ดัชนี “ท่องเที่ยวไทย” ดีดกลับ ชี้ “อินเดีย-อเมริกาใต้” มาแรง !

จากการจัดอันดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางด้านการท่องเที่ยวของประเทศต่าง ๆ ของ World Economic Forum ในปี 2560 พบว่า ภาพรวมความสามารถในการแข่งขันของไทยปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยอยู่ในอันดับที่ 34 ของโลกจากทั้งหมด 136 ประเทศ

โดยด้านที่มีขีด ความสามารถในการแข่งขันดีคือ ทรัพยากรทางธรรมชาติ (อันดับ 7) และโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว (อันดับ 16)

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นตามการปรับตัวของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน และความเชื่อมั่น เช่นเดียวกับเศรษฐกิจภายในประเทศไทย ที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจโลกและการเร่งลงทุนของ ภาครัฐตามแผนงบประมาณปี 2561

ดัชนี้เชื่อมั่นดีต่อเนื่อง

“อิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 3/2560 ว่า เท่ากับ 98 ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงปกติ จากการที่มีความกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจในประเทศ

โดยปัจจัยที่ยังกดดัน ภาคการท่องเที่ยวมาโดยตลอด ได้แก่ ต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นและการแข่งขันที่รุนแรง อีกทั้งการเป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยวรวมถึงผู้ประกอบการบางส่วนได้รับผลกระทบ จากการเกิดภัยพิบัติ โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า ในไตรมาส 4 นี้ดัชนีความเชื่อมั่นจะเท่ากับ 103 เป็นการคาดการณ์ในระดับปกติอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังคงมองสถานการณ์ในไตรมาสหน้าในเชิงบวก

นักท่องเที่ยวทะลุ 35 ล้านคน

โดย คาดว่า หากไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติใด ๆ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 4 นี้ประมาน 9.15 ล้านคน เพิ่มขึ้น 17.76% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่มอาเซียน 2.43 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.4% นักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออก 3.89 ล้านคน เพิ่มขึ้น 34.6% และนักท่องเที่ยวจากยุโรป 1.58 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.64% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ คาดว่าตลอดทั้งปี 2560 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยรวม 35.39 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.59% จากปี 2559 และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.84 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12.49%

“ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติยังสามารถขยายตัวได้ดี ด้วยบรรยากาศในประเทศที่เอื้อต่อการเดินทางท่องเที่ยว พร้อมกับแผนการตลาดเชิงรุกจากหน่วยงานภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง”

แนวโน้ม “ไทยเที่ยวไทย” ซบ

สำหรับ ตลาดไทยเที่ยวไทยนั้น นักท่องเที่ยวไทยมีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในไตรมาส 3/2560 ประมาณ 20% ต่ำกว่าสัดส่วนในระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4 พบว่านักท่องเที่ยวไทยวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพียง 25% คิดเป็นเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับในปี 2559 แต่เป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่ามากหากเทียบกับช่วงปี 2556-2558

โดยคาดว่า เกิดจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ยังคงซบเซา ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวไทยยังระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยและการเดินทาง ท่องเที่ยว

“อินเดีย-อเมริกาใต้” มาแรง

ด้าน “วิชิต ประกอบโกศล” นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ประเมินว่า จากการคาดการณ์ของสมาคมแอตต้าพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทาง เข้ามาในประเทศไทยปีนี้จะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 35 ล้านคน โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4 นี้ภาพรวมการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องใน ทุก ๆ ตลาด

โดยในตลาดยุโรปพบว่าปีนี้มีชาร์เตอร์ไฟลต์ขอเปิดเส้นทาง บินเข้าประเทศไทยในประมาณที่มากกว่าปีที่แล้วอย่างชัดเจน โดยเฉพาะจากประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย และยุโรปตะวันออก และก็ยังเชื่อว่าจะเป็นกลุ่มที่ยังเติบโตต่อเนื่องในปีหน้าตลาดเอเชีย โดยเฉพาะตลาดจีนนั้นหลังจากที่ชะลอการเดินทางไปเล็กน้อยในช่วงปลายปี 2559 แต่พบว่าตั้งแต่ต้นไตรมาส 3 ปีนี้กระแสการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยของตลาดจีนเริ่มปรับตัวดี ขึ้น และก็พบว่าในช่วงปลายปีนี้ก็มีชาร์เตอร์ไฟลต์จากหลายเมืองของจีนขอเปิดเส้น ทางบินเข้าประเทศไทยเช่นกัน

ขณะที่เกาหลีก็ยังดีต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดว่าจะขยายตัวที่ 14.15% เช่นเดียวกับญี่ปุ่น อเมริกา ที่ยังคงเติบโตดี ส่วนตลาดที่หน้าจับตาคือ อินเดีย ที่คาดว่าปีน่าจะอยู่ที่ราว 1.3 ล้านคน และตลาดอเมริกาใต้ ซึ่งที่ผ่านมา ททท.ก็ทำตลาดเชิงรุกมากขึ้น

สำหรับ ตลาดอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ก็ยังพบว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังเติบโตดี ที่ผ่านมาเวียดนามเติบโตที่ 11.82% ฟิลิปปินส์ เติบโต 13% อินโดนีเซีย เติบโต 8.1% เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ผู้ประกอบการต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ ค่าเงินบาท หากค่าเงินยังคงแข็งค่าต่อเนื่องอาจมีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยระยะ ยาวได้