ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จ่อควบรวม “ไทยแอร์เอเชีย”

เครื่องบินแบบแอร์บัส A320 สายการบินไทยแอร์เอเชีย และแอร์บัส A330 สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์
ที่มาภาพ : ไทยแอร์เอเชีย, ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์

แอร์เอเชีย เอ็กซ์ (AAX) ประกาศควบรวมธุรกิจแอร์เอเชียผ่านการเข้าซื้อธุรกิจการบินของบริษัท แอร์เอเชีย เบอร์ฮาด และแอร์เอเชีย เอวิเอชั่น กรุ๊ป จำกัด ทำให้ “แอร์เอเชีย เอ็กซ์” กลายเป็นผู้ให้บริการการบินระดับภูมิภาคที่ครอบคลุมสำหรับเส้นทางระยะสั้นและระยะกลางทั้งหมด ภายใต้ชื่อแบรนด์ “แอร์เอเชีย”

โดยการควบรวมดังกล่าวนี้ยังเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่ม “แอร์เอเชีย” ในประเทศมาเลเซียเท่านั้น ส่วนในประเทศไทยนั้นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็เป็นแผนในอนาคตเช่นกัน

ยัน “แอร์เอเชีย” เมืองไทยแกร่ง

“โทนี่ เฟอร์นานเดส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Capital A ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นเวลายากลำบากของ “แอร์เอเชีย” แต่ปัจจุบันสายการบินได้กลับสู่การฟื้นตัวอีกครั้งคาดว่าในปี 2567 นี้ กลุ่มแอร์เอเชียจะสามารถฟื้นตัวกลับสู่ก่อนการระบาดของโควิด-19 ได้ในปีนี้

โดยพบว่า “แอร์เอเชีย” ในประเทศไทยมีผลการดำเนินงานดีที่สุดในกลุ่มแอร์เอเชียทั้งหมด ซึ่งตัวเองมีความเชื่อมั่นในการเติบโตของแอร์เอเชียในประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจาก 2 เหตุผลคือ 1.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง กรุงเทพฯ เป็นเหมือนประตูสู่ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ประกอบกับตลาดการเดินทางอาเซียนมีความแข็งแกร่งและ 2.นักท่องเที่ยวจีนเริ่มออกเดินทางอีกครั้ง

“เรามีความเชื่อมั่นประเทศไทยและในการเพิ่มเครื่องบินทั้งในส่วนของไทยแอร์เอเชีย และไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ รวมถึงเพิ่มเส้นทางบินมากขึ้นใน 2-3 ปี”

โทนี่ เฟอร์นานเดส
โทนี่ เฟอร์นานเดส

อ้อนเศรษฐา ขอลดภาษีน้ำมัน

“โทนี่” บอกด้วยว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา ตนได้เข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อแสดงความขอบคุณที่ได้ผลักดันการยกเว้นการตรวจลงตราในหนังสือเดินทางแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ (วีซ่าฟรี)

และเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบิน ยังได้เรียนขอความอนุเคราะห์จากรัฐบาลผ่านมาตรการช่วยเหลือ 3 ประการ ประกอบด้วย 1.ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น จากปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ 4.726 บาทต่อลิตร โดยลดลงจากอัตราดังกล่าวประมาณ 40%

2.ขอให้บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด คงอัตราค่าบริการการเดินอากาศ (Air Navigation Service Charge) และ 3.ขอให้รัฐบาลไทย รวมถึงรัฐบาลประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ร้องขอเพิ่มสิทธิการบินจากประเทศอินเดีย

นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคอาเซียน พร้อมย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่ “กรุงเทพฯ” จะกลายเป็น “ดูไบแห่งอาเซียน” หรือศูนย์กลางการบินของประเทศในกลุ่มอาเซียน และแอร์เอเชียพร้อมที่จะเป็นสายการบินโลว์คอสต์รายแรกที่เชื่อมต่อเส้นทางต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

"โทนี่ แอร์เอเชีย" พบเศรษฐา

เพิ่มรายได้ธุรกิจดิจิทัลเป็น 50%

ขณะเดียวกัน “กลุ่มแอร์เอเชีย” ยังเตรียมเพิ่มสัดส่วนรายได้ธุรกิจดิจิทัลเป็น 50% ใน 5 ปีข้างหน้า และเตรียมเปิดตัวบริการ “BigPay” บริการชำระเงินในไทยในอนาคต รวมถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังเติบโตในอาเซียนจะช่วยเสริมให้ธุรกิจ Teleport เติบโตไปด้วย

ทั้งนี้ ประเมินว่าธุรกิจสายการบินยังสร้างรายได้อันดับ 1 ตามด้วย ธุรกิจบริการอากาศยาน ธุรกิจ Move และธุรกิจขนส่งสินค้า Teleport

ควบรวมเพื่อความยืดหยุ่น

“โทนี่” ยังให้ข้อมูลในประเด็นการควบสายการบินแอร์เอเชีย และแอร์เอเชีย เอ็กซ์ในประเทศมาเลเซีย ด้วยว่า เหตุผลหลักคือ ท่าอากาศยานในภูมิภาคอาเซียนมีการจราจรทางอากาศที่แน่น ทำให้มีตารางการบิน (Slot) จำนวนน้อย

