นกแอร์สปีดรายได้ปิดตัวแดง กางแผน 5 ปีรับการเติบโตล้างขาดทุนสะสม

“นกแอร์” กางแผนกลยุทธ์เพิ่มรายได้-ลดต้นทุน ตั้งเป้ายุติภาวะขาดทุนได้ภายในปีนี้ ประกาศบุกเพิ่มสัดส่วนรายได้เส้นทางต่างประเทศเป็น 40% มุ่งโฟกัสตลาด “จีน-อินเดีย” พร้อมทำแผน 5 ปี หวังล้างขาดทุนสะสม-รองรับการขยายธุรกิจในอนาคต หลังมีแผนรับมอบเครื่องบินใหม่ 8 ลำ ในช่วงปี”62-64

 

นายปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนธุรกิจของสายการบินนกแอร์ในปีนี้ว่า บริษัทได้ตั้งเป้ามีรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3 พันล้านบาท จากรายได้ปี 2560 ซึ่งปิดไปที่ 1.4 หมื่นล้านบาท พร้อมคาดว่าบริษัทจะยุติภาวะการขาดทุนให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ด้วย

โดยมีประมาณการจำนวนผู้โดยสารปีนี้อยู่ที่ 9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4% จากจำนวนผู้โดยสาร 8 ล้านคนในปีที่แล้ว และมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (เคบินแฟกเตอร์) เฉลี่ยคาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 92% เพิ่มจาก 86% ของปีที่แล้วเพิ่มอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำ

นายปิยะกล่าวด้วยว่า ปีนี้นกแอร์ไม่ได้ขยายฝูงบินเพิ่มเนื่องจากบริษัทต้องการเพิ่มประสิทธิภาพอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำในปีนี้ให้เพิ่มขึ้นเป็นลำละ 12 ชั่วโมงต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 10.4 ชั่วโมงต่อวัน ด้วยการนำเครื่องบินไปทำการบินช่วงกลางคืนมากขึ้น พร้อมทั้งขยายตลาดต่างประเทศ ในเส้นทางที่ต้องบินไกลขึ้น เช่น จีน หากเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จะช่วยเพิ่มรายได้ของสายการบินได้อย่างมากในปีนี้

นอกจากนี้ยังตั้งเป้าลดต้นทุนค่าใช้จ่ายปีนี้ลง 20% ของค่าใช้จ่ายรวม โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาคือ เรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งคาดว่าปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ประเมินว่าทิศทางค่าเงินบาทหากแข็งกว่าระดับ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐก็คงไม่ไหว โดยคาดว่าอาจจะอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ระดับเกือบ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ผนึกพันธมิตรรอบทิศ

สำหรับแผนกลยุทธ์อื่น ๆ นั้นนายปิยะกล่าวว่า จะมีการสร้างเครือข่ายเส้นทางที่แข็งแกร่งของสายการบินนกแอร์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่สำคัญของสายการบิน 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ กลุ่มไทยกรุ๊ป (THAI Group) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสายการบินไทย สายการบินไทยสมายล์ และสายการบินนกแอร์

“ที่ผ่านมาเราได้ร่วมมือกันในด้านของการจองเที่ยวบินในเส้นทางดอนเมือง-แม่ฮ่องสอน ที่นกแอร์จะเป็นผู้ทำการบิน ซึ่งผู้โดยสารจะสามารถจองบัตรโดยสารได้จากเว็บไซต์ของทั้ง 3 สายการบิน”

รวมทั้งพันธมิตรในกลุ่มแวลู อัลไลแอนซ์ (Value Alliance) ซึ่งทำให้สายการบินนกแอร์สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง และหากมองในแง่ดี สายการบินยังคงมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามแผนการที่ได้วางไว้ แม้ว่าจะอยู่ในสภาวะที่มีการแข่งขันสูงก็ตาม

เล็งขยายสู่ “อินเดีย-จีน”

“ระหว่างนี้นกแอร์อยู่ระหว่างการพิจารณาเปิดเส้นทางบินใหม่ไปยังประเทศอินเดียในเดือนมิถุนายนนี้ด้วย โดยในช่วงเริ่มต้นนี้มีแผนเปิดเส้นทางบินใหม่ไป 3 เมืองในอินเดีย ขณะเดียวกันยังคงมุ่งเน้นการทำตลาดไปที่ประเทศจีน โดยอาจจะมีการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินในเส้นทางที่มีอยู่ หรือแม้แต่การเพิ่มเส้นทางใหม่ ๆ ให้มากขึ้น” นายปิยะกล่าว

