“นกแอร์” รุกปักธงสุวรรณภูมิ เสริมแกร่งฮับเชียงใหม่-เพิ่มทางเลือก

วุฒิภูมิ จุฬางกูร
วุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน)

“นกแอร์” ขยายฐานบินสู่สุวรรณภูมิ หวังเพิ่มทางเลือกผู้โดยสาร เผยนำร่องด้วยเส้นทางบินสุวรรณภูมิ-เชียงใหม่ ก.ย. 65 นี้ พร้อมเสริมความแกร่งฮับบินเชียงใหม่สู่เส้นทางทั้งในประเทศ-ต่างประเทศอีกเพียบ ล่าสุดเตรียมเพิ่มเครื่องใหม่อีก 6 ลำ รองรับแผนธุรกิจในอนาคต มั่นใจออกจากแผนฟื้นฟูได้ภายใน 5 ปี

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้สายการบินนกแอร์มีแผนเพิ่มฐานการบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเส้นทางบินแรกคือ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) สู่เชียงใหม่ ในช่วงเดือนกันยายน 2565 นี้ จากนั้นจะพิจารณาขยายเส้นทางบินไปยังเมืองอื่น ๆ ในลำดับต่อไป เช่น ภูเก็ต สกลนคร อุบลราชธานี เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้โดยสาร

รวมถึงมีแผนสร้างความแข็งแกร่งให้กับฐานการบินที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาเส้นทางบินระหว่างประเทศเชื่อมกับท่าอากาศยานเชียงใหม่ เช่น เวียดนาม ไต้หวัน พม่า สิงคโปร์ เป็นต้น จากปัจจุบันให้บริการเส้นทางบินจากท่าอากาศยานเชียงใหม่สู่กรุงเทพฯ (ดอนเมือง), อุบลราชธานี, ขอนแก่น อุดรธานี และเส้นทางบินเชียงใหม่-นครราชสีมา โดยจะเริ่มวันที่ 2 สิงหาคม 2565 นี้ และเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ซึ่งจะเริ่มให้บริการเดือนตุลาคมนี้

สำหรับเส้นทางบินต่างประเทศนั้น นายวุฒิภูมิกล่าวว่า ได้เตรียมเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-โฮจิมินห์ และกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-ย่างกุ้ง ให้มากขึ้น รวมถึงพิจารณาขยายเส้นทางไปยังไต้หวัน ดานัง (เวียดนาม) สิงคโปร์ และอินเดีย ภายในปีนี้ด้วย

นายวุฒิภูมิกล่าวว่า จากแผนงานดังกล่าวนี้ทำให้สายการบินมีแผนการเพิ่มจำนวนเครื่องบินอีก 6 ลำ (โบอิ้ง 737-800 NG) จากปัจจุบันที่มีฝูงบินจำนวนทั้งสิ้น 17 ลำ แบ่งเป็นเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-800 NG จำนวน 14 ลำ สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้สูงสุดเที่ยวบินละ 189 ที่นั่ง และเครื่องบิน บอมบาร์ดิเอร์ แดช 8 คิว 400 (Dash 8 Q400) จำนวน 3 ลำ ซึ่งลดลงจากเดิม 8 ลำ

“ในครึ่งปีหลังนี้สายการบินยังได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ทัวร์เที่ยวไทย ประกอบกับรัฐบาลยังได้ต่ออายุมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่ใช้ในประเทศ” นายวุฒิภูมิกล่าว

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจการบินยังมีปัจจัยที่ต้องจับตาคือ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยปัจจุบันค่าน้ำมันเป็นต้นทุนที่สายการบินต้องแบกรับถึง 48% จากเดิมที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 30% ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าทำให้สายการบินต้องระมัดระวังความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากสายการบินมีค่าใช้จ่ายที่ใช้เงินสกุลดอลลาร์อยู่ราว 70%

นอกจากนี้ยังมีประเด็นของสถานการณ์การเมืองภายในของแต่ละประเทศ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงนโยบายการเปิดประเทศต่าง ๆ เช่น จีน ส่งผลต่อเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารของสายการบินทั้งสิ้น

นายวุฒิภูมิยังกล่าวถึงความคืบหน้าแผนฟื้นฟูธุรกิจด้วยว่า ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ระบุไว้ว่า มูลค่าหนี้ประมาณ 5,800 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ตัวเลขดังกล่าวยังไม่แน่นอน เนื่องจากมีเจ้าหนี้บางส่วนยังไม่สามารถตกลงกับบริษัทได้ แต่ที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการชำระหนี้ไปบางส่วนแล้ว และชำระแบบตรงตามเวลา จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

โดยในแผนฟื้นฟูที่วางไว้ในปี 2565 สายการบินจะต้องกู้ยืมเงินเพิ่มอีก 300 ล้านบาท แต่ในปัจจุบันสภาพคล่องของสายการบินยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ จึงยังไม่มีการกู้เงินตามแผนที่วางไว้ สำหรับปี 2566 นั้นตามแผนจะต้องเพิ่มทุนอีก 600 ล้านบาท เพื่อรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง B737-800 เพิ่มจำนวน 6 ลำ ใช้จ่ายในงานซ่อมบำรุง และการเพิ่มสภาพคล่องเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไป โดยมั่นใจว่า ภายใน 5 ปี จะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้ ซึ่งขณะนี้หนี้ก้อนใหญ่ที่เป็นของผู้ถือหุ้น มูลค่า 2,700 ล้านบาท บริษัทจะชำระทั้งหมดก่อนออกจากแผนฟื้นฟู ตามที่วางแผนไว้

“เราคาดว่าปี 2566 จะเป็นปีที่เราหยุดขาดทุนแล้ว และเชื่อว่าใน 5 ปี เราจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้” นายวุฒิภูมิกล่าว และว่า สำหรับปี 2565 นี้สายการบินตั้งเป้ามีอัตราการขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 85% ให้บริการขนส่งผู้โดยสาร 4 ล้านคน หรือราว 48% ของปี 2562 ที่ขนส่งผู้โดยสารประมาณ 8.25 ล้านคน