สยามซีเพลน ชี้ดีมานด์ลักชัวรีล้น เปิดซีเพลน บินทะเลตะวันออก-อันดามัน

เครื่องบินเซสน่า ของสายการบินสยามซีเพลน ลำตัวด้านข้างเครื่องบิน ปรากฏข้อความ
ที่มา : Siam Seaplane
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

กลุ่ม “สยามซีเพลน” เชื่อว่าธุรกิจซีเพลนของไทยยังมีโอกาสเติบโตจากนักท่องเที่ยวลักชัวรี่มหาศาล เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม แต่ยังต้องเจออุปสรรคจากการเดินทาง “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “วรกัญญา สิริพิเดช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามซีเพลน จำกัด ถึงแผนธุรกิจล่าสุด และความคาดหวังในปี 2567 ปีที่ตั้งเป้าจะเทกออฟสู่ฟากฟ้า ไว้ดังนี้

“วรกัญญา” บอกว่า อุตสาหกรรมการบินของไทยในปี 2567 จะมีการขยายตัวกว่าปี 2566 แต่จำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารยังต่ำกว่ายุคโควิด-19 อยู่ ขณะที่การแข่งขันด้านราคาจะลดลงจากเดิม และในปีนี้ธุรกิจการบินจะมีความหลากหลายมากขึ้น

เที่ยว “เชิงประสบการณ์” โต

โดยหนึ่งในนั้นคือ “ธุรกิจซีเพลน” ซึ่งจากแนวโน้มภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปสู่การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์และไลฟ์สไตล์ ทำให้คุณค่าการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์จะสูงขึ้น นักท่องเที่ยวจะเดินทางแบบเจาะจงมากขึ้น

และเชื่อว่าถึงแม้เศรษฐกิจโลกจะยังท้าทาย ต้นทุนค่าครองชีพสูงขึ้น แต่นักท่องเที่ยวลักชัวรี่ยังออกเดินทาง “ซีเพลน” จึงตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ดังกล่าว แถมยังช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางด้วย

“เรามองว่าเราเป็นธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงไลฟ์สไตล์ ไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นสายการบินเพียงอย่างเดียว และสยามซีเพลนก็ไม่ได้มุ่งหวังแข่งขันด้านราคาเป็นหลัก ทำให้บริษัทมีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน”

วรกัญญา สิริพิเดช
วรกัญญา สิริพิเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามซีเพลน จำกัด

ลงทุนปีแรก 400 ล้านบาท

“วรกัญญา” บอกด้วยว่า “สยามซีเพลน” วางแผนใช้เครื่องบิน Cessna 208B ในการทำการบิน โดยในช่วงแรกจัดวางที่นั่ง 8 ที่นั่ง เพื่อมอบประสบการณ์ลักชัวรี่ และในอนาคตเมื่อตลาดให้การยอมรับซีเพลนอาจปรับให้มีที่นั่งมากขึ้น

โดยในปีแรกที่เปิดให้บริการตั้งเป้ามีเครื่องบินประจำการ 3 ลำ ปัจจุบันมีแล้ว 1 ลำ โดยอีก 2 ลำที่เหลือจะจัดหาในช่วงที่คาดว่าจะได้รับ AOC และใน 5 ปี ตั้งเป้าหมายมีเครื่องบิน 15 ลำ

“งบฯลงทุนในปีแรกที่ให้บริการจากเครื่องบิน 3 ลำ คาดว่าจะรวมประมาณ 350-400 ล้านบาท และภายใน 5 ปี จากเครื่องบิน 15 ลำ คาดว่าจะต้องลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 1,700 ล้านบาท”

ห้องโดยสารเครื่องบินเซสน่าได้รับการออกแบบให้มีที่นั่งกว้างขวาง แบ่งเป็นสองที่นั่งต่อแถว ฝั่งละ 1 ที่นั่ง
ที่มาภาพ : สยามซีเพลน

เจาะ “ทะเลตะวันออก-อันดามัน”

“วรกัญญา” บอกอีกว่า “สยามซีเพลน” คาดหวังว่าจะได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) ในช่วงประมาณไตรมาส 1/2567 และเริ่มทำการบินไปยังพื้นที่ปฏิบัติการบิน คือ เส้นทางจากกรุงเทพฯ (ดอนเมืองและสุวรรณภูมิ) สู่ฝั่งอ่าวไทย เช่น ระยอง ตราด พัทยา

