ทีเส็บหนุนไทยขึ้นฮับไมซ์โลก ดึงเมกะอีเวนต์อินเตอร์บูม “ไมซ์ซิตี้” ทั่วประเทศ

MICE

“ทีเส็บ” ขานรับนโยบายเปิดประเทศ เร่งสื่อสารความพร้อมประเทศไทยชิงโอกาสฮับธุรกิจไมซ์ระดับโลก ชูบริการ MICE LANE-MICE IMMIGRATION ณ สนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-ภูเก็ต อำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ เดินหน้าดึงงานเมกะอีเวนต์โลกเข้ามาจัดในประเทศ เตรียมเสนอ ครม.สัญจร จ.กระบี่ 15 พ.ย.นี้ เข้าร่วมประมูล 3 งานใหญ่งบฯลงทุนกว่า 1 ล้าน พร้อมทุ่มงบฯสนับสนุนการจัดงานในประเทศ เสริมศักยภาพเมืองไมซ์ซิตี้

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บมีนโยบายพัฒนาศักยภาพเมืองไมซ์ หรือไมซ์ซิตี้ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ธุรกิจไมซ์เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายและเศรษฐกิจในประเทศ รวมทั้งยกระดับมาตรฐานและเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยให้รองรับการเติบโตของนักเดินทางไมซ์จากทั่วโลก จากนโยบายเปิดประเทศเต็มรูปแบบโดยไม่กักตัวของรัฐบาล

จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ

เร่งสื่อสารชิงโอกาสธุรกิจไมซ์

นายจิรุตถ์กล่าวว่า ทีเส็บพร้อมเต็มที่สำหรับขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย โดยได้เร่งทำการสื่อสารผ่านสำนักงานตัวแทนการตลาดทั่วโลกถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับการจัดงานไมซ์ทุกเซ็กเตอร์จากทั่วโลกแล้ว หลังจากที่รัฐบาลทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเป็นระยะ และพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประเทศเสี่ยงต่ำจาก 46 ประเทศ ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป

รวมทั้งได้ร่วมกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสำหรับให้บริการช่องเข้าเมืองพิเศษ MICE LANE และช่องตรวจเอกสารการเข้าเมืองพิเศษ MICE IMMIGRATION LANE ณ สนามบินหลักของประเทศไทยจำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินภูเก็ต เพื่อให้บริการและอำนวยความสะดวก หรือ one stop service สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ที่เดินทางเป็นกรุ๊ปด้วย อีกทั้งยังเป็นการยกระดับการแข่งขันในระดับประเทศด้วย

“การที่รัฐบาลประกาศให้ 46 ประเทศเดินทางเข้าในพื้นที่ 17 จังหวัดได้โดยไม่กักตัวนั้น ถือเป็นการช่วงชิงโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่ได้เดินหน้าทำการตลาดไปยังทั่วโลกก่อนประเทศอื่น ๆ ขณะเดียวกันเรายังให้ความสำคัญในด้านการสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยในด้านสุขอนามัยด้วย เพราะเชื่อว่าในอนาคตคนที่มีแผนการเดินทางจะไม่เลือกเพียงแค่เรื่องของเดสติเนชั่นเท่านั้น แต่จะให้ความสำคัญในด้านสุขอนามัยที่ดีด้วย” นายจิรุตถ์กล่าวและว่า ทั้งนี้ในเบื้องต้นทีเส็บจะโฟกัสกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มเกษียณอายุ กลุ่มลักเซอรี่ และกลุ่มนักเดินทางเพื่อธุรกิจ

ดึงเมกะอีเวนต์จัดในไทย

นายจิรุตถ์กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันทีเส็บยังเตรียมเดินหน้าประมูลงานเมกะอีเวนต์จากทั่วโลกเข้ามาจัดในประเทศไทยในอนาคต โดยล่าสุดได้เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร (ครม.สัญจร) จังหวัดกระบี่ วันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ เพื่ออนุมัติงบประมาณให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลกจำนวน 3 งาน

งบฯการจัดงานรวมกันกว่า 1 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย งานพืชสวนโลก 2026 อุดรธานี ในปี 2569 งาน Specialised Expo 2028 ภูเก็ต ในปี 2571 และงานพืชสวนโลก 2029 นครราชสีมา ในปี 2572

