โลว์ซีซั่น-เงินฝืดในประเทศ กับดัก “ท่องเที่ยวไทย” ไตรมาส 2

Low season

ผ่านไป 3 เดือนกับ 8 วัน ของปี 2567 (1 มกราคม-8 เมษายน 2567) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทะลุ 10 ล้านคนแล้ว และสร้างรายได้กว่า 4.8 แสนล้านบาท

โดยคาดว่าในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนเมษายนนี้ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยมีปัจจัยจากการเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ การมีวันหยุดต่อเนื่องวันอีดิลฟิฏร์ในประเทศมุสลิม

รวมถึงการยกเว้นวีซ่าถาวรระหว่างไทย-จีน (วีซ่าฟรี) ที่มีผลช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว เพิ่มการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และกระตุ้นให้สายการบินเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน รวมทั้งวีซ่าฟรีให้นักท่องเที่ยวอินเดีย ไต้หวัน และคาซัคสถานด้วย

ดัชนีเชื่อมั่น Q1/67 ต่ำกว่าปกติ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 1/2567 (Thailand Tourism Confident Index) ที่จัดทำโดยรวมร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา

โดยสำรวจจากผู้ประกอบการ 740 รายทั่วประเทศ ช่วงวันที่ 10 ก.พ.-5 มี.ค. 2567 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย ไตรมาส 1/2567 อยู่ในระดับ 81 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ที่อยู่ในระดับ 77

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ แต่ก็ดีกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ที่อยู่ในระดับ 74

Q1/67 นทท.ต่างชาติ 9.4 ล.คน

“รศ.ผกากรอง เทพรัตน์” ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายหน่วยวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จ.สงขลา ระบุว่า ในไตรมาส 1/2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 9.4 ล้านคน ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 13 โดยปัจจัยบวกในไตรมาสนี้คือ เป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ และมีเทศกาลสำคัญ เช่น เทศกาลปีใหม่ วันเด็กแห่งชาติ และเทศกาลตรุษจีน (5-14 ก.พ. 2567)

เฉพาะเทศกาลตรุษจีน (รวม 10 วัน) ปีนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยเกิน 1 แสนคนต่อวัน ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 (ปี 2562) และมีนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่มีประมาณ 1.5-1.6 หมื่นคนต่อวัน

รวมถึงมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2567 ที่ส่งผลดีต่อการลดต้นทุนด้านการขนส่งของภาคธุรกิจ และต้นทุนการเดินทางของนักท่องเที่ยว

งบประมาณล่าช้าฉุด GDP

ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยลบ โดยเฉพาะความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งปกติมีผลตั้งแต่ตุลาคม 2566 แต่ยังไม่ผ่านสภา ทำให้งบฯลงทุนจากภาครัฐกว่า 7.1 แสนล้านบาทยังไม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกนี้ต่ำกว่าที่คาดการณ์

นอกจากนี้ ยังพบว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ซึ่งสะท้อนได้จากอัตราเงินเฟ้อที่หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566-กุมภาพันธ์ 2567

ขณะเดียวกันตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยสิ้นปี 2566 หนี้ครัวเรือนขยับขึ้นไป 16.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 91.4 ของ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 3-4 ขณะที่ GDP โตร้อยละ 2-2.5

ไม่เพียงเท่านี้ เศรษฐกิจและระดับรายได้ยังฟื้นตัวได้ช้า แม้ว่าภาพรวมของปี 2567 จะมีทิศทางที่ดีขึ้นจากปีก่อน แต่รายได้จากการส่งออกกว่าร้อยละ 90 กระจุกตัวอยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ขับเคลื่อนจากธุรกิจขนาดเล็กกลับมาแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่า ส่งผลให้ฐานะการเงินของผู้ประกอบการขนาดเล็กยังเปราะบาง

รายได้ฟื้นตัวแค่ 53% ของปี’62

อย่างไรก็ตาม หากจำแนกตามประเภทธุรกิจพบว่า แหล่งท่องเที่ยว สถานบันเทิง โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว บริการขนส่ง และสปา-นวดแผนไทย ประเมินว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาสนี้จะดีกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีเพียงธุรกิจ “ร้านขายของฝาก-ของที่ระลึก” เท่านั้นที่ประเมินว่าภาพรวมลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในส่วนของรายได้ผู้ประกอบการระบุว่า มีรายได้ที่ลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 2/2566 และปรับขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 4/2566 เนื่องจากเข้าสู่เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมองว่าฟื้นตัวประมาณร้อยละ 53 ของช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 (ปี 2562)

โดยรายได้ของผู้ประกอบการที่ยังไม่ดีนี้ สะท้อนภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นภายในประเทศ สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่องกันมาถึง 5 เดือน (ตุลาคม 2566-กุมภาพันธ์ 2567)

