ยอดนักท่องเที่ยวกลางปี 3.4 แสนคน สงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบยาว

รายงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ในช่วงไตรมาส 1/65 (มกราคม-มีนาคม 2565) ที่ผ่านมาประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 444,039 คน ขยายตัวร้อยละ 2,101 และสร้างรายได้ประมาณ 34,173 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1,424 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564

โดยมีปัจจัยบวกจากการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยกลับมาเปิดระบบลงทะเบียน Thailand Pass ในรูปแบบ Test & Go อีกครั้ง

คาดไตรมาสสอง นักท่องเที่ยว 3.4 แสนคน

สำหรับแนวโน้มในไตรมาส 2 (เมษายน-มิถุนายน 2565) นี้ “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ข้อมูลว่า จากงานวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ กองกลยุทธ์การตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระบุว่า คาดการณ์ว่าในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2565 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทยจำนวน 341,340 คน เพิ่มขึ้น 1,584% สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 23,083 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 983% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564

โดยปัจจัยสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเติบโตคือ ความพยายามปรับลดมาตรการการเดินทางเข้าประเทศไทย ยกเลิกการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย

เตรียมปรับรูปแบบการหาเชื้อในวันที่เดินทางมาถึงประเทศไทย ลดระยะเวลาการกักตัว ฯลฯ ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนนี้

นอกจากนี้ ยังเป็นประเด็นเรื่องของจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศเข้าไทย ที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2565 เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ของไตรมาสก่อนหน้า โดยมีจำนวนเที่ยวบินเข้าไทยราว 18,934 เที่ยวบิน ขยายตัว 130% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.-มี.ค. ที่มีเที่ยวบินราว 8,239 เที่ยวบิน

สงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบยาว

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมในช่วงไตรมาส 2 นี้ยังจำเป็นต้องติดตามประเด็นที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของนักท่องเที่ยว อาทิ 1. สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลกระทบโดยตรงในเรื่อง การระงับเที่ยวบินเข้าไทยจากประเทศรัสเซีย การปิดกั้นระบบการเงินการธนาคาร รวมถึงการอ่อนค่าของเงินรูเบิล

ขณะเดียวกันยังมีผลกระทบทางอ้อมด้วยคือ ราคาบัตรโดยสารเครื่องบินปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้อำนาจการซื้อของนักท่องเที่ยวลดลง

ทั้งนี้ ข้อมูลจากระบบ ForwardKeys ยังพบว่า ภาพรวมยอดจองบัตรโดยสารเครื่องบินล่วงหน้ามายังประเทศไทยเดือนเมษายน-มิถุนายน 2565 เทียบกับเดือนมกราคม-มีนาคม 2565 หดตัวราว 28%

โดยเป็นผลมาจากยอดจองเที่ยวบินจากภูมิภาคยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนการจองเดินทางเข้าไทยมากที่สุด (สัดส่วน 89%) หดตัวสูง จึงฉุดภาพรวมการจองให้ปรับตัวลดลงตามไปด้วย

2.สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ทั้งในและต่างประเทศ และ 3. ประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยในเอเชียและแปซิฟิกใต้ เช่น ออสเตรเลีย มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ เริ่มปรับมาตรการการเดินทางเข้าประเทศให้มีความเข้มงวดน้อยลง เพื่อชิงส่วนแบ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566

นักท่องเที่ยวยุโรป เข้าไทยอันดับ 1

งานวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ ททท. คาดการณ์ว่าในไตรมาสที่ 2/2565 นี้ นักท่องเที่ยวจากทวีปยุโรปจะเดินทางเข้ามามากที่สุด อยู่ที่ 128,100 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2564 ถึง 1,667% สร้างรายได้ 9,868 ล้านบาท

อาเซียน 72,120 คน เพิ่มขึ้น 2,171% สร้างรายได้ 3,251 ล้านบาท เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ 39,000 คน เพิ่มขึ้น 953% สร้างรายได้ 2,159 ล้านบาท

