แบงก์บล็อกบัญชีบินไทย เร่งเจรจาเจ้าหนี้ต่างชาติ

บินไทยป่วน แบงก์กรุงไทยสั่งบล็อกบัญชี กระทบพนักงาน นักบินลูกเรือ เผยเตรียมพร้อมเปิดน่านฟ้าบินเส้นทางใน-ต่างประเทศที่ปรึกษากฎหมายแบ่งทีมเร่งเจรจาเจ้าหนี้ใหญ่ 200 ราย ให้เห็นชอบคำร้องและผู้ทำแผน ก่อนศาลไต่สวน 17 ส.ค.นี้ ขณะที่ทบทวนแผนยื่นศาลสหรัฐ

แหล่งข่าวระดับสูงจาก บมจ.การบินไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้การบริหารงานภายในของการบินไทยค่อนข้างสับสน เนื่องจากทุกอย่างอยู่ในขั้นตอนกระบวนการของการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลายกลาง ความชัดเจนในความไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ การสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ใหม่ รวมถึงคณะกรรมการติดตามการฟื้นฟูที่จะเข้ามากำกับดูแลการทำงานของบอร์ดให้เป็นไปตามกระบวนการฟื้นฟู ทั้งนี้ เริ่มเห็นสัญญาณว่าอาจมีปัญหาเกี่ยวกับสภาพคล่อง โดยเฉพาะกระแสเงินสดในการดำเนินธุรกิจ จ่ายเงินเดือน และค่าตอบแทนพนักงาน ขณะเดียวกันแม้จะมีความพร้อมกลับมาทำการบินทั้งเส้นทางในประเทศ ต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและประเทศปลายทางจะอนุญาตให้ทำการบินได้เมื่อใด

ป่วนแบงก์กรุงไทยสั่งบล็อกบัญชี

ล่าสุดวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารพันธมิตรได้บล็อกการจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง หรือ perdiem ให้กับนักบินและลูกเรือที่ทำการบินเที่ยวบินพิเศษรับผู้โดยสารจากต่างประเทศกลับไทยโดยไม่มีการแจ้งรายละเอียด ซึ่งโดยปกติค่าเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวนี้ การบินไทยจะโอนเงินไปฝากไว้ที่ธนาคารกรุงไทย แล้วให้ธนาคารกรุงไทยทำการโอนจ่ายให้กับนักบินและลูกเรือเมื่อทำการบิน เมื่อมีการทวงถาม ธนาคารกรุงไทยแจ้งว่าธนาคารมีคำสั่งให้ปิดการโอนจ่ายเงินให้กับลูกเรือและนักบินการบินไทย เนื่องจากแบงก์กรุงไทยในฐานะหนึ่งในสถาบันการเงินเจ้าหนี้ทราบว่าการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูและศาลรับคำร้องแล้ว ทำให้การบินไทยต้องเปลี่ยนมาจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางผ่านซองเงินเดือนแทน

ยันพร้อมเปิดบิน ตปท. 1 ก.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทมีแผนชัดเจนแล้วว่าการบินไทยพร้อมจะกลับมาให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศได้ วันที่ 1 ก.ค.นี้ หากได้รับอนุญาตให้ทำการบินได้ เบื้องต้นมีแผนใช้เครื่องบินทำการบินในช่วงเริ่มต้นตั้งแต่เดือน ก.ค.-ต.ค.นี้ จำนวน 30-40 ลำ สำหรับให้บริการเส้นทางบินทั้งในภูมิภาคอาเซียน เอเชีย เป็นลำดับแรก จากนั้นจึงขยายไปเส้นทางอื่น อาทิ เกาหลี, ญี่ปุ่น, ลอนดอน (อังกฤษ) เป็นต้น

“ตอนนี้เราเตรียมพร้อมแล้วทั้งเรื่องเส้นทางทางการบิน การตลาด รอเพียงแค่มาตรการประเทศปลายทางว่า พร้อมเปิดให้สายการบินต่าง ๆ บินเข้าได้หรือยัง รวมถึงมาตรการของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ด้วย แต่มั่นใจว่าหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียจะปลดล็อกให้สายการบินต่างชาติบินเข้าไปได้แล้ว ขณะที่ในฝั่งยุโรปอาจยังต้องรออีกระยะ”

