รุจ ธรรมมงคล ขับเคลื่อน “กงสุล” สู่ e-Consular

รุจ ธรรมมงคล
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

กว่า 20 ปีที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ก่อตั้งและพัฒนารูปแบบการให้บริการให้มีความก้าวหน้าสอดรับกับบริบทใหม่ของโลก โดยคนไทยที่ประสงค์จะเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะไปท่องเที่ยวหรือวัตถุประสงค์อื่น หรือคนไทยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศทุกคนต้องคุ้นเคยกับงานบริการของ “กรมการกงสุล” ทั้งสิ้น

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “รุจ ธรรมมงคล” อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ถึงการบริหารจัดการ การออกแบบงานกงสุล และการพัฒนาเครื่องมือเพื่อให้ตอบสนองความต้องการและดูแลคนไทยในทุกมิติ และเกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลคนไทยในต่างประเทศ ไว้ดังนี้

มุ่งสู่ “e-Consular”

“รุจ” บอกว่า เป้าหมายในการทำงานของกรมการกงสุล คือ การนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาพัฒนา และยกระดับการให้บริการในทุกยูนิตให้เป็นระบบออนไลน์ หรือ “e-Consular” ทั้งหมด พร้อมทั้งบริหารจัดการและออกแบบงานกงสุลให้ตอบสนองความต้องการของคนไทยในทุกมิติ และเกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลคนไทยในต่างประเทศ

โดยให้ข้อมูลว่า กรมการกงสุล มีหน้าที่หลักใน 4 ส่วนหลัก ได้แก่ กองหนังสือเดินทาง กองตรวจลงตราและเอกสารเดินทางสำหรับคนต่างด้าว กองสัญชาติและนิติกรณ์ และกองคุ้มครองคนไทยในต่างประเทศ ปัจจุบันทุกกองงานของกรมการกงสุลได้นำเอาดิจิทัลเทคโนโลยีมาปรับใช้และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการเป็นหลัก

ยกระดับพาสปอร์ต

“รุจ” ให้ข้อมูลว่า ในส่วนของกองหนังสือเดินทาง กรมการกงสุล ได้นำเอาเรื่องของดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงและพัฒนาระบบหนังสือเดินทางอย่างต่อเนื่อง จากระบบที่เป็นพาสปอร์ตธรรมดา ใช้ฟิล์มปิดหน้ารูป มีนายหน้าให้บริการต่อคิวยาวเหยีด จนถึงเฟส 2 มีระบบจองคิวออนไลน์ เริ่มมีชิปอยู่ใต้หนังสือเดินทาง ภาพถ่ายมีความคมชัดมากขึ้น รอรับเล่มได้ประมาณ 7 วัน

ปัจจุบันถือเป็นเฟส 3 ซึ่งได้เริ่มปรับมาตั้งแต่ปี 2564 คือให้บริการที่เป็น e-Passport ผู้ประสงค์ทำพาสปอร์ตใช้หลักฐานแค่บัตรประชาชนใบเดียว เมื่อเสียบบัตรประชาชนเข้าไป ข้อมูลทั้งหมดของกระทรวงมหาดไทยจะรายงานทันที รูปถ่ายจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น รูปเล่มใช้กระดาษนำเข้า ทนกับการฉีกขาด ตรงรูปภาพจะเป็นโฮโลแกรมหลายจุด

และมีชิปบันทึกข้อมูลของผู้มายื่นหนังสือเดินทางอยู่ด้านล่าง และทุกหน้าจะมีสัญลักษณ์ของสถานที่สำคัญของไทย และผลิตเล่มออกมาได้ภายใน 3-4 วัน

เรียกว่าในเฟส 3 นี้สามารถแก้ปัญหาหนังสือเดินทางปลอมได้ 100% รอรับเล่มได้ภายใน 3-4 วัน

นอกจากนี้ ยังได้แนะนำเครื่องคีออสก์เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถทำพาสปอร์ตด้วยตัวเอง ตั้งแต่กระบวนการเสียบบัตรประชาชนยืนยันตัวตน ถ่ายรูปเอง เลือกรูปได้ตามใจชอบ ยืนยันเรื่องการจัดส่ง และสุดท้ายคือจ่ายเงินด้วยกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือ e-Wallet ของธนาคารกรุงไทย หนังสือเดินทางจะส่งไปให้ที่บ้านภายใน 4 วันเช่นกัน

กราฟฟิก DC e-Service

จ่อใช้ “ดิจิทัลพาสปอร์ต”

และในอนาคต กองหนังสือเดินทาง มีแผนพัฒนาเข้าสู่เฟส 4 คือ พัฒนาสู่การเป็น “ดิจิทัลพาสปอร์ต” คาดว่าน่าจะเริ่มดำเนินการได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือประมาณปี 2569 ซึ่งปัจจุบันยังไม่ชัดเจนว่ารูปแบบของดิจิทัลพาสปอร์ตจะเป็นแอปพลิเคชั่นบนมือถือ หรือจะเป็นเหมือนบัตรประชาชน (ID) ไม่มีเล่ม ข้อมูลทุกอย่างจะเชื่อมโยงกันผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถแชร์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

“รุจ” บอกว่า สำหรับหลักเกณฑ์ของ “ดิจิทัลพาสปอร์ต” นั้น องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO : International Civil Aviation Organization จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และรูปแบบ ซึ่งปัจจุบันมีบางประเทศได้ทดลองใช้แล้ว เช่น โครเอเชีย ฟินแลนด์

