การบินฟื้น-น่านฟ้าไทยเดือด แอร์ไลน์ใหม่รุมชิงเค้ก 3.2 แสนล้าน

เครื่องบิน

สมรภูมิแอร์ไลน์ปี’67 ปรับตัวครั้งใหญ่รับธุรกิจการบินทั่วโลกฟื้นตัวแรง เผยน่านฟ้าเมืองไทยสุดคึกคัก ผู้ประกอบการแห่ขอใบอนุญาต นำเข้าเครื่องบินเพิ่มอีก 60 ลำ รุมชิงตลาด 3.2 แสนล้านบาท น้องใหม่ “ไทยซีเพลน-สยามซีเพลน” ทุ่มลงทุนเปิดเซ็กเมนต์ตลาดใหม่ “ซีเพลน” บินเมืองท่องเที่ยวเชื่อมทะเลตะวันออก-อันดามัน ด้าน “พาที สารสิน” ดัน Really Cool เจาะตลาดญี่ปุ่น กลุ่ม “มหากิจศิริ” ส่ง P80 Air บุกตลาดจีน ขณะที่ “การบินไทย” หวนบินเส้นทางภายในประเทศอีกครั้ง

การบินฟื้น

รายงานข่าวจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ระบุว่า ธุรกิจสายการบินของไทยมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปริมาณซัพพลายของภาคธุรกิจยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ กพท.จึงได้เร่งกระบวนการอนุมัติและอนุญาตให้สายการบินสามารถจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมให้รวดเร็วขึ้น และผ่อนปรนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สายการบินสามารถจัดหาเครื่องบินมาใช้เพิ่มเติม

โดยการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้มีผู้ประกอบการสายการบินได้รับใบอนุญาตดำเนินการเดินอากาศ (AOL) เพิ่มขึ้นอีก 8 ราย และผู้ประกอบการสายการบินขอนำเข้าเครื่องบินตลอดปี 2567 เพิ่มอีก 60 ลำ

นอกจากนี้ยังประเมินด้วยว่า ในกรณีที่ดีที่สุดปี 2567 อุตสาหกรรมการบินของไทยจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดียวกับก่อนโควิด-19 หรือปี 2562 และที่คาดการณ์ว่าในอีกราว ๆ 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีตลาดของผู้โดยสารสายการบินสูงเป็นอันดับที่ 9 ของโลก

ชิงแชร์ตลาด 3.2 แสนล้าน

โดยในปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 อุตสาหกรรมการบินของไทยขนส่งผู้โดยสารมากกว่า 165 ล้านคน จากจำนวน 1.06 ล้านเที่ยวบิน โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดการณ์ว่าตลาดธุรกิจการบินสัญชาติไทยมีมูลค่าประมาณ 3.2 แสนล้านบาท

และพบว่าปี 2566 ที่ผ่านมา มีสายการบินใหม่เกิดขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง และในจำนวนนี้ล้วนเตรียมเปิดตัวเพื่อแย่งชิงตลาดกันในช่วงกลางปี 2567 นี้ อาทิ สายการบินไทยซีเพลน, สายการบินสยามซีเพลน, เรียลลี่ คูล แอร์ไลน์, P80 แอร์ เป็นต้น

2 น้องใหม่เปิดตลาด “ซีเพลน”

นายกสิณพจน์ รอดโค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยซีเพลน ผู้ให้บริการเครื่องบินทะเล (Seaplane) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2567 อุตสาหกรรมการบินของไทยยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว โดยได้รับอานิสงส์จากการออกเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงภาครัฐที่เตรียมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนามบินในฝั่งอันดามัน ทั้งท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานกระบี่ และท่าอากาศยานอันดามัน (ภูเก็ต แห่งที่ 2) ทำให้เชื่อว่าในอนาคตจะมีผู้โดยสารเดินทางเข้ามาประเทศไทยฝั่งอันดามันเพิ่มอีกจำนวนมาก

“แม้ปริมาณผู้โดยสารประเภทธุรกิจอาจลดลง แต่ผู้โดยสารประเภทท่องเที่ยวยังคงออกเดินทางอยู่ และยังเห็นแนวโน้มของการท่องเที่ยวพร้อมทำงานไปพร้อมกัน หรือ Workcation ทำให้สายการบินต่าง ๆ กลับมาเพิ่มจำนวนอากาศยาน จากจำนวนผู้โดยสารเติบโตขึ้น” นายกสิณพจน์กล่าวและว่า

