AAV เผยผลประกอบการปี 2565 ขาดทุนทะลุ 8 พันล้าน

ไทยแอร์เอเชีย

AAV ฟื้นแล้ว! เผยผลประกอบการปี’65 รายได้ฟื้นแตะ 1.8 หมื่นล้าน จากปีก่อนไม่ถึง 5 พันล้าน ขนส่งผู้โดยสารเกือบ 10 ล้านคน แต่ยังขาดทุนทะลุ 8 พันล้าน

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ผู้ถือหุ้นทั้งหมดใน บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด หรือ TAA ประกาศผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2565 มีรายได้รวม 12,498.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 481 เทียบกับปีก่อน (YOY) และร้อยละ 155 เทียบกับไตรมาสก่อน (QOQ)

โดยบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 3,712.0 ล้านบาท จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าในระหว่างไตรมาส ทำให้มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,114.4 ล้านบาท หากไม่รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ จะทำให้มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (“EBITDA”) อยู่ที่ 1,628.9 ล้านบาท กลับมาเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 11 ไตรมาส สะท้อนการฟื้นตัวต่อเนื่องของธุรกิจ

สายการบินได้กลับมาให้บริการเส้นทางภายในประเทศด้วยปริมาณที่นั่ง (Capacity) ร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 ในขณะที่เส้นทางระหว่างประเทศกลับมาร้อยละ 49 (หรือร้อยละ 69 หากไม่รวมประเทศจีน) อัตราขนส่งผู้โดยสารแข็งแกร่งอยู่ที่ร้อยละ 90 สูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2562 พร้อมนำเครื่องบินมาปฏิบัติการบิน 42 ลำ จากฝูงบินสุทธิทั้งหมด 54 ลำ ณ สิ้นปี

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผลประกอบการตลอดปี 2565 บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น มีรายได้รวม 18,290.8 ล้านบาท โดยมีค่าใช้จ่ายรวม 26,766.4 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและตราสารอนุพันธ์จำนวน (1,460.0) ล้านบาท ทำให้รายงานผลขาดทุนสุทธิ (8,214.4) ล้านบาท

ผลประกอบการปี 2565 ดีขึ้นกว่าปีก่อนที่มีผลขาดทุน (11,958.0) ล้านบาท บรรลุเป้าหมายขนส่งผู้โดยสารตลอดปีรวม 9.95 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขนส่งผู้โดยสารเพียง 2.93 ล้านคน มีอัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 84

งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ AAV ปี 2565

ในขณะที่สถิติความตรงต่อเวลาสูงกว่าร้อยละ 92 ถือเป็นสายการบินที่ตรงต่อเวลาสูงสุดในประเทศไทย การันตีจาก 2 สถาบัน โดยติดอันดับ 4 สายการบินที่ตรงต่อเวลาที่สุดในโลก จัดอันดับโดย OAG และติดอันดับ 3 สายการบินราคาประหยัดที่ตรงเวลาที่สุดในโลก จัดอันดับโดย Cirium

นอกจากนี้ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ยังเน้นเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืน ชูแผนปฏิบัติการบินสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปีที่ผ่านมามากกว่า 7,000 ตัน หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นโกงกางใบใหญ่กว่า 514,000 ต้น รวมทั้งร่วมโครงการวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ สำหรับการจัดการขยะไม่อันตราย ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2565 สะท้อนการฟื้นตัวที่ชัดเจนของธุรกิจ โดยเฉพาะการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพทำให้ EBITDA กลับมาเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 11 ไตรมาส นับตั้งเเต่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จากแนวโน้มการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นตลอดทั้งปี

โดยเฉพาะในครึ่งปีหลังของปี 2565 ที่ตลาดภายในประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยสายการบินได้ทำงานร่วมกับภาครัฐเเละการท่องเที่ยวเเห่งประเทศไทยอย่างเต็มที่ และเปิดรับโอกาสสำหรับตลาดเส้นทางระหว่างประเทศที่ไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบตั้งเเต่ 1 ตุลาคม 2565 สอดคล้องกับประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคที่ผ่อนคลายข้อกำหนดการเดินทาง

“เราผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดมาเเล้ว ทั้งสถานการณ์โรคระบาด ภาวะราคาน้ำมันที่พุ่งสูงในรอบทศวรรษจากสถานการณ์สงคราม และค่าเงินทั่วโลกที่ผันผวนตลอดทั้งปี โดยในปี 2566 เชื่อมั่นว่าจะเป็นปีที่ดีกว่าปี 2565 โดยเฉพาะจากการที่จีนเปิดประเทศตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่ง ณ สิ้นเดือนมีนาคมนี้” นายสันติสุขกล่าว

สถิติการดำเนินงานของไทยแอร์เอเชีย

ไทยแอร์เอเชียเปิดตัวเส้นทางบินจีนที่จะกลับมาให้บริการแล้วจำนวน 7 เส้นทาง โดยทำการบินสู่กว่างโจว ฉงชิ่ง เสิ่นเจิน คุนหมิง หางโจว นานจิง ฉางซา คิดเป็นกว่า 40 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ พร้อมเเผนเปิดเส้นทางเมืองอื่น ๆ เเละเพิ่มความถี่เที่ยวบินต่อเนื่องตลอดทั้งปี ภารกิจสำคัญของปีนี้คือการกลับไปสู่หรือใกล้เคียงระดับที่เราเคยทำได้ก่อนโควิด-19 ทั้งในแง่จำนวนผู้โดยสารและการบริหารต้นทุน พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายในการเร่งกลับมาทำกำไรและสร้างกระแสเงินสดให้ได้อย่างต่อเนื่อง

นายสันติสุขกล่าวว่า สำหรับปี 2566 ไทยแอร์เอเชีย ตั้งเป้าขนส่งผู้โดยสารที่ 20 ล้านคน จากแรงหนุนเศรษฐกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ เเละตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมา ในขณะที่ตลาดอาเซียนและเอเชียใต้ยังคงมีแนวโน้มที่ดีขึ้น นอกจากนี้สายการบินยังวางแผนขยายเครือข่ายบินในเส้นทางใหม่ ๆ เช่น จาการ์ตา (อินโดนีเซีย) กาฐมาณฑุ (เนปาล) มะนิลา (ฟิลิปปินส์) และโคลัมโบ (ศรีลังกา)

โดยสายการบินจะยังรักษาฝูงบินจำนวนมากที่สุดในตลาดไว้ที่ 53 ลำ สายการบินพร้อมนำเครื่องบินทุกลำมาปฏิบัติการบินเเละเพิ่มชั่วโมงการปฏิบัติการบินไม่ต่ำกว่า 12.5 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแก่ผู้โดยสารมากขึ้น