โดยผู้เดินทางด้วยดิจิทัลพาสปอร์ต จะต้องพิมพ์ข้อมูลการเดินทาง อาทิ เที่ยวบิน โรงแรมที่พัก ฯลฯ ในเว็บไซต์ของประเทศที่จะเดินทางไป จากนั้นระบบจะโยงเข้ากับสายการบิน ประเทศปลายทางก็จะส่งเมล์กลับมา เรียกว่า cross border ข้อมูลการเดินทางระหว่างต้นทางและปลายทาง เมื่อเดินทางเขาจะมีข้อมูลอยู่ในแอปพลิเคชั่นมือถือ สามารถใช้สแกนผ่านเข้าประเทศได้เลยโดยไม่ต้องพกเล่มพาสปอร์ต

และบอกด้วยว่า ตอนนี้ดิจิทัลพาสปอร์ตยังไม่แพร่หลาย แต่คาดว่าในอีก 3 ปี คนไทยก็น่าจะได้ใช้เช่นกัน ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วก็น่าจะใช้กันแพร่หลายขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับคนไทยนั้นเชื่อว่าในระยะเริ่มต้นจะยังคงใช้ดิจิทัลพาสปอร์ตควบคู่ไปกับพาสปอร์ตที่เป็นเล่มอยู่ เนื่องจากแต่ละประเทศยังมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ ในการเลือกตั้งที่ผ่านมากรมการกงสุลยังได้พัฒนาระบบ OVMSติดตามการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ตั้งแต่กระบวนการประชาสัมพันธ์ จนถึงส่งบัตรเลือกตั้งกลับประเทศไทยแบบเรียลไทม์ 24 ชั่วโมงด้วย

e-Visa สะดวก-เก็บข้อมูล

อธิบดีกรมการกงสุลบอกอีกว่า สำหรับกองตรวจลงตราและเอกสารเดินทางสำหรับคนต่างด้าว หรือหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการตรวจลงตราวีซ่า ปัจจุบันได้พัฒนาจากระบบที่เป็นสติ๊กเกอร์มาเป็นระบบ e-Visa โดยผู้ร้องชาวต่างชาติไม่ต้องเดินทางมาติดต่อที่สถานทูตหรือสถานกงสุลใหญ่

ระบบ e-Visa นอกจากตอบโจทย์เรื่องความสะดวกแล้ว ยังตอบโจทย์เรื่องการเก็บข้อมูลผู้ร้องในระบบออนไลน์ทั้งหมดว่าผู้ร้องเป็นใคร เดินทางมาเที่ยวบินไหน พักกี่วัน โรงแรมไหน ฯลฯ โดยในเฟส 1 ที่ผ่านมาใช้กับ 23 แห่งทั่วโลก (รวมจีน)

แต่ระบบดังกล่าวยังมีข้อจำกัดสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเป็น “กรุ๊ปใหญ่” โดยเฉพาะในตลาดจีน เนื่องจากในเฟสแรกยังไม่มีภาษาจีน ซึ่งทางกรมการกงสุลได้พัฒนาระบบ API/Linkage ออกมาเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลนักท่องเที่ยวกับกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้วย

เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจลงตรา (visa) ควบคู่กับการคัดกรอง และอำนวยความสะดวกการเดินทางของกลุ่ม “กรุ๊ปทัวร์จีน” ให้มีความรวดเร็วขึ้น และจะเริ่มใช้งานตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2566 นี้เป็นต้นไป

“ตอนนี้เรากำลังพัฒนาเฟส 2 ให้ใช้งานง่ายขึ้น รองรับการอัพโหลดเอกสารครั้งละมาก ๆ และให้บริการมากกว่า 8 ภาษา รองรับคำร้องได้ปีละประมาณ 15 ล้านคำร้อง คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในช่วงต้นปี 2567”

ThaiConsular คู่มือคนไทย

สำหรับงานกองสัญชาติและนิติกรณ์นั้น อธิบดีกรมการกงสุลบอกว่า เป็นหน่วยรับรองเอกสาร ซึ่งทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยทำเอกสารทะเบียนราษฎร 2 ภาษา เช่น จดทะเบียนสมรส แจ้งเกิด แจ้งตาย ฯลฯ รวมถึงทำนิติกรรมต่าง ๆ เป็นระบบที่เรียกว่า e-Legalization

โดยงานในส่วนนี้ก็ให้บริการจองอันนี้เราก็ให้จองผ่านออนไลน์เช่นกัน และระบบรับรองเอกสารก็จะเป็นสติ๊กเกอร์บนโฮโลแกรมเพื่อป้องกันการปลอมแปลงเอกสาร และมี QR code สำหรับดูวัน เดือน ปี ของผู้ร้องและข้อมูลของผู้ร้อง

ส่วนกองคุ้มครองคนไทยในต่างประเทศนั้น กรมการกงสุลได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น ThaiConsular ติดตั้งบนโทรศัพท์มือถือทุกระบบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ หรือคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศเข้าถึงข้อมูลในทุกเรื่อง เช่น บริการสายด่วนสถานทูตทั่วโลก อินเทอร์เน็ตคอล เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมี RRC Center : Rapid Response Center ให้การช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ภัยพิบัติ สงครามกลางเมือง ฯลฯ รวมถึง e-Complaint หรือระบบร้องเรียนออนไลน์ และ e-Help สำหรับให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ เป็นต้น

และย้ำว่า วันนี้ “กรมการกงสุล” ได้ก้าวเข้าสู่ e-Consular ทั้งหมดแล้ว พร้อมทั้งปรับองค์กรใหม่ เอาการบริหารจากภาคเอกชนเข้ามาปรับใช้ และใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน มีระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น รวดเร็ว และปรับเปลี่ยนให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกสถานการณ์และเกิดประโยชน์สูงสุด