ที่ผ่านมาคนมักมองธุรกิจการบินว่าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ลงทุนสูง ให้บริการจากศูนย์กลางการบินไปยังเมืองต่าง ๆ ซึ่งอาจขาดการเชื่อมต่อระหว่างเมืองหลักและเมืองรอง ขณะที่ในต่างประเทศมีโมเดล Air Taxi เชื่อมต่อระหว่างเมือง

เครื่องบินเซสน่า สายการบินไทยซีเพลน ได้รับการติดตั้งแท่นลอยน้ำ (Float) เพื่อขึ้นลงบนผิวน้ำ
ที่มาภาพ : สายการบินไทยซีเพลน

นายกสิณพจน์กล่าวว่า ไทยซีเพลน จึงเกิดขึ้นจากการมองเห็นโอกาสในการรองรับนักท่องเที่ยวต้องการเดินทางระหว่างพื้นที่ท่องเที่ยว แต่เจอปัญหาการเดินทางที่ใช้ระยะเวลานาน หรือเข้าถึงยาก อีกทั้งในแง่ของธุรกิจการบินยังช่วยให้นักบินสามารถเก็บประสบการณ์จากสายการบินขนาดเล็กสู่สายการบินขนาดใหญ่ได้อีกด้วย

โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มให้บริการในช่วงประมาณไตรมาส 3/2567 ในเส้นทางบินไม่เกิน 1.30 ชั่วโมง ให้บริการในโซนพื้นที่อันดามันก่อน เช่น เส้นทางบินภูเก็ต-กระบี่ (ไม่ผ่านสนามบิน), ภูเก็ต-เกาะพีพี, กระบี่-เกาะพีพี, ภูเก็ต-เกาะสิมิลัน และภูเก็ต-เกาะหลีเป๊ะ เป็นต้น

เช่นเดียวกับ นางสาววรกัญญา สิริพิเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามซีเพลน จำกัด ผู้ให้บริการซีเพลน ที่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เชื่อว่าแนวโน้มการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไป โดยการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์และไลฟ์สไตล์กำลังเติบโต ผู้คนให้คุณค่าการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์สูงขึ้น

ขณะที่สายการบินสยามซีเพลน ได้วางโพซิชันนิ่งตัวเองว่าไม่ใช่เป็นเพียงแค่สายการบินอย่างเดียว แต่เป็นธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงไลฟ์สไตล์ ทำให้เชื่อว่าอนาคตจะมีโอกาสเติบโตได้อย่างยั่งยืน

“เราเชื่อว่าแม้ผู้คนจะออกเดินทางด้วยความถี่ลดลง แต่จะเจาะจงมากขึ้น มีความพร้อมที่จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งประสบการณ์มากขึ้น ซึ่งการเดินทางด้วยซีเพลนสามารถประหยัดเวลาในการเดินทาง และสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ สอดรับกับเทรนด์การท่องเที่ยวในอนาคต”

เครื่องบินเซสน่า สายการบินสยามซีเพลน
ที่มาภาพ : สายการบินสยามซีเพลน

สำหรับสยามซีเพลนนั้น นางสาววรกัญญา กล่าวว่า คาดว่าจะได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) ในช่วงประมาณไตรมาส 1/2567 โดยมีแผนเปิดเส้นทางจากกรุงเทพฯ (ดอนเมืองและสุวรรณภูมิ) สู่ฝั่งอ่าวไทย เช่น ระยอง ตราด พัทยา และเส้นทางจากภูเก็ต หรือกระบี่ ไปยังเกาะต่าง ๆ เช่น เกาะหลีเป๊ะ เกาะยาวน้อย เกาะพีพี เขาหลัก จังหวัดพังงา เป็นต้น

Really Cool-P80 มุ่งบินอินเตอร์

ด้านนายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินเรียลลี่ คูล (Really Cool Airline) เปิดเผยว่า การเปิดตัวของสายการบินสอดคล้องกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ด้วยรายได้และผลกำไรของสายการบินที่พุ่งสูงขึ้นตามการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ คาดว่าได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) ในเดือนมกราคม 2567 และกำหนดเปิดทำการบินแบบเช่าเหมาลำในเดือนมีนาคม 2567 และให้บริการเที่ยวบิน Scheduled Flight ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2567

ReallyCool
ที่มาภาพ : Really Cool Airlines

โดยเส้นทางที่จะเริ่มต้นให้บริการคือ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) สู่โตเกียว (นาริตะ), นาโกยา (NGO) เป็น 2 เส้นทางบินแรก และอาจเปิดทำการบินไปยังฮอกไกโด ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ส่วนเส้นทางอื่น ๆ ที่สนใจ ได้แก่ ฮ่องกง, เซี่ยงไฮ้, สิงคโปร์ และจอร์เจีย