และเส้นทางจากภูเก็ต หรือกระบี่ ไปยังเกาะต่าง ๆ เช่น เกาะหลีเป๊ะ เกาะยาวน้อย เกาะพีพี เขาหลัก จังหวัดพังงา

“สำหรับการขึ้นลงบนผิวน้ำ เราทำการสำรวจไว้หมดแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างรอการออกประกาศ-ระเบียบ การขึ้นลงบนผิวน้ำ โดย กพท. และสายการบินได้เตรียมเอกสารเบื้องต้นไว้ครบถ้วนแล้ว”

เชื่อดีมานด์ล้น

ทั้งนี้ ตั้งเป้ามีผู้โดยสาร 25,000 คนต่อปี จากเครื่องบินจำนวน 3 ลำ โดยกลุ่มเป้าหมายของสายการบิน คือ นักท่องเที่ยวชาวไทยกลุ่มพรีเมี่ยมแมส (Premium Mass) ที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์ ครองสัดส่วน 30-40% ของลูกค้าทั้งหมด

โดยจากราคาบัตรโดยสารที่กำหนดไว้ เฉลี่ยประมาณ 10,000 บาทต่อคนต่อเที่ยวบิน หรือ 80,000 บาทต่อเที่ยวบิน สอดคล้องกับกลุ่มเจนวาย-มิลเลนเนียล ที่มียอดการจับจ่ายที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ทำให้เชื่อว่าตลาดในประเทศมีความเป็นไปได้

“ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเราคือ กลุ่มตลาดเกิดใหม่ รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะมุ่งเจาะตลาดที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เช่น เจาะตลาดรัสเซียในโซนภาคใต้”

“วรกัญญา” บอกว่า จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ประเมินว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเมืองไทย ราว 30% เป็นกลุ่มลักชัวรี่ หรือประมาณ 7 ล้านคน จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 25 ล้านคน

หากพิจารณาจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มลักชัวรี่ดังกล่าว ทำให้มั่นใจว่ายังมีโอกาสเติบโตในอุตสาหกรรมการบินของไทย

นอกจากนี้ ยังใช้รูปแบบธุรกิจ B2B2C คือ การเปิดให้เช่าเหมาลำโดยตรง และมีความร่วมมือกับโรงแรมพันธมิตรมากกว่า 40 แห่งทั่วประเทศ โดยโรงแรมอาจออกแพ็กเกจห้องพักพร้อมตั๋วเครื่องบินเสนอขายแก่ลูกค้า

ฝากรัฐปรับกฎเอื้อรายย่อย

“วรกัญญา” ยังเพิ่มเติมด้วยว่า การเดินทางทางอากาศถือเป็นโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ทั้งการท่องเที่ยว ขนส่งสินค้า ดังนั้น ตั้งโจทย์ต่อไปว่าทำอย่างไรให้ประชาชนและผู้ประกอบการเข้าถึงพื้นฐานได้

ในมุมผู้ประกอบการธุรกิจการบินพบว่า ต้นทุนค่าใช้จ่าย รวมถึงกฎระเบียบได้บังคับใช้กับทุกผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายใหญ่ ทำให้ธุรกิจสายการบินรายใหญ่ได้ประโยชน์มากกว่า เช่น ค่าลงจอดที่ท่าอากาศยานมีต้นทุนที่หลายหมื่นบาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับการให้บริการเครื่องบินขนาดเล็ก

“ควรปรับปรุงกฎระเบียบ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็ก เข้ามาประกอบธุรกิจได้ ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมมีความหลากหลายและเติบโตขึ้น”

อีกทั้งในกรณีที่ต้องการส่งเสริมการใช้งานท่าอากาศยานในบางพื้นที่ เช่น ท่าอากาศยานเบตง ท่าอากาศยานนครราชสีมา ภาครัฐใช้โมเดลการสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางประการ กฎระเบียบ เพื่อเอื้อให้ธุรกิจดำเนินไปได้

และทิ้งท้ายว่า อยากช่วยผลักดันให้ “ซีเพลน” เกิดขึ้นเร็ว ๆ เพราะธุรกิจซีเพลนกำลังเกิดขึ้นในเวียดนามและกัมพูชาเช่นกัน การที่ไทยพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ได้เร็วมากขึ้นเท่าใด ก็จะเป็นการพัฒนาความสามารถการแข่งขันของไทยในภูมิภาคนี้มากขึ้นเช่นกัน