เจ้าหนี้ใหญ่ 200 ราย

แหล่งข่าวกล่าวว่า หลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูการบินไทย ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนวันที่ 17 ส.ค. 2563 กระบวนการหลังจากนี้ในส่วนของที่ปรึกษากฎหมาย บจ.เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จะต้องส่งสำเนาคำร้องขอแก่เจ้าหนี้ทั้งหมด รวมทั้งเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อให้เห็นชอบกับคำร้องขอฟื้นฟูและผู้ทำแผน เพื่อให้เจ้าหนี้ส่วนใหญ่เห็นชอบ รวมทั้งเห็นรายชื่อผู้ทำแผนของ บมจ.การบินไทย ที่ยื่นต่อศาล

ทั้งนี้ จากงบการเงินไตรมาส 1/2563 บมจ.การบินไทยที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง สินทรัพย์รวม 349,636 ล้านบาท และหนี้สิน 354,494 ล้านบาท จะเห็นว่าตัวเลขหนี้สินทรัพย์และทรัพย์สินเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนล้านบาท จากงบการเงินงวดสิ้นปี 2562

การบินไทยถือเป็นคดีฟื้นฟูกิจการที่มีจำนวนเจ้าหนี้สูงมากถึง 14 ล้านราย เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มสมาชิกรอยัล ออคิด พลัส (ROP) กว่า 4 ล้านราย ที่สะสมไมล์ซึ่งสามารถเรียกร้องสิทธิ์ รวมทั้งกลุ่มของผู้ที่ซื้อตั๋วการบินไทยไว้ล่วงหน้าและยังไม่สามารถบินได้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มเจ้าหนี้รายใหญ่มีประมาณ 200 ราย ครอบคลุมหนี้ 80-90% ของมูลหนี้ทั้งหมด

โดยเจ้าหนี้รายใหญ่ คือ สถาบันการเงินต่างประเทศ 21 ราย ที่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องบิน และบริษัทต่างประเทศที่เป็นผู้ให้เช่าเครื่องบินกับการบินไทย รวมทั้งสถาบันการเงินในประเทศที่เป็นผู้ปล่อยกู้ และสหกรณ์ออมทรัพย์ 82 ราย ที่เป็นผู้ลงทุนซื้อหุ้นกู้ของการบินไทย

แบ่งทีมเจรจาเจ้าหนี้

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในส่วนของทีมกฎหมายจะแบ่งทีมเจรจากับเจ้าหนี้กลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้เจ้าหนี้เห็นชอบกับคำร้องและรายชื่อผู้ทำแผนก่อนจะนัดไต่สวน 17ส.ค. ซึ่งตามประกาศของศาลล้มละลายกลาง หากเจ้าหนี้ประสงค์คัดค้าน ให้ยื่นคำคัดค้านก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่า 3 วัน มิฉะนั้นถือว่าไม่คัดค้าน

ทั้งนี้ ศาลล้มละลายกลางได้รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ บมจ.การบินไทย เมื่อ 27 พ.ค. 2563 สำหรับชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการที่ บมจ.การบินไทย เสนอให้ศาลพิจารณารวม 6 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด และกรรมการบริษัทอีก 5 ราย ได้แก่ 1.พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการ 2.นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (รักษาการ) 3.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 4.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ 5.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

ส่งอีเมล์ถึงเจ้าหนี้ 14 ล้านราย

กระบวนการจากนี้จะต้องส่งสำเนาคำร้องไปยังเจ้าหนี้ทั้งหมด แต่เนื่องจากเป็นคดีฟื้นฟูกิจการที่มีเจ้าหนี้มากถึง 14 ล้านคน ขั้นตอนนี้จึงจะมีการส่งสำเนาคำร้องให้กับเจ้าหนี้ ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดกับศาลล้มละลายกลางสัปดาห์หน้า ซึ่งคดีนี้ถือเป็นคดีแรกที่ใช้วิธีการส่งคำร้องให้เจ้าหนี้ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล์) โดยวันที่ 25 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา นายณรงค์ กลั่นวารินทร์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง ออกข้อกำหนด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 แก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดคดีล้มละลายให้เหมาะสมและสะดวกรวดเร็วขึ้น เที่ยงธรรม โดยให้การติดต่อระหว่างศาลล้มละลายกับศาลอื่น คู่ความ เจ้าพนักงานพิทักษ์ เจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้เกี่ยวข้องในคดีอาจทำได้ทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ

