อ่านอนาคต RS วันโลกเปลี่ยน ผ่าน “เฮียฮ้อ” เมื่อธุรกิจเพลง ไม่ใช่ Core Business แต่เป็น “สุขภาพ-ความงาม”

ถ้าจะบอกว่านับแต่ปี 2525 ที่สองพี่น้องเชษฐโชติศักดิ์ (เกรียงไกร-สุรชัย) ก่อตั้งบริษัท อาร์.เอส.ซาวด์ จำกัด โดยมีวง “อินทนิล” เป็นศิลปินในสังกัดวงแรก ก่อนที่จะตามมาด้วยวงคีรีบูน, ฟรุตตี้, ซิกซ์เซ้นซ์, บรั่นดี, ปุยฝ้าย และเรนโบว์

จนทำให้ศิลปินดังกล่าวกลายเป็นตำนานบทหนึ่งของ อาร์.เอส.ซาวด์สมัยนั้น

ก่อนที่ต่อมาจะเปลี่ยนชื่อในอีกหลายบริษัท เพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ที่กำลังเติบโต ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเพลง ภาพยนตร์ รายการวิทยุ และรายการโทรทัศน์อีกจำนวนมาก

กระทั่งในปี 2549 จึงนำบริษัทจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใต้ชื่อบริษัท อาร์ เอส จำกัด (มหาชน) โดยมี “สุรชัย (เฮียฮ้อ) เชษฐโชติศักดิ์” นั่งตำแหน่งประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

ตลอด 11 ปีผ่านมาจนถึงปี 2560 ที่ “สุรชัย” นั่งตำแหน่งซีอีโอ การทำธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งยังทำให้ธุรกิจต้นน้ำ (ธุรกิจเพลง) ซึ่งเดิมทีเคยเป็นธุรกิจหลัก กลับมีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง และไม่ใช่เฉพาะแต่อาร์ เอสเพียงแห่งเดียว หากค่ายเพลงต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยก็ออกอาการบาดเจ็บ และเริ่มจะล้มหายตายจากกันเป็นทิวแถว

สาเหตุหลักคงมาจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกอย่างรุนแรงจนทำให้ธุรกิจเพลง และธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ทั้งระบบจำต้องเปลี่ยนแพลตฟอร์มด้วยการเข้าไปหากลุ่มผู้บริโภคหลากหลายช่องทางมากขึ้น

พลิกธุรกิจรับโลกเปลี่ยน

“สุรชัย”มองเห็นสัญญาณอันตราย และมองเห็นเทรนด์อะไรบางอย่างที่กำลังจะหายไป ขณะเดียวกันก็มองเห็นเทรนด์อะไรบางอย่างที่กำลังจะเข้ามาแทนที่

“ผมมองเห็นโลกเริ่มเล็กลง แต่เคลื่อนที่เร็วขึ้น และผมก็มองเห็นพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นองค์กรที่จะอยู่ได้ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงจะต้องรับมืออย่างมีการวางแผน ตรงนี้จึงเป็นคำตอบที่ทำให้ช่วง 5 ปีผ่านมาจึงมีการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจของอาร์ เอสทั้งระบบ โดยมาให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจสื่อ, กลุ่มธุรกิจสุขภาพ และความงาม, กลุ่มธุรกิจเพลง และกลุ่มธุรกิจรับจ้าง และผลิตกิจกรรมตามลำดับ”

“อาจเป็นเพราะปี 2552 เราเข้ามาทำช่องดาวเทียม และต่อมาอีกไม่กี่ปีเราเข้ามาประมูลดิจิทัลทีวี จึงทำให้รูปธุรกิจมีความเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นกลุ่มธุรกิจสื่อจึงมีช่อง 8 ที่ครอบคลุมแซตเทลไลต์ทีวีด้วย เช่น สบายดี ทีวี, ช่อง 2, ยู แชนแนล และเพลินทีวี ขณะเดียวกันก็มีคลื่นวิทยุ คูลฟาเรนไฮต์ 93 ซึ่งถือเป็นรายการวิทยุที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก”

