นักท่องเที่ยวล้นสนามบินไทย ทอท.เร่งยกระดับ”ดิจิทัลแพลตฟอร์ม”

นักท่องเที่ยวล้น - บรรยากาศภายในสนามบินหลักของไทย โดยเฉพาะสุวรรณภูมิและดอนเมือง ที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการจำนวนมาก ขณะที่การขยายเฟสใหม่รองรับเกิดความล่าช้า ทำให้เกิดปัญหาความแออัดในบางช่วง บางเวลาอยู่ในขณะนี้
อมาเดอุสฯชี้สนามบินไทยใกล้แตก-นักท่องเที่ยวล้น แนะใช้เทคโนโลยีเพิ่มโฟลว์ภายในสนามบิน หนุนโครงสร้างพื้นฐานจากสนามบินสู่ตัวเมืองแนะภาครัฐจับมือเอกชนตั้ง “บริษัทพัฒนาเมือง” ยกระดับการท่องเที่ยว ฟากทอท.เร่งยกระดับสนามบินสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม คลอดเฟสแรกก่อนสิ้นปีนี้

นายไซมอน เอครอยด์ รองประธานกรรมการ ฝ่ายวางแผนกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัท อมาเดอุส เอเชีย จำกัด ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการเดินทาง เปิดเผยว่า จากรายงาน “ประเทศไทยสู่ปี 2030 : จับกระแสอนาคตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” ที่บริษัทได้จัดทำร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก(พาต้า) แสดงให้เห็นว่าในขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยเติบโตขึ้นถึง 6% ในปี 2561 แต่ความสามารถในการรองรับจำนวนผู้โดยสารของสนามบินต่าง ๆ ในประเทศกำลังจะถึงเพดานสูงสุด

รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเริ่มได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากเกินไป (overtourism) จนอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้ หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

แนะปรับด่วน 4 เรื่องใหญ่

ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องวางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวให้ชาญฉลาดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาสนามบินและการเชื่อมต่อ เพื่อขับเคลื่อนรายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ พบว่าประเด็นหลักที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร (capacity) ของสนามบิน การพัฒนาระบบการเชื่อมต่อระหว่างสนามบินและเมือง การผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อยกระดับประสิทธิภาพเครือข่ายการคมนาคมในเขตเมือง และการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมือง ซึ่งล้วนต้องอาศัยการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะไปประยุกต์ใช้

เร่งบริหารจัดการสนามบิน

โดยในด้านการเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินในการรองรับนักท่องเที่ยวนั้น นายไซมอนกล่าวว่า นอกเหนือจากแผนขยายอาคารสนามบินที่วางไว้ ไทยจำเป็นจะต้องพัฒนาระบบการจัดการผู้โดยสาร ปรับเปลี่ยนกระบวนการเคลื่อนย้ายผู้โดยสารภายในอาคารสนามบิน โดยหันมาอาศัยระบบการเช็กอินด้วยตนเองผ่านคีออสก์ เครื่องดรอปกระเป๋าอัตโนมัติและการยืนยันตัวตนผ่านระบบไบโอเมทริกซ์ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเคลื่อนย้ายผู้โดยสารมากขึ้น รวมถึงควรพิจารณาเปิดให้บริการเช็กอินและดรอปสัมภาระนอกสนามบินสำหรับสนามบินที่มีผู้โดยสารหนาแน่น

ส่วนการพัฒนาระบบเชื่อมต่อระหว่างสนามบินสู่เมืองถือเป็นส่วนสำคัญที่ควรจะเร่งพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจในเซ็กเมนต์ที่น่าจับตา อาทิ ธุรกิจ MICE โดยนอกเหนือจากการเชื่อมต่อระบบรางระหว่างสนามบินกับศูนย์ประชุมโดยตรง เพื่อผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรม MICE ในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงแล้ว ควรจัดตารางเวลารถไฟและเที่ยวบินให้สอดคล้องกับเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการประชุมด้วย

ยกระดับระบบขนส่งมวลชน 

นอกจากนั้น ไทยจำเป็นที่จะต้องผลักดันความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อยกระดับระบบขนส่งในเขตเมืองด้วยระบบการสัญจรอัจฉริยะ (smart mobility)อาทิ ระบบการจราจรแบบเรียลไทม์ สัญญาณไฟจราจร หรือการให้บริการของผู้ประกอบการเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (sharing economy) เช่น รถรับส่ง Grabและ Get เพื่อให้การเดินทางในเมืองลดความแออัดและมลพิษลง

อย่างไรก็ตาม การผลักดันการขนส่งเขตเมืองจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยอาจจะเป็นในลักษณะของบริษัทพัฒนาเมือง

ส่วนเรื่องการลดผลกระทบด้านลบของการท่องเที่ยวเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนนั้นนายไซมอนกล่าวว่า ไทยควรทำให้หน่วยงานและผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ และการวางโมเดลด้วยเทคนิคการทำนายข้อมูล (predictive modeling)เนื่องจากหากนำมาใช้อย่างเป็นระบบเพราะข้อมูลเหล่านี้จะไม่เพียงช่วยในการควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวเท่านั้นแต่ยังช่วยในการวางแผนหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการตั้งราคาตั๋ว ไปจนถึงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการท่องเที่ยวระยะยาว

ทอท.ทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล

ขณะที่นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ ทอท.อยู่ระหว่างการทรานส์ฟอร์มองค์กรและท่าอากาศยานในความดูแลทั้ง 6 แห่งสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ภายใต้ชื่อ AOT Digital Airport โดยเฟสแรกจะนำเทคโนโลยีเข้ามาจับกับเครื่องมือที่มีอยู่เดิมด้วยแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน เพื่อให้การเคลื่อนตัวของผู้โดยสารในสนามบินไม่ติดขัด อาทิ ฟังก์ชั่นตรวจสอบพร้อมแจ้งเตือนไฟลต์และการเช็กอิน ฟังก์ชั่นตรวจสอบที่จอดรถ และฟังก์ชั่นขนส่งสาธารณะ

โดยแอปดังกล่าวจะเปิดใช้งานอย่างเต็มที่ได้ภายในสิ้นปีนี้ และจะมีช่วงเวลาทดลองใช้ประมาณ 3-4 เดือน เพื่อตรวจสอบปริมาณและสเกลของผู้ใช้งานสนามบินที่มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี สำหรับการขยับการทรานส์ฟอร์มไปอีกขั้นด้วยการซื้อฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ อาทิ หุ่นยนต์อัจฉริยะ มาอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการและเพิ่มโฟลว์ของสนามบินให้คล่องตัว ลดคอขวด และยกระดับขีดความสามารถของสนามบินในอีกทางหนึ่งด้วย