กราฟฟิก คาดรายได้

หากจำแนกตามภูมิภาคจะพบว่า ภาคใต้มีการฟื้นตัวของรายได้มากที่สุด ประมาณร้อยละ 58 ของปี 2562 รองลงมาคือ ภาคเหนือ ฟื้นตัวร้อยละ 55 ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รายได้ฟื้นตัวน้อยที่สุดที่ร้อยละ 50

ขณะที่ปัญหาด้านแรงงานพบว่า ผู้ประกอบการมีจำนวนแรงงานประมาณร้อยละ 87 ของช่วงก่อนโควิด ซึ่งไม่ต่างจากไตรมาสที่ผ่านมานัก โดยธุรกิจขนส่งนักท่องเที่ยวมีแรงงานกลับมามากที่สุดที่ร้อยละ 91 ขณะที่สปา-นวดแผนไทย มีแรงงานกลับมาน้อยที่สุดที่ร้อยละ 76 และร้อยละ 7 ของสถานประกอบการยังขาดแรงงาน และร้อยละ 7 ยังต้องการแรงงานเพิ่ม โดยเฉพาะธุรกิจสปา-นวดแผนไทยที่ขาดแคลนมากที่สุด

โรงแรมที่พักรายได้กลับมา 59%

สำหรับกลุ่มโรงแรม ที่พัก มีรายได้ในไตรมาสแรกปีนี้ประมาณร้อยละ 59 ของรายได้ก่อนโควิด ลดลงกว่าไตรมาส 4/2566 ที่มีรายได้อยู่ที่ร้อยละ 63 โดยมีอัตราการเข้าพักรวมเฉลี่ยร้อยละ 60 ต่ำกว่าไตรมาสที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 62

โดยโรงแรม ที่พัก ในภาคใต้มีอัตราการเข้าพักสูงสุดที่ร้อยละ 72 รองลงมาคือ ภาคตะวันออก ร้อยละ 64 ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการเข้าพักต่ำที่สุดที่ร้อยละ 51 และส่วนใหญ่มีจำนวนพนักงานอยู่ในระดับร้อยละ 83 เมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 และร้อยละ 8 ยังขาดแรงงาน

คาด Q2 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย

“รศ.ผกากรอง” ให้ข้อมูลด้วยว่า การสำรวจครั้งนี้ยังได้คาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวในไตรมาส 2/2567 ด้วยว่า ภาพรวมจะดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรืออยู่ในระดับ 83 และดีกว่าไตรมาส 1/2567 เล็กน้อย สะท้อนว่าความเชื่อมั่นยังอยู่ในภาวะทรงตัว

โดยในไตรมาส 2 มีปัจจัยเสริมจากเทศกาลสงกรานต์ที่จัดขึ้นยิ่งใหญ่กว่าทุกปี และมาตรการวีซ่าฟรีถาวรระหว่างไทย-จีน ซึ่งจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยสะดวกยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 2 เป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยวของคนไทยและต่างชาติ ประกอบกับภาวะเงินฝืดภายในประเทศ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีท่าทีว่าจะส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการคาดว่าภาพรวมของไตรมาส 2 จะดีขึ้นกว่าไตรมาส 1 ไม่มากนัก

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังคาดว่าในไตรมาส 2/2567 รายได้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภาพรวมจะดีกว่าไตรมาสแรกที่ผ่านมา โดยพบว่าร้อยละ 27 ของสถานการณ์ประกอบการคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14 คาดว่าจะมีรายได้ลดลง

“หนี้ครัวเรือน-ค่าไฟ” ปัจจัยลบ

“รศ.ผกากรอง” ระบุอีกว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในปี 2567 มากที่สุดคือ หนี้ครัวเรือน รองลงมาคือ ต้นทุนด้านพลังงาน เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ที่สูงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ รายได้ของประชาชนที่ไม่สอดกับค่าครองชีพ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ตามลำดับ

ส่วนปัญหาด้านแรงงานเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลน้อยที่สุด รองลงมาคือ ปัญหากลุ่มจีนเทาที่เข้ามาทำธุรกิจแย่งลูกค้าของผู้ประกอบการคนไทย และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ปี’67 นักท่องเที่ยว 35.79 ล.คน

สำหรับปี 2567 นี้ การสำรวจครั้งนี้คาดว่าตลอดทั้งปี 2567 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 35.79 ล้านคน น้อยกว่าปี 2562 ก่อนวิกฤตโควิด-19 ร้อยละ 10.32 และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีประมาณ 1.68 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อนโควิด-19 ร้อยละ 12.10 (ดูตารางประกอบ)

ทั้งนี้ อยากเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเติมทุนให้แก่ผู้ประกอบการ โดยรัฐบาลเข้าไปค้ำประกันหนี้ให้เอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในจังหวัดที่ทำรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้ประเทศ

อาทิ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ กระบี่ พังงา สงขลา เชียงราย ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง พระนครศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช อุดรธานี ตราด ยะลา หนองคาย เป็นต้น

รวมถึงการเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม อาหาร และการให้บริการ