“ในปี 2566 ที่ผ่านมา ข้อมูลจาก IATA คาดว่าจะมีผู้โดยสารทางอากาศมากถึง 4,350 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2562 ที่มีประมาณ 4,540 ล้านคน ทำให้นี่เป็นโอกาสที่ดีในการเปิดตัวสายการบินรายใหม่” นายพาทีกล่าว

เช่นเดียวกับ นายสรกฤช วรรณลักษณ์ ที่ปรึกษาอาวุโส ฝ่ายการสื่อสารองค์กร บริษัท พี 80 แอร์ จำกัด ผู้บริหารสายการบิน P80 Air ในเครือบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA ของตระกูลมหากิจศิริ ที่เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า อุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล

โดยในส่วนของ P80 Air นั้นปัจจุบันได้รับใบอนุญาต (AOL) เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะเริ่มทำการบินได้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 โดยในปีแรกทางสายการบินจะเริ่มทำการบินไปยังประเทศจีน ด้วยเครื่องบิน 4 ลำ เนื่องจากจีนเป็นตลาดใหญ่ มีประชากรเป็นจำนวนมาก

สายการบิน P80 Air / พี80 แอร์
ที่มา : สายการบิน P80 Air

ประกอบกับประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ที่ชาวจีนต้องการมาเยือน ทำให้ตลาดประเทศจีนยังมีดีมานด์การเดินทางอยู่ในระดับสูง อีกทั้งรัฐบาลไทยและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ความสำคัญกับตลาดประเทศจีน

“การบินไทย” หวนบินในประเทศ

สำหรับในส่วนของสายการบินไทยนั้น นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า บริษัทการบินไทยได้ปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มธุรกิจการบินของการบินไทยและไทยสมายล์ โดยโอนพนักงาน และฝูงบินแอร์บัส A320 ของไทยสมายล์ทั้งหมดจำนวน 20 ลำ เข้าฝูงบินการบินไทย ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2567

ทั้งนี้ ตามแผนดังกล่าวสายการบินไทยสมายล์จะยุติบทบาทการเป็นสายการบิน และยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการการเดินอากาศ (AOL) ซึ่งจะส่งผลให้รหัสการบินภายใต้โค้ด WE สิ้นสุดลง ที่การบินไทยได้ทยอยรับเครื่อง A320 ของไทยสมายล์เข้ามาประจำฝูงบิน และกลับมาให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศในแบรนด์ “การบินไทย” ภายใต้รหัส TG ทั้งหมดอีกครั้ง ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

โดยในตารางบินฤดูหนาว 2566 (29 ตุลาคม 2566-30 มีนาคม 2567) การบินไทยได้กลับมาทำการบินเส้นทางบินภายในประเทศไป-กลับจากกรุงเทพฯ จำนวน 9 เส้นทาง ด้วยเครื่องบินแอร์บัส A320 ประกอบด้วย เชียงใหม่ ภูเก็ต อุดรธานี เชียงราย ขอนแก่น อุบลราชธานี กระบี่ หาดใหญ่ (สงขลา) และนราธิวาส

เครื่องบินแบบแอร์บัส เอ320 การบินไทย
ที่มา : การบินไทย

ธุรกิจการบินปี’67 เสี่ยงรอบด้าน

ขณะที่นายปิ่นยศ พิบูลสงคราม ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท เปิดเผยว่า ในปี 2567 นี้อุตสาหกรรมการบินจะยังมีปัจจัยท้าทายหลายประการ ทั้งเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส ที่ส่งผลต่อราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญของธุรกิจการบิน

อีกทั้งในปี 2567 สหรัฐอเมริกาก็กำลังเข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้งประธานาธิบดี ทำให้บริษัทขนาดใหญ่อาจชะลอการตัดสินใจ เศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่นเองก็มีสัญญาณเชิงลบ เงินเยนต่อเงินบาทยังอ่อนค่า นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางมาประเทศไทยลดลง ขณะที่เศรษฐกิจไทยอาจโดนกดดันจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น

“ปัจจัยต่าง ๆ ทำให้สายการบินต้องวางแผนด้วยความระมัดระวัง และจีนยังคงเป็นตลาดการท่องเที่ยวสำคัญของอุตสาหกรรมการบินของไทยในปี 2567”

อย่างไรก็ตาม มองว่าในปี 2567 นี้ ภาครัฐจะยังคงให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อเนื่อง ทั้งการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวของไทย และมาตรการอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