การควบรวมดังกล่าวจะทำให้สายการบินมีความยืดหยุ่นในการใช้เครื่องบินลำตัวกว้าง และเครื่องบินลำตัวแคบให้เหมาะสมตามความต้องการของแต่ละเส้นทาง และแต่ละช่วงเวลา ที่สำคัญยังจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นเปิดเส้นทางบินใหม่ ๆ อีกด้วย

จัดหาเครื่องบินใหม่ 412 ลำ

ทั้งนี้ รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันกลุ่มแอร์เอเชียมีคำสั่งจัดหาเครื่องบินจำนวน 412 ลำ โดย 75% อยู่ในขั้นตอนสัญญาทางการเงินเเล้ว แบ่งเป็นเครื่องบินแอร์บัส A321neo จำนวน 377 ลำ, แอร์บัส A321XLR จำนวน 15 ลำ และแอร์บัส A330neo จำนวน 20 ลำ โดยทั้งหมดจะทยอยเข้าสู่ฝูงบินนับจากนี้เป็นต้นไป จะทำให้ในปี 2028 กลุ่มสายการบิน “แอร์เอเชีย” มีเครื่องบินประจำการทั้งสิ้น 333 ลำ

โดยเครื่องบินรุ่นใหม่ ๆ จะทำให้สายการบินเปิดเส้นทางใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเปิดมาก่อน เช่น เชียงใหม่-บาหลี, กรุงเทพฯ สู่ ญี่ปุ่นในเส้นทางที่ยังไม่เคยทำการบิน หรือเกาหลีใต้ในบางเมือง เป็นต้น

เชื่อมั่นฮับ 2 สนามบิน

ด้าน “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ และประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น เสริมว่า สำหรับการควบรวมไทยแอร์เอเชียและไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์นั้น ต้องรออีกประมาณ 2 ปี เพื่อให้ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการเสียก่อน

โดยปัจจุบัน “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” ได้ทยอยชำระหนี้ หลังจากแฮร์คัตหนี้ไปได้ราว 70% คาดว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูได้ในปลายปี 2568

ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์
ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์

ขณะเดียวกันกลุ่มไทยแอร์เอเชียยังมั่นใจในการใช้ศูนย์กลางทางการบิน 2 แห่งคือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีข้อได้เปรียบเรื่องการขนส่งสินค้า (คาร์โก)

จ่อเพิ่มฝูงบินในไทย 150 ลำ

“ธรรศพลฐ์” บอกด้วยว่า จากการที่กลุ่มสายการบินแอร์เอเชียได้จัดหาเครื่องบินจำนวน 412 ลำนั้น คาดว่าตลาดประเทศไทย คือไทยแอร์เอเชีย และไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ อาจรับเครื่องบินเข้าประจำการจำนวน 100-150 ลำ

จากปัจจุบัน “ไทยแอร์เอเชีย” มีฝูงบิน 57 ลำ ใช้ปฏิบัติการบิน 51 ลำ และอยู่ระหว่างการซ่อมบำรุง 6 ลำ ซึ่งในปี 2567 นี้เตรียมรับเครื่องบินแอร์บัส A321 เข้าประจำการ 3 ลำ ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ได้จัดหาตั้งแต่ช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19

เครื่องบินแบบแอร์บัส A321neo สายการบินไทยแอร์เอเชีย
เครื่องบินแอร์บัส A321neo สายการบินไทยแอร์เอเชีย ทะเบียน HS-EAA ภาพ : ไทยแอร์เอเชีย

ส่วนสายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” มีเครื่องบิน 6 ลำ และในปีนี้ เตรียมนำเครื่องบินเข้ามาเพิ่มเติมอีก 4 ลำ โดยเตรียมเพิ่มเส้นทางสู่ประเทศญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, จีน (เซี่ยงไฮ้ และกรุงปักกิ่ง), จอร์เจีย, เมลเบิร์น (ออสเตรเลีย)

นอกจากนี้ ยังพิจารณาเปิดเส้นทางบินสู่ทวีปยุโรป ในเส้นทางกรุงบูดาเปสต์ (ฮังการี), กรุงปราก (สาธารณรัฐเช็ก), กรุงโรมและมิลาน (อิตาลี), กรุงเวียนนา (ออสเตรีย) รวมถึงอยู่ระหว่างการขอเปิดทำการบินสู่เมืองอัลมาตี ประเทศคาซัคสถานอีกด้วย

คาดปี’67 จีนเข้าไทย 5 ล้านคน

“ธรรศพลฐ์” บอกอีกว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการสายการบินไทยแอร์เอเชียประมาณ 18 ล้านคน ขณะที่สายการบินตั้งเป้าหมายว่าในปี 2567 จะมีผู้โดยสารประมาณ 20-21 ล้านคน ขณะที่ในปี 2562 ขนส่งผู้โดยสารประมาณ 22.15 ล้านคน

โดยในส่วนของตลาดจีนนั้นคาดว่าปี 2567 นักท่องเที่ยวจีนน่าจะเดินทางเข้าประเทศไทย 5 ล้านคน

ขณะที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำหนดเป้าหมายว่าในปี 2567 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาเยือนประเทศไทย 8.5 ล้านคน จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 30-35 ล้านคน