แนะกลยุทธ์เชิง “ธุรกิจ-นโยบาย”

ท่องเที่ยว

เป็นที่แน่นอนว่าหลังวิกฤตโควิด-19 ภาคการท่องเที่ยวจะไม่กลับมาเหมือนเดิม ทั้งในส่วนของรูปแบบการท่องเที่ยว การทำธุรกิจ รวมถึงพฤติกรรมการท่องเที่ยว

“ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด” ผอ.แผนงานยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาสำหรับการท่องเที่ยวไทยหลังโควิด-19 บอกว่า จากงานวิจัยครั้งนี้พบว่าหลังโควิดธุรกิจท่องเที่ยวจะเกิดภาพที่ชัดเจน 4 เรื่อง คือ

1.นักท่องเที่ยวจะให้ความสนใจในสิ่งที่คุ้นเคยและเชื่อถือได้

2.มีความเป็นส่วนตัว เลี่ยงพื้นที่แออัด เดินทางเป็นกลุ่มเล็กลง

3.ติดตามตัวได้ทุกเวลา

และ 4.จะเห็นทุนใหญ่กว้านซื้อกิจการมากขึ้น

ดังนั้น ธุรกิจท่องเที่ยวต้องเตรียมพร้อมในเชิงยุทธศาสตร์ธุรกิจและนโยบาย โดยในเชิงธุรกิจต้องมองการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจแพลตฟอร์ม ต้องมีความรู้เรื่องของการใช้เทคโนโลยี และต้องสร้างความหลากหลายของซัพพลายด้านท่องเที่ยว

ส่วนในเชิงนโยบายต้องลดการพึ่งพาการท่องเที่ยวโดยไม่ลดรายได้จากการท่องเที่ยว ด้วยการพัฒนาฐานรากทั้งหมดให้ใหญ่ขึ้น กระจายการลงทุนและบริหารลงท้องถิ่น และปรับแนวทางการลงทุนด้านการท่องเที่ยวตามความเสี่ยงและผลตอบแทน

ด้านข้อเสนอแนะ “ดร.มิ่งสรรพ์” บอกว่า อยากให้รัฐเน้นการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้เศรษฐกิจท่องเที่ยว พัฒนาแพลตฟอร์มท่องเที่ยว บูรณาการและพัฒนาท่องเที่ยว อาหาร การแพทย์ และเศรษฐกิจฐานราก กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น

รวมถึงใช้มาตรการการคลังเข้ามาช่วย มีกองทุนที่มาจากการเก็บภาษีนักท่องเที่ยวเพื่อใช้เมื่อเกิดปัญหา สนับสนุนการใช้สื่อออนไลน์ทำให้สินค้าท่องเที่ยวเป็น all time product และออกพันธบัตรเพื่อสร้างกองทุนรับซื้อหนี้ของธุรกิจเอกชน

ด้าน “ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์” ผู้อำนวยการแผนการศึกษาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย มองว่าการปรับตัวของภาคการท่องเที่ยวหลังโควิดนั้นจะปรับทุกระดับ ตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับผู้ประกอบการ และระดับชุมชน

เช่น ในระดับนโยบายต้องเน้นที่การช่วยเหลือเยียวยา ฟื้นฟู ส่งเสริม และสนับสนุนธุรกิจให้สอดคล้องกับความปกติใหม่ที่เกิดขึ้น อาทิ การส่งเสริมสังคมไร้เงินสดในแหล่งท่องเที่ยว เพื่อลดการแพร่เชื้อโควิด การส่งเสริมธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้เติบโตมากขึ้น ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมใหม่ในแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น

หรือบริษัทนำเที่ยวเป็นกลุ่มที่ต้องปรับตัวอย่างหนัก เพราะรูปแบบการเดินทางของนักท่องเที่ยวเปลี่ยน หรือธุรกิจสายการบินต้องหันมาโฟกัสเรื่องการบริหารจัดการโครงสร้างเงินทุนกันใหม่

อีกส่วนที่ต้องปรับตัวแน่ ๆ คือ ภาคชุมชนที่ต้องทำให้มีมาตรฐานในด้านการให้บริการที่เพิ่มขึ้นตามมาตรฐานของสาธารณสุข รวมถึงนักท่องเที่ยวก็ต้องปรับตัว โดยเลือกรูปแบบการเดินทางที่มีความปลอดภัยเช่นกัน

ขณะที่ “ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์” เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ย้ำว่า สิ่งแรกที่ต้องให้ความสำคัญคือ เรื่องของ “วิชั่น เซ็นทริก” เพื่อสร้างให้การท่องเที่ยวเกิดความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ

ส่วนการกำหนดนโยบาย รัฐบาลต้องดูทั้งส่วนของดีมานด์และซัพพลาย โดยในส่วนของดีมานด์นั้น หากจะเปิดประเทศต้องดูเรื่องของแทรเวลบับเบิลสำหรับประเทศที่มีความพร้อมเพื่อแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยว ต่อมาคือ ประเมินกลุ่มลูกค้าที่มีความเป็นไปได้ ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับเงื่อนไขซึ่งกันและกัน

นอกจากนี้ ยังมองว่าจุดเด่นเรื่อง value for money destination ยังเป็นตัวสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศ และขับเคลื่อนตลาดอินเดียในอนาคตให้ขยับเข้ามาใกล้เคียงกับตลาดจีน รวมถึงใช้จุดเด่นเรื่องของเวลเนสมุ่งจับตลาดกลุ่มเวลเนสและกลุ่มเกษียณอายุ

ส่วนด้านซัพพลายนั้นจากนี้ไปต้องโฟกัสใน 4 เรื่องหลัก คือ 1.มาตรการด้านการเงิน การคลัง 2.ยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย ทั้งระบบการบริหารจัดการและบุคลากร 3.มาตรการ
ด้านเปิดประเทศ และ 4.มาตรการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย

ยกตัวอย่าง เช่น มาตรการด้านการเงิน การคลัง รัฐต้องดำเนินการเรื่องมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ พักชำระหนี้, ปรับโครงสร้างด้านภาษีธุรกิจท่องเที่ยวที่มีความซ้ำซ้อนและให้สิทธิพิเศษผู้ประกอบการนำเที่ยวอินบาวนด์เหมือนธุรกิจส่งออกที่เคลมภาษี VAT, มีระบบการเคลมภาษีนักท่องเที่ยวที่สะดวกรวดเร็ว เป็นต้น