และว่า โดยปี 2561 นี้สายการบินนกแอร์ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศเป็น 40% จาก 20% ในปีที่ผ่านมา และมีรายได้จากการให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศเป็น 60% จาก 80% ในปี 2560 ที่ผ่านมานายปิยะกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับด้านส่วนแบ่งตลาดเส้นทางบินในประเทศ ณ สิ้นปี 2560 นกแอร์สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 20% มากเป็นอันดับ 2 รองจากสายการบินไทยแอร์เอเชีย จากการให้บริการเส้นทางภายในประเทศของนกแอร์ทั้งหมด 24 เส้นทาง

ทำแผน 5 ปีล้างขาดทุนสะสม

ทั้งนี้ คาดว่าปีนี้ทุกสายการบินจะเน้นรักษาฐานตลาดของตัวเองเอาไว้มากกว่าเน้นเรื่องการแข่งขันด้านราคา ขณะที่ภาพรวมตลาดการบินในปี 2561 คาดว่าน่าจะดีขึ้น เพราะรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการเดินทางภายในประเทศ กระแสการเดินทางเพื่อทำธุรกิจถือว่าดำเนินไปอย่างแข็งขัน และประเทศไทยเองยังเป็นจุดหมายที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

“ตอนนี้นกแอร์อยู่ระหว่างการทำแผนกลยุทธ์ระยะยาว 5 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2565 ในการล้างขาดทุนสะสม โดยปีนี้จะเป็นปีที่นกแอร์ต้องเตรียมความพร้อม ด้วยการวางเป้าหมายหยุดขาดทุนให้ได้ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจต่อไป โดยในช่วงปี 2562-2564 นกแอร์มีแผนรับมอบเครื่องบินใหม่ โบอิ้ง 737-MAX รวม 8 ลำ แบ่งเป็นรับมอบปีละ 2 ลำ, 2 ลำ และ 4 ลำตามลำดับ” นายปิยะกล่าว

รายได้ปี”60 เติบโต 11%

นายปิยะกล่าวเพิ่มเติมถึงผลประกอบการในปี 2560 ที่ผ่านมาด้วยว่า บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ส่งสัญญาณให้เห็นถึงการฟื้นตัวและการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะอยู่ในภาวะที่มีการแข่งขันสูงก็ตาม โดยปีที่แล้วนกแอร์มีรายได้เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยได้มีการเปิดให้บริการเส้นทางใหม่แบบเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) ไปยังประเทศจีน รวมทั้งสิ้น 19 เส้นทาง

และมีการเพิ่มศักยภาพของสายการบินด้วยการรับเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-800 ลำใหม่ จำนวน 2 ลำเข้าสู่ฝูงบิน ซึ่งทำให้จำนวนเครื่องบินของนกแอร์มีจำนวนทั้งสิ้น 30 ลำ ประกอบไปด้วยเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-800 จำนวน 20 ลำ เครื่องบินบอมบาร์ดิเอร์ รุ่น Q400 จำนวน 8 ลำ และเครื่องบินแบบเอทีอาร์รุ่น 72-500 จำนวน 2 ลำ

ด้านผลการดำเนินงานอื่น ๆ นกแอร์ได้เปิดตัวบริการ “นกเลือกได้” ซึ่งเป็นบริการจองตั๋วโดยสารรูปแบบใหม่ การนำเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-800 บางส่วนออกจากฝูงบิน การขยายฐาน

การบินใหม่ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา การเปิดให้บริการเส้นทางบินตรงแม่สอด-ย่างกุ้ง ทำให้ปัจจุบันมีเส้นทางบินระหว่างประเทศแบบเที่ยวบินประจำ 2 เส้นทาง (รวมเส้นทางกรุงเทพฯ-โฮจิมินห์) และการประกาศแผนการเปิดบริการเส้นทางบินใหม่ อุดรธานี-อุบลราชธานี ซึ่งได้เปิดให้บริการไปแล้วเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา