ทัวร์นอก3แสนล้านระส่ำ สงครามราคาทุบธุรกิจพัง

แฟ้มภาพ

ธุรกิจทัวร์เอาต์บาวนด์ 3 แสนล้านระส่ำ ! สงครามราคาพ่นพิษ “เฟสติวัล ฮอลิเดย์” โฮลเซลรายใหญ่ตลาดยุโรป “ขาดสภาพคล่อง” ลอยแพ 60 บริษัทเอเย่นต์-ลูกทัวร์ วงในเผยสะเทือนทั้งระบบ “เอมิเรตส์-เตอร์กิช” โดนหางเลข “ทีทีเอเอ” ประชุมด่วนรับมือ เชื่อไม่กระทบเที่ยวนอกปลายปี

“ทัวร์เอาต์บาวนด์” ระส่ำ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เกิดปัญหาช็อกวงการทัวร์ครั้งใหญ่ เมื่อบริษัทนำเที่ยวตลาดเอาต์บาวนด์ (คนไทยเที่ยวนอก) กว่า 60 บริษัท ได้รับผลกระทบจากกรณีบริษัท เฟสติวัล ฮอลิเดย์ จำกัด บริษัทโฮลเซลทัวร์รายใหญ่เส้นทางยุโรปไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ ทำให้ลูกทัวร์ที่ซื้อแพ็กเกจทัวร์จากบริษัทนำเที่ยวที่ขายโปรแกรมให้กับบริษัทโฮลเซลใหญ่รายนี้ได้รับผลกระทบ ทั้งที่เดินทางไปแล้วแต่ไม่มีโรงแรมและบริษัทนำเที่ยวประสานงานในต่างประเทศรองรับ ส่วนที่เดินทางท่องเที่ยวแล้วแต่ไม่มีบัตรโดยสารเครื่องบินขากลับ และส่วนที่กำลังจะเดินทาง รวมมูลค่าความเสียหาย ณ ขณะนี้ร่วม 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวเป็นของนายคมสัน ประสมศรี ซึ่งระบุว่าเป็นนายกผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยระหว่างประเทศ (TTI) อย่างไรก็ตาม สมาคมดังกล่าวไม่ได้มีบทบาทอะไร

แหล่งข่าวจากบริษัทนำเที่ยวรายหนึ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ทำลายวงจรธุรกิจนำเที่ยวครั้งใหญ่และครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย และทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในวงการทัวร์เอาต์บาวนด์ค่อนข้างหนัก เนื่องจากเป็นปัญหาระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) คือเป็นปัญหาระหว่างบริษัทโฮลเซล ซึ่งเป็นคนทำโปรแกรมนำเที่ยวกับบริษัทนำเที่ยว หรือเอเย่นต์ที่เป็นฝ่ายขาย ซึ่งกระทบต่อธุรกิจทั้งระบบ จากปกติที่ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจะเป็นกรณีบริษัทนำเที่ยวกับผู้ซื้อโดยตรง (B2C) หรือกรณีที่ลูกทัวร์ซื้อแพ็กเกจแล้วไม่สามารถเดินทางได้เป็นหลักปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ส่งผลให้บริษัทนำเที่ยวทั้งรายใหญ่และรายเล็กกว่า 60 บริษัทดังกล่าว ซึ่งเป็นตัวกลางการทำการตลาดได้รับผลกระทบอย่างหนัก บางรายเสียหายกว่า 10 ล้านบาท และที่น่าเป็นห่วงคือบริษัทนำเที่ยวขนาดเล็กที่มีเงินทุนไม่มาก และไม่สามารถดูแลลูกทัวร์แทนโฮลเซลได้ อาจเกิดปัญหาถึงขั้นปิดตัวไปในที่สุด

“ตอนนี้บริษัทเอเย่นต์ที่ขายทัวร์ให้โฮลเซลรายนี้ต้องรับหน้าเสื่อ ควักกระเป๋าดูแลลูกทัวร์กันเอง ทั้งค่าจ้างบริษัทประสานงานในต่างประเทศ ค่าโรงแรมที่พัก ค่าตั๋วเครื่องบินขากลับ ฯลฯ รวมทั้งทำความเข้าใจกับลูกค้าที่กำลังจะเดินทาง และที่อยู่ในโปรแกรมการเดินทาง ซึ่งบางส่วนต้องรับผิดชอบคืนเงินลูกทัวร์” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