ทบทวนแผนยื่นศาลสหรัฐ

นอกจากนี้ จากที่เดิมการบินไทยมีแผนจะยื่นขอฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายล้มละลายสหรัฐ เพื่อให้ภาวะการพักชำระหนี้ (automatic stay) ครอบคลุมทุกประเทศ โดยเฉพาะเครื่องบินในกรณีที่ให้บริการโดยสารไปยังจุดหมายปลายทางประเทศต่าง ๆ แต่จากที่มีการหารือกับฝ่ายต่าง ๆ ได้มีการพิจารณาทบทวนแผน เนื่องจากการยื่นขอฟื้นฟูกิจการในศาลสหรัฐจะมีต้นทุนสูง รวมทั้งกระบวนการยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งอาจจะเปลี่ยนไปใช้การเจรจากับเจ้าหนี้แต่ละประเทศแทน

“วิษณุ” นัดถกเช็กมูลค่าหนี้ให้ชัด

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า คณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บมจ.การบินไทย ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้นัดหารือร่วมกับที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุน และ บมจ.การบินไทย เกี่ยวกับความคืบหน้าหลังจากศาลล้มละลายกลางมีมติรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และนัดไต่สวนครั้งแรก 17 ส.ค. 2563 โดยจะเร่งประชุมให้ได้ภายในต้นเดือน มิ.ย.นี้ ประเด็นที่คณะกรรมการต้องการทราบ 1.จำนวนมูลหนี้ทั้งหมดของการบินไทยอยู่ที่เท่าไหร่ เพราะเดิมรายงานว่ามีมูลหนี้รวมภาระดอกเบี้ย 219,198 ล้านบาท แต่ภายหลังมูลหนี้เพิ่มเป็น 354,494 ล้านบาท

2.กระบวนการหลังศาลล้มละลายรับคำร้องว่าดำเนินการครบถ้วนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย 2483 หรือไม่ และจะกำชับให้การบินไทยเร่งรายงานให้เจ้าหนี้ทั้งในและต่างประเทศรับทราบถึงคำสั่งศาล รวมถึงต้องนัดเจรจานอกรอบให้เจ้าหนี้ทั้งหมดเข้ามาอยู่ในกระบวนการของศาลไทย เพื่อไม่ให้เกิดการยื่นคัดค้านกระบวนการฟื้นฟูภายหลัง

“ปัญหาสภาพคล่องของการบินไทย สถานการณ์ตอนนี้ถือว่าเปลี่ยนไป จากแผนฟื้นฟูเดิมที่ให้คลังค้ำประกันเงินกู้ก้อนแรก 54,000 ล้านบาท และเพิ่มทุนภายหลังอีก 80,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่บอร์ดการบินไทยจะต้องหาทางกู้เงินจากสถาบันทางการเงินเอง เพื่อมาบริหารสภาพคล่องเฉพาะหน้าที่อยู่ได้ถึงเดือน มิ.ย.”

กลับมาบินระหว่างประเทศยาก

ส่วนการกลับมาทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศอีกครั้ง ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะกลับมาบินในเดือน ก.ค.นี้จริงหรือไม่ หากกลับมาทำการบินในช่วงที่เข้าแผนฟื้นฟูอาจเสี่ยง เพราะการบินไทยมีสินทรัพย์ในต่างประเทศอยู่หลายแห่ง เช่น อาคารสำนักงาน เป็นต้น อาจจะถูกเจ้าหนี้ในประเทศต้นทางยื่นศาลท้องถิ่นขอพิทักษ์ทรัพย์ได้

“การบินไทยควรพิจารณาเส้นทางที่จะทำการบินให้ดี และต้องสำรวจสินทรัพย์ในประเทศต่าง ๆ ว่ามีอะไรบ้าง แล้วยื่นขอคุ้มครองสินทรัพย์เหล่านั้นต่อศาลท้องถิ่นในแต่ละประเทศ โดยแนบคำสั่งของศาลล้มละลายประกอบไปด้วย”

ขอหยุดบินนอกยาวถึง ก.ย.

