หวั่นโควิดทุบเศรษฐกิจ (อีกรอบ) ชี้ธุรกิจถึงจุดต่ำสุด-หมดแรงต้าน

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA)
สัมภาษณ์

เผชิญกับวิกฤตโควิดครั้งแล้วครั้งเล่าสำหรับภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยนับตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ที่ธุรกิจท่องเที่ยวทุกเซ็กเตอร์ต้องปิดให้บริการชั่วคราวกันยาวถึง 2-3 เดือน ที่สำคัญขณะที่ธุรกิจเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมานั้น โควิดระลอกใหม่ก็กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563

สถานการณ์ในวันนี้คือ ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศกำลังเริ่มฟื้นนั้น ก็ต้องมาชะงักอีกครั้งเมื่อเกิดการแพร่ระบาดโควิดคลัสเตอร์สถานบันเทิงหลายแห่งในกรุงเทพฯและปริมณฑล เมื่อ 5 เมษายนมาซ้ำเติมอีกครั้ง

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ถึงการประเมินสถานการณ์ของธุรกิจโรงแรม ผลกระทบ รวมถึงแนวทางเสนอแนะต่อภาครัฐต่อการบริหารจัดการและมาตรการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในครั้งนี้ไว้ดังนี้

สัญญาณยกเลิกห้องพักมาแล้ว

“มาริสา” บอกว่า การกลับมาแพร่ระบาดอีกระลอก หรือระลอก 3 ของไวรัสโควิดครั้งนี้เป็นอะไรที่น่าห่วงมาก เพราะกลับมาเกิดขึ้นท่ามกลางความหวังของกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่คาดว่าธุรกิจน่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้บ้างในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเป็นเดือนที่มีวันหยุดจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ 10-15 เมษายนนี้

“ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เราพบว่าเริ่มมีการยกเลิกการจองห้องพักในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์บ้างแล้ว แต่สัดส่วนยังไม่มากนัก ส่วนร้านอาหารที่ให้บริการในโรงแรมยังพอมีลูกค้าอยู่บ้าง ขณะที่ธุรกิจการจัดเลี้ยงนั้นส่วนใหญ่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ยอดจองห้องต่ำอยู่แล้ว เพราะคนทยอยออกเดินทางต่างจังหวัด ดังนั้น จึงต้องรอประเมินหลังเทศกาลสงกรานต์อีกครั้ง”

วอนรัฐอย่าคุม “เหมารวม”

“มาริสา” บอกด้วยว่า ในฐานะนายกสมาคมโรงแรมไทย อยากเสนอว่าท่ามกลางการแพร่ระบาดครั้งนี้ อยากให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาใช้มาตรการรับมือด้วยความระมัดระวัง เหมาะสม สอดรับกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก ไม่ตื่นตระหนกหรือไม่ใช้มาตรการเดียวกันในทุกพื้นที่

ยกตัวอย่างกรณีที่มีข่าวว่าจะกำหนดให้ร้านอาหารในกรุงเทพฯ ปิดให้บริการในเวลา 21.00 น.นั้น ในความเป็นจริงแล้วร้านอาหารหรือห้องจัดเลี้ยงในโรงแรมมีมาตรฐานการให้บริการและมาตรฐานด้านความปลอดภัยตามข้อกำหนดของสาธารณสุขอยู่แล้ว จึงไม่ควรถูกเหมารวมไปด้วย เพียงแต่กำชับให้ทุกคนทุกฝ่ายระมัดระวัง และยึดปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องการรักษาระยะห่าง การดูแลตัวเอง เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจในภาพรวมสามารถเดินต่อไปได้ ไม่อยากให้หยุดหรือสะดุดเหมือนที่ผ่านมา

ยันเที่ยวได้-ยึดมาตรฐาน SHA

นอกจากนี้ ยังควรสื่อสารว่าประเทศไทยยังสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ พร้อมย้ำแนวปฏิบัติว่าต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรฐานความปลอดภัยของสาธารณสุข โดยเน้นให้เข้าพักในโรงแรมที่ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ SHA : Amazing Thailand Safety and Health Administration ที่ปัจจุบันมีอยู่ถึง 3,152 โรงแรมทั่วประเทศ

“สถานะของผู้ประกอบการโรงแรมในวันนี้เราไม่สามารถต้านทานและอยู่ได้แน่ ๆ หากธุรกิจต้องปิดตัวชั่วคราว หรือล็อกดาวน์กันอีกครั้ง เพราะตอนนี้ธุรกิจเดินมาถึงจุดต่ำสุด หรือ bottom out แล้ว” มาริสาย้ำ

ถึงจุดต่ำสุด-หมดแรงต้าน

พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ที่บอกว่าหากเกิดการแพร่ระบาดใหญ่อีกระลอก และรัฐใช้มาตรการเหมือนเดิมธุรกิจโรงแรมอาจต้านทานไม่ไหวอีกต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมาธุรกิจเปิดยังไม่ทันจะมีรายได้พอดูแลพนักงานก็ต้องปิดชั่วคราว

โดยเมื่อเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภาพรวมการท่องเที่ยวนิ่งเงียบมากแต่ทุกคนกัดฟันทนขาดทุนเพื่อกลับมาเปิดโรงแรมกันอีกครั้ง ส่วนเดือนมีนาคมพอมีรายได้เข้ามาหมุนเวียนบ้าง แต่ยังไม่ทันจะมีกำไรก็ต้องมาเจออีกครั้ง เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงทำรายได้สำหรับตลาดคนไทยเที่ยวไทย

“วันนี้สถานการณ์โรงแรมมีความไม่แน่นอนเยอะ การกลับมาทยอยเปิดให้บริการก็ทำกันด้วยความระมัดระวังในแง่ของค่าใช้จ่าย ปัญหาคือทุกโรงแรมต้องรักษาระดับมาตรฐานการบริการไว้ภายใต้การบริหารต้นทุนที่ต่ำสุดอยู่แล้ว และก็คงลดต่ำลงไปกว่านี้ไม่ได้แล้วเช่นกัน”

แนะเร่งฉีด “วัคซีน”

นายกสมาคมโรงแรมไทยยังย้ำด้วยว่าสิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้คือ รัฐบาลควรเร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้ประชาชนคนไทยให้เร็วที่สุด เพราะวัคซีนคือความหวังเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย และเป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจอยู่รอดต่อไปได้

และควรเปิดให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมและนำเข้า เพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนไทยที่มีกำลังซื้อลงทุนฉีดเองอีกช่องทางหนึ่งด้วย


ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมเดินหน้าต่อได้ และไม่เกิดการเลิกจ้างงานกันอีกระลอกใหญ่เหมือนที่ผ่านมา