมองกันแบบกว้าง ๆ ในวงการกีฬาก็มีหลายครั้งที่อาจจะทำให้นักกีฬานอตหลุดได้ ปัจจุบันจึงมีการนำหลักการ “จิตวิทยาการกีฬา (Sports Psychology)” มาผสมผสานกับการฝึกซ้อมด้านร่างกายไปด้วย “ประชาชาติธุรกิจ” พาไปรู้จักศาสตร์นี้กัน

ไทยเอามาใช้ปี 2534

จากบทความจิตวิทยาการกีฬา (Sports Psychology) โดย ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ย้อนความถึงการนำหลักการนี้มาใช้ว่า เริ่มนำมาใช้อย่างจริงจังครั้งแรกปี 2534 ซึ่งนักกีฬายิงธนู เป็นชนิดกีฬาแรกที่ได้นำศาสตร์นี้มาประยุกต์ใช้ เทคนิคแรก ๆ ที่ใช้ก่อนคือ การผ่อนคลายความตึงเครียดเพื่อสมรรถภาพสูงสุดของการเล่นกีฬายิงธนู (relaxation)

ต่อมาเมื่อมีบุคลากรทางด้านนี้มากขึ้น ก็เริ่มไปประยุกต์ใช้กับประเภทชนิดกีฬาอื่น ๆ มากขึ้น เช่น  ว่ายน้ำ เทนนิส เป็นต้น แต่ในช่วงแรก ๆ ก็มีการต่อต้านพอสมควรเพราะค่านิยมในยุคนั้นที่มองว่า การพบนักจิตวิทยาก็เหมือนว่าจะเป็นโรคจิตหรือเปล่า มีปัญหาทางจิตหรือไม่ ทําให้นักกีฬาในช่วงแรก ๆ ไม่อยากจะให้ความร่วมมือ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังนักกีฬาเริ่มยอมรับศาสตร์นี้มากขึ้น เพราะมีการพูดคุยและทำความเข้าใจมากขึ้น โดยมีกรณีตัวอย่างของพันตรีหญิง ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล นักยกน้ำหนักที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกปี 2551 ที่ประเทศจีน ซึ่งในช่วงของการแข่งขันมีความเครียดสะสมตลอดเวลา เพราะแบกความหวังของคนใน
ประเทศ ระหว่างแข่ง ก็เครียด หลังได้รับเหรียญ ก็ยังเครียดที่ไม่สามารถกลับมาบ้านทันที รวมทั้งตอนบินมากรุงเทพฯ เพื่อมารับรางวัลนักกีฬายอดเยี่ยมด้วย

ซึ่งตอนนั้น นักกีฬามีความรู้สึกแค่อยากคุย อยากระบาย โค้ชก็อยากช่วยเหลือ แต่ไม่รู้จะทําอย่างไร เพราะไม่มีพื้นฐานทางจิตวิทยาการรับฟังและการให้การแนะนําช่วยเหลือมาก่อน แต่ความรู้สึกนักกีฬายังมีความต้องการอยากจะให้มีคนรับรู้ถึงปัญหาของตน อยากให้รับรู้ถึงว่าเขาคิดอะไร อยากให้รับรู้เขาอยากจะทําอะไร

แต่ขณะเดียวกันคนที่จะแนะนําตรงนั้น แนะนําไปแล้ว จะไปในทางที่กระตุ้นให้เขาดีขึ้น หรือแนะนําไปแล้วยิ่งทําให้แย่ลงหรือเปล่า อันนี้ถ้าคนไม่มีความรู้ก็อาจเกิดปัญหาได้

จัดการความคาดหวัง ลดอารมณ์ได้

ดังนั้น การจัดการอารมณ์ของนักกีฬาจึงมีความสำคัญมาก บทความ  อารมณ์กับการเล่นกีฬา โดย ผศ.ดร.นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา ระบุว่า ส่วนใหญ่แล้วอารมณ์ของนักกีฬา ที่ออกมาในทางลบมักมีสาเหตุจากความผิดหวังจากสิ่งที่คาดหวังไว้

ยิ่งคาดหวังมาก ความผิดหวังที่เกิดขึ้น จะนำไปสู่อารมณ์ที่รุนแรงและอารมณ์ที่เป็นลบมากขึ้น ผลการแข่งขันก็ยิ่งแย่มากตามไปด้วย ดังนั้นการควบคุมต้นเหตุของอารมณ์ในทางลบ อารมณ์หงุดหงิด คือการปรับความคาดหวังที่อยู่ในระดับที่เหมาะสมจึงจะช่วยได้

ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ความคาดหวังจึงเป็นเสมือนการแก้ปัญหาที่ต้นตอ ซึ่งถ้าทำได้ก็แสดงว่าเราสามารถจัดการกับอารมณ์ได้อย่างดี และเหมาะสม ความคาดหวังควรมีอย่างมีเหตุผล โดยปกติถ้าคาดหวังสูงเกินไป หรือต่ำเกินไป ความอยากที่จะทำกิจกรรมก็จะไม่เหมาะสม หรือเกินเลยความเป็นจริง ดังนั้น ความผิดหวังจากการไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ก็จะนำไปสู่อารมณ์ที่มีผลเสียต่อการเล่นกีฬา

สำหรับการจัดการอารมณ์ของนักกีฬา ในบทความมีข้อแนะนำ 3 ข้อประกอบด้วย

  1. หาสาเหตุของการทำให้เสียอารมณ์ว่าเกิดจากอะไร
  2. กำหนดเป้าหมายตามความเป็นจริง
  3. ให้ความสำคัญกับกระบวนการเล่นมากกว่าผลการเล่น

ดังนั้น การควบคุมอารมณ์ในการเล่นโดยการกำหนดเป้าหมายหรือความคาดหวังไว้อย่างเหมาะสม อย่างเป็นเหตุเป็นผลตามระดับความสามารถของการตัดต้นเหตุของการทำให้เกิดอารมณ์ที่ไม่ดี และการให้ความสำคัญที่วิธีการเล่นมากกว่าผลการเล่น โดยให้เวลาของการเล่นหมดไปกับวิธีการเล่นหรือขั้นตอนการเล่น จะช่วยลดความคาดหวังผลการเล่นให้ลดลง และอาจจะทำให้อาการหัวร้อนของผู้ลงเล่นลดลงได้ ไม่มากก็น้อย