ช่องโหว่ กฎหมายคุมไม่ถึงโฮลเซล

ปัญหาจากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ที่ใช้อยู่ไม่ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจที่เป็นโฮลเซล ทำให้ภาครัฐไม่สามารถจัดการกับผู้กระทำผิดได้แต่อย่างใด และที่สำคัญ ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบกับบริษัททัวร์ในประเทศไทยเท่านั้น สายการบินต่างชาติที่ให้บริการเส้นทางบินยุโรป อาทิ เอมิเรตส์, เตอร์กิช แอร์ไลน์ ฯลฯ ต่างก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้เป็นมูลค่าไม่น้อยเช่นกัน เนื่องจากสายการบินเหล่านี้ให้เครดิตเทอมกับบริษัทโฮลเซลใหญ่รายนี้ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของวงการธุรกิจทัวร์ไทยโดยตรงด้วยเช่นกัน

ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทนำเที่ยวขนาดกลางรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทโฮลเซลใหญ่รายนี้ยอมรับว่าบริษัทขาดสภาพคล่องทางการเงินจริง ทำให้ไม่สามารถหมุนเงินได้ทัน จึงไม่ได้นำเงินที่ได้รับจากบริษัทนำเที่ยวต่าง ๆ ไปจ่ายค่าโรงแรมที่พัก บริษัทประสานงานในต่างประเทศ ทำให้เกิดปัญหาขึ้น

สงครามราคาทัวร์ถูกพ่นพิษ

“ปัญหาใหญ่ที่ผ่านมาของวงการทัวร์เอาต์บาวนด์ คือ บริษัทโฮลเซลต่าง ๆ เน้นทำแพ็กเกจทัวร์ราคาถูกมาขาย เน้นเรื่องวอลุ่มมากกว่าคุณภาพ ทำให้เกิดการแข่งขันราคาอย่างหนัก บวกกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของตลาด รวมถึงพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ทำให้วอลุ่มการขายที่เคยทำได้ปริมาณมากเริ่มลดลง เมื่อขายไม่หมด โฮลเซลก็ปล่อยราคาทัวร์ไฟไหม้ออกมาเร่งปิดยอดกรุ๊ป ส่งผลให้รายได้ไม่เป็นไปตามเป้าและนำไปสู่การขาดสภาพคล่อง”

ผู้บริหารรายนี้กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นบทเรียนให้วงการธุรกิจท่องเที่ยวว่าควรทำธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานของมาตรฐานราคาที่สมเหตุสมผล เลิกแข่งขันด้านราคาจนสร้างผลกระทบต่อภาพรวมของวงจรธุรกิจทั้งระบบอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ด้านนายเอนก ศรีชีวะชาติ ประธาน บริษัท ยูนิไทย แทรเวล จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย ยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้รับผลกระทบจากกรณีนี้เช่นกัน และอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ในเบื้องต้นบริษัทจำเป็นต้องให้การดูแลลูกทัวร์ที่ได้รับผลกระทบก่อน รวมถึงยอมคืนเงินให้กับลูกทัวร์ที่ไม่ประสงค์จะเดินทางก่อน เนื่องจากบริษัทเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับลูกทัวร์

TTAA เรียกสมาชิกหารือด่วน

ขณะที่นายธนพล ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) สมาคมที่ดูแลตลาดทัวร์เอาต์บาวนด์กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมทีทีเอเอรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบกับวงจรธุรกิจท่องเที่ยวเอาต์บาวนด์ของไทยทั้งระบบ โดยเฉพาะบริษัททัวร์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการตัวกลางในการทำการตลาดและเป็นฟันเฟืองสำคัญในการกระตุ้นและขับเคลื่อนธุรกิจท่องเที่ยวขณะที่ผู้บริโภคก็ได้รับผลกระทบทางอ้อมเช่นกัน

โดยสมาคมเตรียมเชิญสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องประชุมหารือและหาแนวทางแก้ไขปัญหาในวันที่ 29 ตุลาคมนี้ ซึ่งแนวทางที่บริษัทนำเที่ยวต้องปฏิบัติในเวลานี้ คือ การทำความเข้าใจกับลูกทัวร์ หากลูกทัวร์ประสงค์จะขอคืนเงินก็ต้องจ่ายเงินคืนเต็มจำนวน หรือหากประสงค์จะเดินทางต่อ บริษัททัวร์ก็จำเป็นต้องหาบริษัทโฮลเซลรายใหม่มารองรับ เพื่อให้ลูกทัวร์ได้เดินทางท่องเที่ยวตามโปรแกรมที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ตามมองว่าประเด็นปัญหาดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงกับบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของกลุ่มคนไทยในช่วงปลายปีนี้แต่อย่างใด โดยคาดว่าจำนวนคนไทยเที่ยวนอกปีนี้น่าจะทะลุ 11 ล้านคน และมีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 3.3 แสนล้านบาท ตามเป้าที่วางไว้ตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่ายังคงเป็นปัจจัยบวกต่อเนื่องตลอดทั้งปี