“ดังนั้นภาพรวมของกลุ่มธุรกิจสื่อจึงมีรายได้เฉลี่ยประมาณ60% ต่อปี ตอนนี้ถือว่าสูงที่สุดใน 4 กลุ่มธุรกิจ แต่สิ่งที่หลายคนเป็นห่วงว่าการเข้ามาทำทีวีดิจิทัลจะกินเนื้อตัวเองไปเรื่อย ๆ ผมกลับไม่คิดอย่างนั้น ผมเชื่อว่าผมเป็นคนรอบคอบ และเรามองเรื่องนี้ตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปประมูลดิจิทัลทีวีแล้ว ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการดิจิทัลทีวีจึงไม่แปลกใจ เพราะทีมเราประเมินอยู่แล้วว่าจะต้องเป็นแบบนี้ เพียงแต่มันเร็วกว่าที่คิด และหนักกว่าที่คิดไว้ก็เท่านั้นเอง”

 รุกธุรกิจสื่อ-สุขภาพ-ความงาม

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “สุรชัย” บอกว่า การทำธุรกิจดิจิทัลทีวีการ์ดจะตกไม่ได้ โดยเฉพาะกับช่อง 8 การ์ดผมไม่เคยตกเลย ตรงนี้เองจึงทำให้ผมต้องทำแผนธุรกิจช่อง 8 ให้มีความแตกต่างจากช่องอื่น ๆ

“ทั้ง ๆ ที่ผ่านมาเคยบอกตัวเองว่าจะเกษียณอายุตอน 55 ปี เพราะตอนนั้นธุรกิจเพลงเริ่มไม่มีอะไรท้าทายแล้ว แต่พอเข้ามาทำธุรกิจสื่อ ผมบอกตัวเองถอยไม่ได้แล้ว รู้สึกสนุกกับงานที่ทำ และผมไม่สนใจด้วยว่าจะเป็นอย่างไร เพราะเราวางแผนธุรกิจมาตั้งแต่ต้นแล้ว ทุกอย่างจึงดำเนินไปตามแผน”

“เช่นเดียวกับการทำธุรกิจสุขภาพ และความงามเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตอนนั้นหลายคนมองว่า อาร์ เอสเปลี่ยนไป แต่ผมรู้ดีว่าเราจะทำอะไร ตอนแรก ๆ เราอาจเรียนถูก และเรียนผิด แต่ตอนนี้ผมพูดได้อย่างเต็มปากว่า เรามาถูกทาง ธุรกิจกลุ่มนี้เติบโตเร็วมากภายใต้ 4 แบรนด์หลัก คือ มาจีค, กราวีธัส, รีไวว์ และโนเบิล ไวท์ และเมื่อปีที่แล้ว เรามียอดขายอยู่ที่ 210 ล้านบาท สำหรับปีนี้ตั้งเป้าโต 100% หรือประมาณ 420 ล้านบาท”

“หลายคนไม่เชื่อว่าธุรกิจสุขภาพ และความงามจะโตขนาดนี้ แต่ผมเชื่อ ขนาดผมนำแผนธุรกิจไปโรดโชว์ให้นักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศเขายังไม่เชื่อเลย แต่ผลประกอบการไตรมาสแรกออกมา ยอดขายเท่ากับปีที่แล้วทั้งปี ซ้ำยังมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องทุกเดือน ดังนั้นสิ่งที่ผมตั้งเป้าว่าจะโต 100% ภายในปีนี้ อาจไม่ใช่ก็ได้ เพราะเรากำลังจะออกแบรนด์ใหม่เร็ว ๆ นี้ ผมจึงเชื่อว่ากลุ่มธุรกิจนี้อาจเติบโตถึง 500% ภายในสิ้นปี”

จนทำให้ธุรกิจสื่อ, ธุรกิจสุขภาพ และความงามกลายเป็นธุรกิจหลัก (Core Business)ของบริษัท อาร์ เอส จำกัด (มหาชน) ในวันนี้ไปเสียแล้ว ที่ไม่เพียงจะมีธุรกิจเพลง และธุรกิจรับจ้าง และผลิตกิจกรรมมาช่วยต่อยอด และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจในเครือ

ชูโมเดลมิวสิกมาร์เก็ตติ้งแก้เกม

“สุรชัย” ยอมรับความเป็นจริงด้วยว่า โลกหมุนเร็วจริง ๆ เพราะตลอด 10 ปีผ่านมา ธุรกิจเพลงเป็นธุรกิจเดียวที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีมากที่สุด ทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจมากที่สุดด้วย