ขณะที่ทวีปอเมริกา คาดว่าอยู่ที่ 26,740 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ถึง 603% สร้างรายได้ 2,008 ล้านบาท เอเชียใต้ 25,220 คน เพิ่มขึ้น 6334% เติบโตสูงที่สุดในบรรดานักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม สร้างรายได้ 1,373 ล้านบาท

ตะวันออกกลาง 23,900 คน เพิ่มขึ้น 2,243% สร้างรายได้ 2,390 ล้านบาท โอเชียเนีย 20,160 คน เพิ่มขึ้น 4,700% สร้างรายได้ 1,610 ล้านบาท และแอฟริกา 6,100 คน เพิ่มขึ้น 1,096% สร้างรายได้ 424 ล้านบาท

โดยการคาดการณ์ดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าประเทศไทยไม่มีการยกระดับความเข้มงวดมาตรการเข้าประเทศ ประชากรไทยฉีดวัคซีนเกิน 70% ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด เปิดพื้นที่ท่องเที่ยวหลักแบบไม่มีเงื่อนไข เปิดชายแดนทุกด่าน อาเซียนเข้าไทยตั้งแต่ไตรมาสที่ 2

ไทยเที่ยวไทย 23 ล้านคน-ครั้ง

ขณะที่ตลาดในประเทศนั้นในเดือนเมษายน-มิถุนายน 2565 นั้นน่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ภาครัฐอนุญาตให้กิจการหลายประเภท สามารถกลับมาให้เปิดดำเนินกิจการได้อย่างปกติ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ผ่านมาตรการกระตุ้นต่าง ๆ รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายจากผู้ประกอบการการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 22.98 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 210% มีรายได้ทางการท่องเที่ยว 105,265 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 205 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564

โดยกรุงเทพฯมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือน 4,619,959 คน เพิ่มขึ้น 185% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 สร้างรายได้ 23,360 ล้านบาท ภาคกลาง 2,469,456 เพิ่มขึ้น 289% สร้างรายได้ 4,200 ล้านบาท

ขณะที่ภาคตะวันตก มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือน 3,102,791 คน เพิ่มขึ้น 170% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 สร้างรายได้ 11,059 ล้านบาท ภาคตะวันออก 2,423,189 คน เพิ่มขึ้น 340% สร้างรายได้ 17,885 ล้านบาท

ภาคใต้ 3,217813 คน เพิ่มขึ้น 215% สร้างรายได้ 20,795 ล้านบาท ภาคเหนือ 3,506,558 คน เพิ่มขึ้น 148% สร้างรายได้ 19,348 ล้านบาท และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,642,882 คน เพิ่มขึ้น 254% สร้างรายได้ 8,618 ล้านบาท

การคาดการณ์ดังกล่าว ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า รัฐบาลไม่มีมาตรการห้ามการเดินทางข้ามจังหวัด แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเข้า-ออกแต่ละจังหวัด กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกประเภทกลับมาให้บริการตามปกติ เปิดทุกพื้นที่ท่องเที่ยวหลักโดยไม่มีเงื่อนไข (เปิดทุกพื้นที่ 100%) เปิดด่านชายแดนทุกด่าน และมีข้อจำกัดคือ สภาพเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้นตัวดี ราคาน้ำมันโลกยังคงผันผวน

รายได้ถึงเป้า 1.28 ล้านล้าน

อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่อาจรบกวนการฟื้นตัว คือ การระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย รวมถึงการระบาดของสายพันธุ์ใหม่

รวมถึงความผันผวนของราคาน้ำมัน อันเนื่องมาจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวดี อาจทำให้คนไทยลดความถี่ในการเดินทางท่องเที่ยว

“ยุทธศักดิ์” ยังคงย้ำว่า แม้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งตลาดต่างประเทศและตลาดในประเทศจะยังคงมีปัจจัยเสี่ยง แต่ ททท.ยังคงเป้าหมายรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2565 เช่นเดิม

โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยอยู่ที่ 5-15 ล้านคน สร้างรายได้ 625,800 ล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับมาตรการของแต่ละประเทศ และนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางในประเทศ 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 656,000 ล้านบาท รวมเป็น 1.28 ล้านล้านบาท