ต่อเวลา “เราเที่ยวด้วยกัน” ไม่ตอบโจทย์ขอ “เปิดประเทศ” กระตุ้น

เราเที่ยวดัวยกัน

ยังไม่ตอบโจทย์ ! ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (ศบศ.) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีมติขยายเวลาโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และ “กำลังใจ” ให้คนไทยสามารถเดินทางท่องเที่ยวโดยรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่าย 40% (ค่าโรงแรม ตั๋วเครื่องบินรวมถึงค่าอาหาร ค่าบริการสถานที่ท่องเที่ยว) ไปจนถึง 31 มกราคม 2564

พร้อมขยายเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวไปจนถึง 31 มีนาคม 2564 จากเดิมที่ทั้ง 2 โครงการนี้จะสิ้นสุด 31 ตุลาคมนี้

มาตรการเดินหน้าแค่ 30%

โดย 2 โครงการดังกล่าวที่ดำเนินการภายใต้งบประมาณรวม 22,400 ล้านบาทนั้น มีผู้เข้าร่วมไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จากตัวเลข ณ วันที่ 4 ตุลาคม 2563 พบว่า มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ทั้งหมด 5.27 ล้านคน มีผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 1,406,808 ล้านคืน (จากเป้าหมาย 5 ล้านคืน) รัฐสนับสนุน 1,537.2 ล้านบาท มียอดใช้จ่ายผ่าน e-Voucher 916.4 ล้านบาท รัฐสนับสนุน 345.7 ล้านบาท มีจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ตั๋วเครื่องบิน 51,753 สิทธิ์รัฐสนับสนุน 43.9 ล้านบาท

ขณะที่โครงการ “กำลังใจ” ซึ่งเป็นโครงการพา อสม.เที่ยวฟรีผ่านบริษัทนำเที่ยวภายใต้งบประมาณ 2,000 บาท ต่อคน พบว่า มีบริษัทนำเที่ยวเข้าร่วมโครงการ 3,959 บริษัท มีนักท่องเที่ยวเข้าร่วม 379,771 คน มีสัดส่วนรัฐสนับสนุน 759.54 ล้านบาท

แหล่งข่าวในธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่งวิเคราะห์ให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่าหากประเมินจากตัวเลขดังกล่าวนี้จะพบว่า ทั้ง 2 โครงการยังห่างไกลเป้าหมายมาก โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการทั้ง 2 โครงการราว 30%และมีสัดส่วนงบประมาณที่รัฐบาลสนับสนุนไปเพียงแค่ประมาณ 3,000 ล้านบาทเท่านั้น หรือคิดเป็นประมาณ 13-14% ของงบประมาณทั้งหมด

เอื้อรายใหญ่ได้ประโยชน์

ทั้งนี้ มองว่าประเด็นที่เป็นอุปสรรคของโครงการคือ ความสะดวกในการเข้าร่วมโครงการ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยว

“รัฐควรยอมรับความจริงว่าหลักการเดิม ๆ ได้รับความสนใจจากคนไทยเพียงแค่บางกลุ่ม หรือคนที่มีเงินในกระเป๋า ขณะเดียวกันยังเป็นโครงการที่ช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายใหญ่เท่านั้น”

“ธนพล ชีวรัตนพร” นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เห็นด้วยกับการขยายเวลาทั้ง 2 โครงการออกไป และยอมรับว่าเป็นประโยชน์ต่อคนไทย และมีส่วนช่วยกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศได้

แต่ส่วนตัวยังมองว่าโครงการดังกล่าว ออกมาช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยวเพียงบางกลุ่ม เช่น โรงแรม, สายการบิน เท่านั้น ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทนำเที่ยว, มัคคุเทศก์, รถเช่า(รถตู้, รถบัส), เรือ ฯลฯ ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเลยตั้งแต่ต้น

นอกจากนี้ โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ยังไม่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้ครบทุกกลุ่มอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ มีเวลาเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดา แต่เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเดินทางด้วยตัวเองได้ มีความต้องการผู้ช่วยในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทนำเที่ยว,มัคคุเทศก์ ฯลฯ