“ผมเองเฝ้าติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด และบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกในธุรกิจเพลงกว่า 90% เริ่มล้มหายตายจาก ดังนั้นคนที่จะอยู่ในธุรกิจนี้ต้องเข้าใจบริบทแห่งความเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมเพลงในอนาคตด้วย ซึ่งเหมือนกับเราที่เปลี่ยนมาใช้โมเดลมิวสิกมาร์เก็ตติ้ง โดยให้ค่ายเพลงกับศิลปินเป็นพาร์ตเนอร์กัน สร้างผลงานออกมา เพื่อต่อยอดจากงานไปหาลิขสิทธิ์”

“นอกจากศิลปินจะมีรายได้จากยูทูบ งานโชว์ งานแสดง และอื่น ๆ แตกต่างจากอดีตที่ศิลปินคือลูกน้อง และค่ายเพลงเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เหมือนกับที่เราสร้างศิลปินในค่ายอาร์สยาม เราก็ใช้โมเดลนี้ในการทำธุรกิจ ศิลปินหลายคนสามารถต่อยอด และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเองได้ ส่วนกลุ่มธุรกิจรับจ้างและผลิตกิจกรรมไม่มีอะไรมาก เป็นธุรกิจที่คอยสนับสนุนกลุ่มธุรกิจหลักก็เท่านั้นเอง”

“สำคัญไปกว่านั้น ผู้บริหารทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจคือลูกหม้อของเราทั้งสิ้น ผมถึงเชื่อว่าคนอาร์ เอส สามารถทำอะไรได้ทั้งนั้น เวลาผมเลือกใครเข้ามาเป็นแม่ทัพ ผมจะดูทัศนคติเป็นหลัก การศึกษารองลงมา ดังนั้นพอผมบุกเบิกธุรกิจอะไรใหม่ ๆ ผมจะรู้เลยว่าคนไหนเหมาะสมกับธุรกิจประเภทไหน และส่วนใหญ่ไม่เคยดูผิดด้วย”

 เตรียม “คน” รับเปลี่ยนแปลง

แต่กระนั้นก็ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า “สุรชัย” รู้สึกเหนื่อย ? และท้อถอยบ้างไหม ? ต่อการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจวันนี้

“ผมไม่เคยเหนื่อย และไม่เคยท้อเลย ผมรู้สึกมีเวลามากขึ้น เพราะงานทั้งหมดถูกมอบหมายไปแล้ว เดี๋ยวนี้ผมประชุมน้อยลง มีเวลาคิด วิเคราะห์ และให้ทีมไปทำงานมากขึ้น เมื่อก่อนทำธุรกิจแข่งกับคู่แข่งอย่างเดียว แต่ตอนนี้ต้องแข่งกับผู้บริโภค และแข่งกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยี”

“ดังนั้นความสำเร็จในอดีตจึงเป็นแค่ความภูมิใจไม่ใช่คำตอบว่าเราจะสำเร็จอีกครั้งในอนาคต ผมจึงไม่ยึดติดกับอะไร เช่นเดียวกับอาร์ เอส ในอนาคต ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีผมนั่งซีอีโอตลอดไป อาจเป็นใครก็ได้ และผมไม่ได้กำหนดว่าลูกชายทั้ง 2 คน (เชษฐ์-โชติ เชษฐโชติศักดิ์) จะต้องเข้ามาเป็นไม้ต่อธุรกิจ ผมปล่อยให้เขาทำในสิ่งที่อยากทำก่อน และถ้าเขาอยากมาจริง ค่อยมาหาโซลูชั่นให้เขาทำอีกที”

“เพราะตอนนี้ผมกำลังทำเพื่อพนักงานของอาร์ เอสทุกคน และผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า อาร์ เอสในอนาคตจะเป็นองค์กรหนึ่งที่เติบโตอย่างยั่งยืน แต่การจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ เราต้องเตรียมคนของเราให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงเสียก่อน ซึ่งเหมือนกับที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ผ่านเข้ามาอีกครั้ง พวกเขาจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ ได้