ทอท.ชี้ปี”63ผู้โดยสารลดฮวบ ปั้นยอดคาร์โก้-เซอร์ติฟายฮับ

ทอท.ทำใจยอดผู้โดยสารใช้บริการสนามบินทั้ง 6 แห่งปี”63 ลดลงกว่าครึ่งคาดหดเหลือราว 66 ล้านคน ย้ำอุตฯการบินต้องปรับรับนิวนอร์มอล เว้นระยะห่าง-เลิกแข่งขันด้วยราคา รุกปั้นธุรกิจคาร์โก้-เซอร์ติฟายฮับ นำสินทรัพย์ออกหารายได้ พร้อมเร่งลดผลกระทบพันธมิตรผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

นายศิโรตม์ ดวงรัตน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานยุทธศาสตร์ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่ออุตสาหกรรมการบินและผลประกอบการของบริษัท เนื่องจากประเทศไทยมีประกาศปิดน่านฟ้า ไม่อนุญาตให้สายการบินอื่นบินเข้าสู่ประเทศไทย และการลดเที่ยวบินของสายการบินภายในประเทศ เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารต่อวันที่ลดลงไปประมาณ 99%

นายศิโรตม์กล่าวว่า ปกติจำนวนผู้โดยสารเข้าออก 6 สนามบิน ในสังกัด ทอท. คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, ภูเก็ต, เชียงใหม่, หาดใหญ่ (สงขลา) และแม่ฟ้าหลวง (เชียงราย) มีจำนวนรวมกันมากกว่า 420,000 คนต่อวัน แต่หลังจากประเทศจีนประกาศงดการเดินทางจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรง ในวันที่ 25 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ทำให้จำนวนผู้โดยสารในเดือนกุมภาพันธ์ลดลงเหลือเพียง 300,000 คนต่อวัน และก่อนที่การแพร่ระบาดจะขยายสู่ภูมิภาคอื่น ๆ และรัฐบาลไทยเริ่มกำหนดให้ผู้โดยสารต่างชาติต้องมีใบรับรองแพทย์และผู้โดยสารไทยจะต้องมีฟิตทูฟลาย (fit to fly) ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงอีก โดยเหลือเพียง 150,000 คนต่อวัน และทันทีที่ประเทศไทยประกาศปิดน่านฟ้าไม่อนุญาตให้สายการบินต่างชาติบินเข้า จำนวนผู้โดยสารก็ลดลงเหลือเพียง 7,000 คนต่อวัน ก่อนจะลดลงเหลือ 2,000-3,000 คนต่อวันในปัจจุบัน

“แม้จำนวนผู้โดยสารโดยรวมจะลดลงมากกว่า 90% แต่เที่ยวบินนั้นลดลงน้อยกว่าเล็กน้อย เนื่องจากหลายสายการบินมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารลดลงเรื่อย ๆ และในหลายเที่ยวบินเหลือเพียง 10% เท่านั้น โดย ทอท.คาดว่าเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ 2563 ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ จำนวนเที่ยวบินจะลดลงจากปีงบประมาณ 44% และจำนวนผู้โดยสารจะลดลง 53% หรือมีจำนวนราว 66 ล้านคน” นายศิโรตม์กล่าว

นายศิโรตม์กล่าวต่อไปว่า สำหรับอุตสาหกรรมการบินนั้นมองว่าจะมีความปกติใหม่ (new normal) เช่นเดียวกับธุรกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ไม่ว่าจะเป็นบนเครื่องบิน หรือในสนามบิน นอกจากนี้ การแข่งขันทางด้านราคาก็คงจะหมดไป เนื่องจากสายการบินต้องเพิ่มค่าตอบแทนต่อหัว เมื่อต้องจำหน่ายตั๋วโดยสารแบบที่นั่งเว้นที่นั่ง ทำให้อัตราการบรรทุกผู้โดยสารลดลงขณะที่ต้นทุนคงเดิม

ขณะที่คนทำงานในอุตสาหกรรมการบินเองก็จะต้องปรับตัวให้เข้ากับกฎระเบียบใหม่ ๆ มากขึ้น เพื่อรองรับความปกติใหม่เกิดขึ้นและเป็นไปตามประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่มีข้อกำหนดเรื่องแนวปฏิบัติต่าง ๆ ออกมาให้เห็นมากขึ้น

สำหรับ ทอท.นั้น นายศิโรตม์กล่าวว่า บริษัทมีแผนหาธุรกิจใหม่เข้ามารองรับ เพื่อทดแทนกับสถานการณ์ผู้โดยสารที่ลดน้อยลง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาธุรกิจคาร์โก้ที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าการขนส่งผู้โดยสาร โดยในช่วงที่ผ่านมาลดลงเพียงแค่ 40% เท่านั้น จากจำนวนเที่ยวบินคาร์โก้ราว 150 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ สัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึงกว่า 350 เที่ยวบิน

นอกจากนี้ยังมีเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารที่กลายเป็นเที่ยวบินคาร์โก้อีกกว่า 400 เที่ยวนอกจากนั้น ทอท.ยังมีโครงการจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (certify hub) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้าและรับรองก่อนส่งออก ลดปัญหาการตีกลับของสินค้า ทำให้เสียต้นทุนโดยเปล่าประโยชน์ที่มักจะเกิดขึ้นจากการขนส่งสินค้าไปสู่ภูมิภาคยุโรป พร้อมทั้งเล็งนำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ และทำกิจกรรมใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น

“วิกฤตครั้งนี้ค่อนข้างจะหนักหน่วงสำหรับอุตสาหกรรมการบิน สำหรับ ทอท.เองก็ต้องปรับตัวมองความเสี่ยงใหม่ ซึ่งทุกการก้าวเดินต่อไปก็จะต้องระมัดระวังมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกับพอร์ตการลงทุนขององค์กร หรือส่วนตัวขณะเดียวกัน เรามีความพยายามอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือพันธมิตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกรายให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด” นายศิโรตม์กล่าว