โหมปลุก “โดเมสติก” สร้างภูมิต้านทาน “ท่องเที่ยวไทย”

สัมภาษณ์พิเศษ

แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 63 ประเทศเข้าไทยโดยไม่ต้องกักตัวไปแล้วตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่หลายฝ่ายยังประเมินกันว่าในช่วง 2 ปีนับจากนี้การท่องเที่ยวของไทยจะยังคงต้องพึ่งรายได้หลักจากตลาดโดเมสติก หรือตลาดไทยเที่ยวไทยเป็นหลัก

“ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ” รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้สนทนาบนเวทีสัมมนา “Boost Up Thailand 2022” รูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่งผ่านเฟซบุ๊ก โดยหนังสือพิมพ์มติชน พร้อมให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงทิศทางและแผนการตลาดเพื่อฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวไว้ดังนี้

เดินหน้า ศก.-อยู่ร่วมกับ “โควิด”

“ธเนศวร์” บอกว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีนโยบายการบริหารประเทศอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่รัฐบาลมีนโยบายต้องการให้การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจอยู่กับโควิดให้ได้ และกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่รัฐบาลมุ่งเน้นด้านการควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุด

โดยกลุ่มที่รัฐบาลมีนโยบายต้องการให้การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจอยู่กับโควิดให้ได้นั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศในโซนยุโรป อเมริกา ที่เริ่มใช้ชีวิตกับโควิดและระดมฉีดวัคซีน ให้บริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึง

ขณะที่กลุ่มที่รัฐบาลมุ่งเน้นด้านการควบคุมการแพร่ระบาด ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ ประเทศเหล่านี้นโยบายของรัฐบาลจะเน้นคุมการแพร่ระบาดให้ได้ต่ำที่สุด โดยออกกฎเหล็กมาควบคุมอย่างเคร่งครัด

สำหรับประเทศไทยนั้นรัฐบาลเลือกเปิดประเทศ ให้คนไทยใช้ชีวิตอยู่กับโควิดให้ได้ เนื่องจากเซ็กเตอร์ท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 15-20% ของ GDP

ดังนั้น การประกาศเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมาของรัฐบาล จึงถือเป็นการออกอาวุธมาในช่วงเวลาที่เหมาะสมมาก

ท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัว

“ธเนศวร์” บอกด้วยว่า หลังจากเปิดประเทศโดยไม่กักตัวอย่างเป็นทางการไปแล้ว เชื่อว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะค่อย ๆ ฟื้นตัว (resume) แต่ก็จะยังไม่เห็นชัดเจนในช่วง 6 เดือนแรกนี้ 
แต่จะค่อยขยับขึ้นไป เนื่องจากยังมีปัญหาหลาย ๆ อย่างที่ต้องแก้กันต่อไป

อย่างไรก็ตาม มีความชัดเจนว่าประเทศไทยเรากำลังก้าวเข้าโหมดของการทำให้การท่องเที่ยวกลับมา

พร้อมมองว่า หลังโควิดการท่องเที่ยวจะไม่เหมือนเดิมแน่นอน และจะไม่เห็นภาพของนักท่องเที่ยวแห่เข้ามาเหมือนเดิม และจะมีรถโค้ชนักท่องเที่ยวจอดเรียงกันเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญ พฤติกรรมนักท่องเที่ยวก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน

โดยผลวิจัยพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวยังพบว่า นักท่องเที่ยวจะเลือกเดินทางกับคนที่เขาไว้ใจ เลือกเดินทางเป็นกลุ่มเล็ก หลีกเลี่ยงการเข้าไปรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีการวางแผนมากขึ้น และเลือกไปเที่ยวในสถานที่ที่เชื่อว่ามีความปลอดภัย

ที่สำคัญ เรื่องของดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ดิจิทัลจะเป็นเหมือนแผนที่เดินทาง มีการวางแผนและหาข้อมูลมากขึ้น โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ใช้ดิจิทัล และกลุ่มนิวเจน และเป็นกลุ่มที่ ททท.มองอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูง

เน้นรายได้-เลิกมองปริมาณ

นอกจากนี้ โครงสร้างใหม่ของการท่องเที่ยวก็จะเปลี่ยนไป โดยจะเลิกโฟกัสตัวเลขนักท่องเที่ยวในเชิงปริมาณ แต่จะให้ความสำคัญกับเรื่องของรายได้เป็นหลัก โดยยึดแนวทางการสร้างรายได้ที่มากขึ้น จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่น้อยลง เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง

ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างภูมิต้านทานให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยด้วย เพราะตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมาที่ต้องปิดประเทศนั้น รายได้ที่หล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวล้วนมาจากตลาดโดเมสติก หรือไทยเที่ยวไทย

ดังนั้น แนวทางหลังจากนี้คือ การเพิ่มสัดส่วนของตลาดโดเมสติก หรือตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศ ซึ่งในอดีตรายได้จากตลาดโดเมสติกในสัดส่วนประมาณ 30% ของรายได้ทั้งหมด โดย ททท.จะพยายามบาลานซ์รายได้การท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจากตลาดภายในประเทศให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น อาจจะเป็น 40 : 60 หรือ 50 : 50

