“แอร์ไลน์-โรงแรม” หืดจับ ดิ้นหั่นต้นทุน-ลดตัวเลขขาดทุน

จากรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 9.7 ล้านคน ขยายตัว 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ซึ่งเป็นการเติบโตที่ดีขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกที่มีการเติบโต 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เป็นผลจากการฟื้นตัวของกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 1 ของไทยที่เติบโต 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

จากแนวโน้มดังกล่าวนี้ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมามีจำนวน 29.4 ล้านคน เติบโตเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ขณะที่ตลาดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย มีจำนวน 116.3 ล้านคนครั้ง เติบโตเพิ่มขึ้น 1%

บินไทยขาดทุน 2.8 พันล้าน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจการบินและโรงแรมดูเหมือนจะยังไม่กระเตื้องนักโดยในส่วนของธุรกิจสายการบินพบว่า ส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาการขาดทุน โดย”การบินไทย” นั้นมีรายได้สำหรับไตรมาส 3 ปี 2562 รวม 45,016 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 2,937 ล้านบาท หรือลดลง 6.1% ขณะที่รายได้จากค่าโดยสารและค่าน้ำหนักส่วนเกิน 35,339 ล้านบาท ลดลง 3,155 ล้านบาทหรือลดลง 8.2% ทำให้บริษัทการบินไทยและบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงาน 2,842 ล้านบาท

ตัวเลขขาดทุนดังกล่าวเป็นการขาดทุนที่ต่ำกว่าปีก่อน 1,092 ล้านบาท หรือ 27.8%ส่งผลให้ผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมา มีรายได้รวม 137,316 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11,342 ล้านบาท หรือ 7.6% และขาดทุนสุทธิ 11,102 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 7,066 ล้านบาท

“ไทยแอร์เอเชีย” เร่งเครื่อง Q4

ขณะที่ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ผู้ถือหุ้นใหญ่ “ไทยแอร์เอเชีย” รายงานผลดำเนินงานสำหรับไตรมาส 3 ของปี 2562ว่า AAV มีรายได้รวม 9,661.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวของปีก่อน

ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 10,143.9 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 3% ส่งผลให้ขาดทุนรวม 416.6 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนตัวเลข 9 เดือนแรกที่ผ่านมาพบว่า “เอเชีย เอวิเอชั่น” มีรายได้รวม 31,219.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 และมีผลดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 401.9 ล้าน

“สันติสุข คล่องใช้ยา” ซีอีโอไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า สำหรับในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ไทยแอร์เอเชียจะยังเดินหน้าต่อไปตามแผนที่วางไว้ และเชื่อว่าจะสามารถสร้างผลประกอบการที่ดียิ่งขึ้นในฤดูกาลท่องเที่ยวที่สำคัญ พร้อมรับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ

“นกแอร์” สัญญาณดีขาดทุนลด

ด้าน “นกแอร์” ระบุว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/62 มีรายได้รวม 4,357.84 ล้านบาท (รวมบริษัทย่อย) ขาดทุนสุทธิ 1,093.16 ล้านบาท หากไม่รวมบริษัทย่อยมีรายได้รวม 2,783.67 ล้านบาท ลดลง 2.79% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขาดทุนสุทธิ 489.86 ล้านบาท ลดลง 49.70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีการขาดทุนอยู่ที่ 973.79 ล้านบาท และใน 9 เดือนแรกของปี 2562 บริษัทมีการขาดทุนอยู่ที่ 1,240.95 ล้านบาท ลดลง 29.02% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีการขาดทุนอยู่ที่ 1,748.47 ล้านบาท

“วุฒิภูมิ จุฬางกูร” ซีอีโอนกแอร์ให้ข้อมูลว่า ปัจจัยที่ทำให้บริษัทมีการขาดทุนลดลง เนื่องจากสามารถบริหารจัดการต้นทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถลดต้นทุนต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแผนการลดค่าใช้จ่ายตามแผนการฟื้นฟูธุรกิจ นอกจากนี้ยังลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ตามแผน ทำให้ต้นทุนต่อปริมาณผู้โดยสารได้ลดลงด้วย

“บางกอกแอร์เวย์ส” โชว์กำไร

สำหรับสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” รายงานว่า ในไตรมาส 3/2562 บริษัทมีรายได้รวม 4,531.4 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 65.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยเป็นผลมาจากการเติบโตของรายได้ของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบินและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

รวมถึงรายได้ที่ไม่ได้แบ่งตามสายธุรกิจ และค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ของธุรกิจสายการบินที่ปรับลดลงส่วนผลประกอบการ 9 เดือนแรก มีรายได้รวมอยู่ที่ 20,540.2 ล้านบาท ลดลง 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยยังคงขาดทุนสุทธิ 121.3 ล้านบาท

กลุ่มโรงแรมรายได้-กำไรลด

สำหรับกลุ่มธุรกิจโรงแรมนั้นพบว่า ส่วนใหญ่ยังมีตัวเลขกำไรสุทธิที่ลดลง โดยกลุ่ม “โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา” ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2562 มีรายได้รวม 4,964.7 ล้านบาท ลดลง 356.9 ล้านบาท หรือ 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 215 ล้านบาท ลดลง 226.7 ล้านบาท หรือ 51.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561

และหากดูตัวเลขช่วง 9 เดือนแรกพบว่า มีรายได้รวม 15,833.3 ล้านบาท ลดลง520.8 ล้านบาท หรือ 2.6% และมีกำไรสุทธิ 1,273.3 ล้านบาทลดลง 523.2 ล้านบาท หรือ 24.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลดลงของกลุ่มธุรกิจโรงแรม

ขณะที่กลุ่ม “ดิ เอราวัณ กรุ๊ป” นั้นรายงานว่า ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มีรายได้ 1,509 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5%และมีกำไรสุทธิ 43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ทั้งนี้ เป็นผลจากรายได้ธุรกิจโรงแรมซึ่งเป็นรายได้หลักเพิ่มขึ้น ขณะที่ตัวเลข 9 เดือนพบว่ามีรายได้รวม 4,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% มีกำไรสุทธิ 270 ล้านบาท ลดลง 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วน “ดุสิตธานี” ระบุว่า ในไตรมาส 3/2562 มีรายได้รวม 1,621 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 501 ล้านบาท หรือ 44.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 299 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากธุรกิจอาหารเป็นหลัก ทั้งนี้ หากดูเฉพาะธุรกิจโรงแรมพบว่ามีรายได้ลดลง214 ล้านบาท หรือลดลง 21.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน และหากดูตัวเลข 9 เดือนพบว่า มีรายได้รวม 4,316 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% และมีกำไรสุทธิ 339 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 211 ล้านบาท หรือ 60.7% อย่างไรก็ตาม หากดูเฉพาะธุรกิจโรงแรมก็ยังมีรายได้ลดลงรวม 549 ล้านบาท หรือ 16.5%

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ล้วนเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลก การแข่งขันในตลาดที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในธุรกิจสายการบินและโรงแรม ที่พัก รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่า และความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคของโลกที่ยังคงส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย เนื่องจากทำให้ค่าใช้จ่ายในการมาเที่ยวเมืองไทยมีต้นทุนที่สูงขึ้น