ขณะที่นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า การบินไทยยังไม่ได้ขออนุญาตกลับมาเปิดเส้นทางเพื่อทำการบินปกติแต่อย่างใด โดยเส้นทางต่างประเทศได้งดบินยาวถึง 30 ก.ย. ส่วนภายในประเทศทราบแบบไม่เป็นทางการว่า การบินไทยจะขอกลับมาบินอีกครั้ง แต่จะเร็วกว่าเส้นทางต่างประเทศที่ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าจะกลับมาบินเมื่อไหร่ โดยจะให้ บจ.ไทยสมายล์แอร์เวย์ บริษัทลูกบินเส้นทางภายในประเทศทุกเส้นทางไปก่อน แต่ต้องรอส่งหนังสือแจ้ง กพท.อย่างเป็นทางการ

“ไทยสมายล์” เริ่มบิน 1 มิ.ย.

ด้านแหล่งข่าวจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า ไทยสมายล์แอร์เวย์ได้ขอกลับมาทำการบินเส้นทางภายในประเทศอีกครั้ง 1 มิ.ย.นี้ ใน 5 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.กรุงเทพฯ-ขอนแก่น 2.กรุงเทพฯ-อุดรธานี 3.กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี 4.กรุงเทพฯ-กระบี่ และ 5.กรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี วันละ 1 ไฟลต์ไป-กลับ

แบงก์ตั้งสำรองเพิ่ม 5 พันล้าน

ด้านแหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเปิดเผยว่า ในส่วนของสถาบันการเงินเจ้าหนี้ภายในประเทศ อาทิ ธนาคารกรุงไทย เจ้าหนี้รายใหญ่ รองลงมาคือธนาคารออมสิน ส่วนธนาคารพาณิชย์ก็มีเป็นเจ้าหนี้อยู่ด้วย แต่วงเงินไม่มาก อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ กสิกรไทย ต้องรีบประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) เพื่อรายงานถึงภาวะหนี้สินที่สูงกว่าทุน 5,000 ล้านบาทของการบินไทย เพื่อตั้งสำรองเพิ่มเติม ซึ่งก่อนหน้านี้ เจ้าหนี้ไม่ทราบรายละเอียดส่วนนี้มาก่อน ทำให้มีการตั้งสำรองไปเฉพาะหนี้เงินกู้และหุ้นกู้ที่ถือครองอยู่เท่านั้น คือ ธนาคารออมสินรวม 5,000 ล้านบาท และธนาคารกรุงไทย 6,000 ล้านบาท

ตลท.แจงไม่มีเหตุต้องพักซื้อขาย

ด้านนายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยกรณีศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย (THAI) เมื่อ 27 พ.ค. 63 และ ตลท.ขึ้นเครื่องหมาย C หุ้นการบินไทย เมื่อ 28 พ.ค.ว่า หุ้นที่ขึ้นเครื่องหมาย C (caution) หรือต้องเฝ้าระวังนั้น จะต้องซื้อด้วยบัญชี “cash balance” โดยให้ลูกค้าวางเงินสดไว้ล่วงหน้าเต็มจำนวนก่อนซื้อหลักทรัพย์ จนกว่าจะแก้เหตุดังกล่าวได้ ส่วนที่ไม่ขึ้นเครื่องหมาย SP หรือห้ามซื้อขายหลักทรัพย์นั้น ปัจจุบันหุ้นการบินไทยไม่ได้เข้าข่ายเหตุต้องขึ้นเครื่องหมาย SP อันได้แก่ การไม่นำส่งงบการเงินภายในระยะเวลาที่กำหนด การไม่แสดงข้อมูลสำคัญต่อผู้ลงทุน หรือการเข้าข่ายถูกพิจารณาเพิกถอน เป็นต้น

เล็งส่ง “ชาติชาย” เสียบบอร์ด

ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวว่า กรณีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ลาออกจากกรรมการ บมจ.การบินไทยนั้น ขณะนี้มีการพิจารณาจะเสนอตั้ง นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน แทน โดยต้องรอให้นายชาติชายครบวาระดำรงตำแหน่งที่ธนาคารออมสิน 14 มิ.ย.นี้ก่อน