“โบอิ้ง” ชี้ธุรกิจการบินอาเซียนรุ่ง ชูธง “ไทย-อินโด-เวียดนาม” ศักยภาพสูง

ภาพ Reuters

“โบอิ้ง” ประกาศโฟกัสตลาด “อาเซียน” ชี้เป็นตลาดทำเงินอันดับหนึ่งของโบอิ้ง เผย “ไทย-อินโดฯ-เวียดนาม” ตลาดเป้าหมายสำคัญที่มีปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจการบินขยายตัว ชี้เทรนด์การพัฒนาเครื่องบินตอบโจทย์สายการบิน “โลว์คอสต์” เน้นเพิ่มจำนวนที่นั่งมากขึ้น ให้คุ้มค่าต่อเที่ยวบิน

ดร.ดิเนช เกชกัร รองประธานอาวุโสฝ่ายการตลาดภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและฝ่ายขายประจำอินเดีย บริษัท โบอิ้ง คอมเมอร์เชียล แอร์เพลน เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดการบินโลกในช่วง 20 ปีข้างหน้า (ปี 2017-2036) โบอิ้งจะให้ความสำคัญกับตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนเป็นอันดับแรก เนื่องจากความต้องการเดินทางโดยเครื่องบินในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นมาก

ขณะที่ประเทศจีนเป็นตลาดอันดับสองที่จะสร้างรายได้ให้โบอิ้ง ขณะที่เทรนด์ธุรกิจการบินทั่วโลกไปในทิศทางเดียวกัน คือการเติบโตและการแข่งขันของสายการบินโลว์คอสต์ โดยเฉพาะในประเทศตลาดเกิดใหม่

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นตลาดเป้าหมายสำคัญ โดยเฉพาะประเทศไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย นอกจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงการปรับกฎระเบียบด้านการบินต่าง ๆ ให้ผ่อนคลายมากขึ้น และนโยบายต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ทำให้ธุรกิจการบินได้อานิสงส์ด้วย เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของประเทศไทย โครงการก่อสร้างสนามบินใหม่ 6 แห่งของเวียดนาม และการปรับปรุงสนามบิน 27 แห่งทั่วประเทศของอินโดนีเซีย เพื่อรองรับเที่ยวบินจากต่างประเทศ

“ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของโลว์คอสต์แอร์ไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฉลี่ยมากกว่า 10% ขณะที่ภูมิภาคอื่น ๆ การเติบโตอยู่ในอัตราตัวเลขหนึ่งหลักเท่านั้น และจากผลวิจัยของโบอิ้งประเมินว่า ในระยะ 20 ปีข้างหน้า อัตราการเติบโตธุรกิจการบินในภูมิภาคนี้จะสูงถึง 7.2% ต่อปี ส่วนประเทศจีนเฉลี่ยอยู่ที่ 6.3% ต่อปี”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นความท้าทายของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือปัญหาปริมาณเครื่องบินโดยสาร รวมถึงเครื่องบินคาร์โก้ที่ให้บริการไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น 2-3 เท่าในปัจจุบัน นอกจากนี้ปัจจัยของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น 56% นับจากต้นปี 2016 จนถึงปัจจุบัน รวมถึงความไม่แน่นอนของค่าเงินในหลายประเทศในภูมิภาคส่งผลกระทบต่อราคาต้นทุนในธุรกิจการบิน

ดร.เกชกัรกล่าวเพิ่มเติมว่า ผลวิจัยประเมินว่าในช่วง 20 ปี ตลาดอาเซียนจะมีการซื้อเครื่องบินใหม่ประมาณ 4,210 ลำ เพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ทิศทางการพัฒนาเครื่องบินของโบอิ้งจะเน้นการพัฒนานวัตกรรมทันสมัยมากขึ้น และการตอบโจทย์สายการบินโลว์คอสต์ที่เน้นการเพิ่มจำนวนที่นั่งมากขึ้น ประหยัดน้ำมันมากขึ้น น้ำหนักเบา เพื่อให้คุ้มค่าการบินต่อเที่ยว รวมถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 20% เป็นต้น

สำหรับในปีนี้คาดตลาดการบินทั่วโลกจะมีการเติบโตราว 7% ด้วยมูลค่าประมาณ 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