ฟันเฟืองท่องเที่ยวยังหมุนไม่ครบ

“ธนพล” บอกด้วยว่า สมาคม สทน.คงต้องเดินหน้านำเสนอรูปแบบการกระตุ้นการเดินทางใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ทุกเซ็กเตอร์ ฟันเฟืองทุกตัวของวงจรธุรกิจท่องเที่ยวเดินหน้าได้

“ที่ผ่านมาเราได้พยายามเสนอให้รัฐพิจารณาสนับสนุนให้คนไทยเที่ยวผ่านบริษัททัวร์ โดยให้บริษัทนำเที่ยวซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐทำแพ็กเกจนำเที่ยวเสนอให้รัฐพิจารณาและสนับสนุนงบฯ 40% ให้กับคนที่สนใจซื้อแพ็กเกจทัวร์เช่นเดียวกับที่รัฐสนับสนุนค่าโรงแรม-ที่พัก, ค่าอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว และค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ”

พร้อมย้ำว่า การสนับสนุนให้คนไทยเที่ยวด้วยการซื้อแพ็กเกจทัวร์ผ่านบริษัททัวร์เป็นวิธีที่ทำให้ธุรกิจทุกเซ็กเตอร์ได้รับการดูแลทั่วถึงอย่างแท้จริง

“ที่สำคัญ เราอยากให้กระตุ้นกลุ่มที่ยังไม่ออกมาท่องเที่ยว มีโอกาสได้ออกมาท่องเที่ยวให้มากขึ้นด้วย ไม่ใช่กระตุ้นอยู่แต่กลุ่มเดิม ๆ ซึ่งก็เห็นแล้วว่ากลุ่มเดิม ๆ ก็เริ่มกระตุ้นไม่ขึ้นแล้ว”

แนะออกโครงการใหม่กระตุ้น

สอดรับกับ “ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร” รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ที่บอกว่าส่วนตัวมองว่าหากประเมินจากกระแสการตอบรับเข้าร่วมมาตรการทั้ง 2 โครงการแล้ว การขยายมาตรการออกไปอีก 3 เดือน ก็ไม่น่าจะบรรลุเป้าหมายเพราะเสียงตอบรับมีเท่านี้ ที่สำคัญกลุ่มที่ได้ประโยชน์ก็ยังคงเป็นกลุ่มเดิม ๆ กลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงก็คงยังเข้าไม่ถึงต่อไป

ดังนั้น การขยายเวลาโครงการออกไปก็ไม่น่าจะตอบโจทย์ในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ยังไม่ตอบโจทย์ในแง่การช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วย

“จริง ๆ โครงการที่ไม่เดินหน้าเมื่อสิ้นสุดแล้วก็ควรจบโครงการไป หากงบเหลือก็มาคิดโครงการใหม่ วิธีการใหม่ออกมากระตุ้นต่อไป เพื่อให้คนกลุ่มใหม่ ๆได้เข้าถึงมาตรการใหม่ ๆ”

ขอความชัดเจน “เปิดประเทศ”

“ดร.วสุเชษฐ์” บอกอีกว่า ล่าสุดนี้ทาง สทท.ยังมีแผนเตรียมนำเสนอขอให้ภาครัฐกำหนดทิศทางและความชัดเจนสำหรับการเปิดประเทศรับนักเดินทางและนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มให้ชัดเจน ทั้งกระบวนการ ขั้นตอนในการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่ม

อาทิ นักเดินทางท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มจะเข้ามาได้เมื่อไหร่ เข้ามารูปแบบไหน ต้องใช้วีซ่าแบบไหน กลุ่มไหนมาได้ก่อน กลุ่มไหนยังคงต้องรอ

เพราะปัจจุบันข้อมูลที่ออกมานั้นล้วนเป็นแค่กระแส สัมผัสข้อเท็จจริงไม่ได้ ทำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องไม่สามารถวางแผนธุรกิจได้…