ก่อนที่จะเปิดประเทศเมื่อ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกกลไกในการบูสต์เม็ดเงินเข้าสู่ระบบของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วยการเดินหน้า “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 3 ส่งผลให้อัตราการจองห้องพักดีขึ้นเรื่อย ๆ ซัพพลายไซด์ของการท่องเที่ยวเริ่มหายใจได้ดีขึ้น

มุ่งขาย “อาหาร-เวลเนส-กีฬา”

สำหรับสินค้าและบริการที่จะเป็นโปรดักต์ฮีโร่ ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.การท่องเที่ยวเชิงอาหาร หรือ gastronomy tourism โดยจากยอดการใช้จ่ายของนักทองเที่ยวต่างชาติพบว่า กว่า 30% เป็นการใช้จ่ายสำหรับอาหาร บวกกับอาหารไทยที่มีแบรนดิ้งที่ชัดเจน และเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกอยู่แล้ว แนวทางดังกล่าวจะเป็นการตอกย้ำภาพความเป็นศูนย์กลาง gastronomy โลกด้วย

2.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ medical and wellness เน้นให้บริการด้านการแพทย์ รวมถึงอาหารที่เพิ่มภูมิต้านทาน ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มนักเดินทางรุ่นใหม่

และ 3.การท่องเที่ยวเชิงกีฬา หรือ sport tourism โดยล่าสุด ททท.ได้เจรจาดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มกอล์ฟเข้ามาที่เชียงใหม่ ลำพูน ในรูปแบบเครื่องบินเช่าเหมาลำ หรือชาร์เตอร์ไฟลต์ (จำนวนเฉลี่ยกว่า 100 คนต่อเที่ยว) ทุกวันศุกร์ ยาวไปจนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2565

นอกจากนี้ ททท.ยังมีแผนการสื่อสารเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยเป็นสถานที่ workation หรือทำงานและท่องเที่ยวในเวลาเดียวกันที่ดีที่สุดในโลก เนื่องจากเทรนด์ชี้ชัดเจนว่า นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ให้ความสนใจและนิยมการท่องเที่ยวแบบท่องเที่ยวไปด้วย ทำงานไปด้วยเพิ่มมากขึ้น

เริ่มรุกตลาดกลุ่มพร้อมเดินทาง

“ธเนศวร์” บอกด้วยว่า ขณะนี้ ททท.ได้วางแผนทำการตลาดสำหรับตลาดต่างประเทศไว้ 3 กลุ่ม โดยพิจารณาจากรายชื่อ 63 ประเทศที่รัฐบาลประกาศให้เข้าประเทศไทยได้โดยไม่มีการกักตัว ได้แก่ 1.กลุ่ม now คือ ประเทศที่พร้อมทำการตลาดได้ทันที อาทิ เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย เป็นต้น

2.กลุ่ม soon คือ ประเทศที่จะต้องเตรียมวางแผนทำการตลาดในอนาคตอันใกล้ อาทิ สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง รัสเซีย เป็นต้น และ 3.กลุ่ม later คือ กลุ่มประเทศที่ยังต้องรอประเมินสถานการณ์ในอนาคต

ยกตัวอย่าง เช่น ที่ได้เริ่มทำตลาดเจาะกลุ่มนักกอล์ฟเกาหลีเข้ามาแล้ว หรือกรณีของออสเตรเลีย ทางออสเตรเลียก็มีแผนเปิดเส้นทางบินซิดนีย์-ภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป

ส่วนตลาดอินเดีย ททท.กำลังเจรจาเพื่อขอเข้าร่วมข้อตกลงด้านการบิน หรือ Air Bubble Agreement เพื่อให้สายการบินจากอินเดียบินเข้าประเทศไทย และสายการบินจากประเทศไทยบินเข้าอินเดียได้ เป็นต้น

ปี’67 ท่องเที่ยวกลับมาเท่าปี’62

“ธเนศวร์” ยังพูดถึงเป้าหมายสำหรับการดำเนินงานในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าด้วยว่า เมื่อโครงสร้างการท่องเที่ยวไม่เหมือนเดิม ททท.จะมุ่งโฟกัสในเรื่องของการสร้างรายได้มากกว่าปริมาณนักท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องสร้างรายได้ที่มากขึ้นในจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดน้อยลง

โดยวางเป้าหมายในด้านของรายได้ไว้ว่า ในปี 2565 ประเทศไทยจะมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวประมาณ 50% ของปี 2562 หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท และเพิ่มเป็นประมาณ 80% หรือประมาณ 2 ล้านล้านบาท ในปี 2566

และในปี 2567 รายได้ภาคการท่องเที่ยวของไทยจะกลับมาใกล้เคียงกับปี 2562หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท

พร้อมย้ำว่า การท่องเที่ยวของไทยจะกลับมาแน่นอนในปี 2565 แต่จะเป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดย ททท.ยังยืนยันว่าจะทำให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายรายได้สู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