“ซอฟต์โลน” อุ้มท่องเที่ยว มาตรการหรูดูดี…แต่เข้าไม่ถึง

สัมภาษณ์

เป็นที่รับรู้กันว่าภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทันทีที่รัฐบาลจีนประกาศปิดเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของไวรัสร้ายตัวนี้ ขณะที่ภาครัฐเองก็พร้อมจัดมาตรการช่วยเหลือมาเป็นระยะ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ได้มีมติเห็นชอบให้ออกมาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวในลอตแรก

จากนั้นยังทยอยออกมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการมาเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบกู้ในอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี รวมถึงมาตรการให้แบงก์ออมสินปล่อยเงินกู้ซอฟต์โลน วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท โดยให้ยื่นกู้ได้วงเงินไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ 2% ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อให้สามารถดำเนินการตามมาตรการ

เร่งด่วนของรัฐบาล

หรือมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลยังออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีออกมาอีกระลอกใหญ่ เพื่อเยียวยาธุรกิจและรักษาการจ้างงานของผู้ประกอบการ ทั้งให้พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน และให้สินเชื่อใหม่วงเงิน 5 แสนล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี พร้อมฟรีดอกเบี้ย 6 เดือนแรกอีกด้วย

เรียกว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ออกมานั้นน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ประกอบการมีเงินสดเข้ามาหมุนเวียนสร้างสภาพคล่องได้ไม่น้อยทีเดียว

ล่าสุด “ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทุกครั้งที่มีมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือมติ ครม.ออกมา ภาคธุรกิจท่องเที่ยวมีกำลังใจที่จะรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นทุกครั้ง เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่ม

แรกนับตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม

กระทั่งผ่านเดือนกุมภาพันธ์, มีนาคม จนถึงวันนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ หรือซอฟต์โลนดังกล่าวเลย เนื่องจากธนาคารใช้เกณฑ์การปล่อยกู้เดียวกับผู้ประกอบการรายใหญ่อื่น ๆ ขณะที่ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวกว่า 80-90% เป็นบริษัทขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์การพิจารณาของสถาบันการเงิน

“ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ทางกลุ่มผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพได้สะท้อนและให้ข้อมูลกับหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวฯ รวมถึงประสานงานและเจรจากับทางกระทรวงการคลังและสถาบันการเงินต่าง ๆ ไปตั้งนานแล้ว และขอร้องให้สถาบันการเงินผ่อนเกณฑ์หรือปลดล็อกกฎระเบียบบางอย่างลง เพื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีหรือขนาดเล็ก สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้บ้าง แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่สำเร็จ”

“ชัยรัตน์” บอกว่า ยอมรับว่ามาตรการที่ออกมาตามมติ ครม. ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมานั้นถือว่าตอบโจทย์ภาคท่องเที่ยวค่อนข้างมาก กล่าวคือ มีพักชำระหนี้ พักดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือน และยังมีวงเงินกู้ซอฟต์โลนอะไรต่าง ๆ อีก 5 แสนล้านบาท แต่ปัญหาสำหรับภาคธุรกิจท่องเที่ยวอย่างเดียว คือ ทำอย่างไรที่สถาบันการเงินจะลดเงื่อนไขให้กลุ่มเอสเอ็มอีท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงซอฟต์โลนได้จริง ๆ สักที

“หากดูมาตรการรอบนี้มีวงเงินกู้ซอฟต์โลนถึง 5 แสนล้านบาท และยังขยายวงเงินให้ผู้ประกอบการกู้สูงสุดไม่เกิน 500 ล้านบาทนั้นถือว่าดีมาก เปิดกว้างมาก ซึ่งแน่นอนว่าการตั้งวงเงินปล่อยกู้หลัก 100 ล้านบาท 500 ล้านบาทนั้นก็น่าจะมีเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่ ๆ เท่านั้นที่เข้าถึง เพราะระดับนั้นเข้าเกณฑ์การปล่อยกู้ของสถาบันการเงินอยู่แล้วหลักฐานเขาครบ มีหลักทรัพย์ ส่วนเอสเอ็มอีท่องเที่ยวก็คงเข้าไม่ถึงอยู่ดีนั่นแหละ ทั้ง ๆ ที่คนที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ ผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ที่ต้องการเงินไปเสริมสภาพคล่อง 5 ล้านบาท 10 ล้านบาท”