โดยงานพืชสวนโลก 2026 อุดรธานี ใช้งบฯลงทุน 2,500 ล้านบาท คาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้ภาษี 7,700 ล้านบาท มีจีดีพี 20,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 81,000 ตำแหน่ง เงินสะพัดรวม 32,000 ล้านบาท งาน Specialised Expo 2028 ภูเก็ต ใช้งบฯลงทุน 4,180 ล้านบาท คาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้ภาษี 9,512 ล้านบาท มีจีดีพี 39,357 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 113,438 ตำแหน่ง เงินสะพัดรวม 49,231 ล้านบาท

และงานพืชสวนโลก 2029 นครราชสีมา ใช้งบฯลงทุน 4,281 ล้านบาท คาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้ภาษี 3,429 ล้านบาท มีจีดีพี 9,163 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 36,000 ตำแหน่ง เงินสะพัดรวม 18,942 ล้านบาท

“สำหรับในช่วงเวลา 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ยังมีผู้จัดงานไมซ์ในภูมิภาคอาเซียนมีแผนเข้ามาจัดงานประชุมสัมมนาในประเทศแล้วจำนวน 11 งาน โดยส่วนใหญ่ใช้พื้นที่จัดงานที่กรุงเทพฯ และภูเก็ตเป็นหลัก” นายจิรุตถ์กล่าว

อัดงบฯหนุนงานไมซ์ในประเทศ

และว่าในส่วนของเมืองไมซ์ซิตี้อีก 8 พื้นที่ ได้แก่ พัทยา เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา นครราชสีมา พิษณุโลก สุราษฎร์ธานี ทีเส็บจะเน้นสนับสนุนงานไมซ์ภายในประเทศเป็นหลัก โดยสนับสนุนผ่านแคมเปญ Domestic Exhibition Recovery รวมถึงการสนับสนุนด้านการ
ดึงงานและการจัดงานเมกะอีเวนต์ งานเฟสติวัลมาจัดในพื้นที่ภาคใต้มากยิ่งขึ้น

รวมถึงแคมเปญประชุมเมืองไทยช่วยชาติ โดยให้งบฯสนับสนุนงบประมาณ 15,000 บาท สำหรับการจัดกิจกรรม 1 วัน และ 30,000 บาท สำหรับการจัดกิจกรรม 2 วัน 1 คืน สำหรับการจัดกิจกรรมองค์กร ได้แก่ การประชุม การสัมมนา การอบรม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล กิจกรรมเพื่อสังคม กิจกรรมศึกษาดูงาน เป็นต้น

ยกระดับมาตรฐานไมซ์ไทย

ทั้งนี้ เมื่อ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ทีเส็บยังได้จัดกิจกรรมประชุมสุดยอดผู้นำไมซ์ “MICE City Summit 2021” และเสวนาการถอดบทเรียนจาก “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองด้วย Phuket Sandbox” ณ จังหวัดภูเก็ต โดยนำผู้บริหารเมืองไมซ์และผู้นำภาคเอกชนจาก 16 จังหวัด ร่วมเรียนรู้และเสริมสร้างประสบการณ์การเป็นเจ้าภาพงานระดับนานาชาติของจังหวัดภูเก็ต ทั้งด้านการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การจัดประชุมองค์กรและประชุมสมาคมในระดับนานาชาติ การจัดงานแสดงสินค้า

สำหรับ 16 เมืองไมซ์ที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ประกอบด้วย เมืองไมซ์ซิตี้จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา นครราชสีมา พิษณุโลก สุราษฎร์ธานี และเมืองที่มีศักยภาพอีก 6 จังหวัด ได้แก่ ระยอง เชียงราย นครศรีธรรมราช เพชรบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์

นายจิรุตถ์กล่าวด้วยว่า การประชุมครั้งนี้มีการหารือแผนการดำเนินการระดับจังหวัดและภูมิภาคร่วมกัน รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานของจังหวัดภูเก็ตในฐานะเมืองไมซ์ที่มีความพร้อมและประสบการณ์ในการต้อนรับนักเดินทางไมซ์จากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

“เราคาดการณ์ว่าความต้องการของตลาดไมซ์ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตช่วงกรกฎาคม-ธันวาคม 2564 นี้ จะมีจำนวนนักเดินทางไมซ์ประมาณ 10% ของนักเดินทางที่เข้ามายังจังหวัดภูเก็ต หรือคิดเป็นจำนวน 12,000 คน จากกลุ่มประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลเป็นหลัก ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 960 ล้านบาท” นายจิรุตถ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในภาพรวมปีงบประมาณ 2565 นี้ธุรกิจไมซ์จะมีรายได้รวมประมาณ 28,400 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% ของรายได้รวมของปี 2562 และน่าจะกลับมาใกล้เคียงปี 2562 ที่มีมูลค่ารวมกว่า 2 แสนล้านบาทได้ในปี 2567