“ชัยรัตน์” บอกอีกว่า มาตรการที่ออกมานั้นล้วน “สวยหรู” แต่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวเข้าไม่ถึง ดังนั้น สิ่งที่ภาคท่องเที่ยวเป็นห่วงตอนนี้ไม่ใช่ประเด็นว่าจะมีวงเงินให้กู้ 1 หมื่นล้านบาท หรือ 5 แสนล้านบาท หรือรัฐเข้ามาช่วยรับภาระดอกเบี้ยหรือรับภาระหนี้สินเทน แต่ห่วงว่าทำอย่างไรที่จะทำให้กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว
สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ก่อนที่จะหมดลมหายใจกันไปก่อน เพราะตอนนี้ส่วนใหญ่ก็ไม่ไหวกันหมดแล้ว

โดยประเด็นที่ยังคงเรียกร้องจากภาครัฐต่อไป คือ เรื่องของการปลดล็อกหรือผ่อนเกณฑ์ในการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน โดยขอให้ปรับลดเกณฑ์ลง เช่น จาก 10 ข้อให้เหลือสักครึ่งหนึ่งได้หรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของเครดิตบูโร, งบการเงินที่มีกำไร 3 ปีซ้อนนั้นขอยกเว้นได้หรือไม่ หรือลดมาเป็นงบการเงิน 3 ปีย้อนหลังให้มีกำไรสัก 1 ปีได้หรือไม่

นอกจากนี้ คือแผนการตลาด เพราะตอนนี้ผู้ประกอบการไม่มีความสามารถทำแผนการตลาดได้ เนื่องจากยังไม่รู้ว่าการแพร่ระบาดจะจบลงเมื่อไหร่ ขอเป็นรายการแสดงต้นทุนการดำเนินงานที่แต่ละบริษัทต้องแบกรับอยู่ในขณะนี้ เข้าไปเป็นส่วนในการพิจารณาแทนได้หรือไม่ ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องใบทะเบียนการค้ามีการจ่ายภาษีที่ถูกต้อง มีธุรกิจที่ชัดเจน เพียงแค่นี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว เพื่อผ่อนปรนให้เอสเอ็มอีระดับเล็ก ๆ เข้าถึงได้บ้าง

“เงินซอฟต์โลนนี้คือ การกู้ เอามาแล้วก็ต้องจ่ายคืน ไม่ใช่เงินแจก คนที่มีเครดิตธุรกิจพออยู่ได้เขาก็ไม่อยากเป็นหนี้ หรือไม่ก็ขอกู้เท่าที่จำเป็น หรือต้องการใช้เท่านั้น ถ้าเขาต้องการ 3 ล้านหรือ 5 ล้าน ให้เขา 20 ล้านเขาก็ไม่ต้องการ จะเอามาเก็บไว้ทำไม ต้องมาจ่ายดอกเบี้ย 2% ต่อปี หลังจากนั้น MLR +3.5 เอามาถ้าไม่จำเป็นต้องใช้ก็ตายเหมือนกัน”

พร้อมย้ำว่า ณ เวลานี้สำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวแล้วขอแค่ 3 ล้านบาท 5 ล้านบาท ก็ช่วยให้เขาสามารถประคับประคองธุรกิจให้เดินต่อไปได้แล้ว แค่นี้ทำไมถึงไม่ช่วยกันบ้าง หรือจะปล่อยให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยว
ทยอยปิดกิจการไปเอง !