ลงทุน 2020 ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เร่งสปีดโครงสร้างพื้นฐาน 4 มิติ

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย บวกกับความจำเป็นด้านเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยต้องเร่งปลุกการลงทุน โดยเฉพาะระบบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั่วโลก
 
“มติชน” จัดสัมมนา “ลงทุน 2020 ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างชาติสร้างงาน” เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจเข้าร่วมฟังการสัมมนาคับคั่ง
 
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ด้วยระบบสาธารณสุขการแพทย์ของประเทศในวันนี้ มั่นใจว่าพร้อมรับมือการระบาดโควิดได้ แม้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่เชื่อว่าการจะฟื้นเศรษฐกิจ สร้างความแข็งแกร่ง และสร้างรายได้จะฟื้นคืนกลับมาโดยเร็ว เพราะมั่นใจในความแข็งแกร่ง และระบบพื้นฐานเศรษฐกิจไทย
ปลอดภัยแบรนด์ใหม่ประเทศไทย
 
“เราต้องเป็นผู้ชนะ เห็นทางออก เห็นโอกาสในปัญหา ไทยจะไม่เป็นประเทศที่ด้อยโอกาส โควิดจะเป็นโอกาสให้เราสร้างความเชื่อมั่นให้คนในประเทศและทั่วโลก ถ้าต้องการลงทุนขยายฐานการผลิต จะต้องหาประเทศที่นอกจากมีระบบโครงสร้างพื้นฐานระบบท่องเที่ยว บริการยอดเยี่ยมแล้ว ตอนนี้ประเทศไทยจะมีระบบความปลอดภัยอีกแบรนด์หนึ่ง สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนทั่วโลก”
 
การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจำเป็น เพื่อให้เงินหมุนเวียน เศรษฐกิจโต ตนกำกับดูแล 3 กระทรวง คือ กระทรวงสาธารณสุข คมนาคม การท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งได้บูรณาการงานร่วมกันทุกด้าน ภายใต้หลักการ 1.Thai First เน้นว่าทุกอย่างต้องใช้เงินบาท คนไทย ของไทย และคนไทยต้องลงทุนหรือได้ก่อน แต่ไม่ได้ปิดกั้นการลงทุนจากต่างประเทศ
2.การกู้เงิน รัฐไม่ได้สักแต่ว่ากู้ แต่ดอกเบี้ยต่ำก็ต้องกู้ ที่ผ่านมาผลักดัน 3 โครงการใหญ่ที่เป็นประโยชน์ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เอกชนเสนอลงทุนน้อยกว่ากรอบถึง 5 หมื่นล้านบาท สนามบินอู่ตะเภา รัฐได้ผลตอบแทน 3.05 แสนล้านบาท ประมูลงานระบบ (O&M) มอเตอร์เวย์ลดราคาได้กว่า 36%
 
ลุยครบ “ถนน-ราง-น้ำ-อากาศ”
 
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย 20 ปี (2561-2580) เดินตามยุทธศาสตร์ชาติ หลังโควิด-19 คลี่คลายแล้ว จะเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 4 มิติ ด้านทางบก ขยายโครงข่ายถนนเป็นเสมือนสายเลือดหลักขนส่งคนและสินค้า เชื่อมโยงครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่งบฯมีจำกัด จะให้เอกชนมาร่วมงาน O&M (บำรุงรักษา)
 
ส่วนโครงการอื่น ๆ จะเร่งสร้างมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี บางปะอิน-โคราช เปิดปี 2566 มอเตอร์เวย์ต่อจากเอกชัย-บ้านแพ้ว ใช้เงินกองทุนมอเตอร์เวย์ 2 หมื่นล้านนครปฐม-ชะอำ จะเร่งเวนคืนที่ดิน จ.เพชรบุรี เริ่มกลางปีหน้าและขยายสายพัทยา-มาบตาพุด เข้าสนามบินอู่ตะเภา
“ขนส่งทางราง” ด้วยภาระหนี้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ให้นโยบายกับคณะกรรมการ (บอร์ด) ดูข้อมูลการใช้งานระบบรางทั้งหมด ถ้าทำไม่ได้ จะให้เอกชนเข้าร่วมเดินรถ PPP เร่งสร้างทางคู่ 563,825 ล้านบาท เฟสแรกกำลังสร้าง และเร่งขยายเฟสที่ 2 อีก 9 เส้นทาง จะเห็นผลปี 2568
ลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ เพิ่มขนส่งทางราง 30%
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะเปิดครบโครงข่ายเป็นวงแหวน สายสีเขียวสมุทรปราการ-ลำลูกกา สีส้มบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรมฯ กำลังสร้าง ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ กำลังขาย TOR ให้เอกชนร่วม PPP net cost 30 ปี วงเงิน 1.4 แสนล้าน ทั้งหมดจะเสร็จปี 2568
สายสีแดงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต จะเปลี่ยนรูปแบบการเดินรถให้เอกชน PPP รับภาระค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ยังมีสายสีน้ำตาล แคราย-ลำสาลี รถไฟฟ้าหัวเมืองใหญ่ เช่น ขอนแก่น พิษณุโลก เชียงใหม่ ภูเก็ต จะทำทั้งหมด
 
“การขนส่งทางน้ำ” ด้านตะวันออกหรืออีอีซี กำลังพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เสร็จปี 2568 พร้อมกับสนามบินอู่ตะเภา และขยายการลงทุนไปพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) จะพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแบบ auto ระนอง-ชุมพร จะให้มีรถไฟทางคู่แบบแลนด์บริดจ์เชื่อมเข้าไป ร่วมกับมอเตอร์เวย์ ระยะทาง 120 กม. ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 2 ชม. เปิดประตูการลงทุนประเทศไทย
 
สุดท้าย “ด้านทางอากาศ” มี บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ดูแลสนามบินทั่วประเทศ ทอท.ดูแล 6 สนามบิน ทย. 29 สนามบิน เร็ว ๆ นี้ สนามบินเบตง จ.ยะลา จะเปิดใช้ และต้องเร่งขยายสุวรรณภูมิ เฟส 2 ดอนเมือง เฟส 3 รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นให้ได้ 150 ล้านคน/ปี เที่ยวบินในประเทศเพิ่มเป็น 30 ล้านคน/ปี อีก 28 แห่ง ของ ทย. ต้องดูที่ไหนจะพัฒนาเป็นสนามบินนานาชาติได้
สนข.ผุดฟีดเดอร์เชื่อมรถไฟฟ้า
 
นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สนข.ทำหน้าที่ทำแผนเชื่อมโยงนโยบายรัฐบาลมาสู่การวางแผนของคมนาคม บูรณาการโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง บก ราง น้ำ อากาศ ให้ประชาชนเดินทางสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล แก้ปัญหาลดต้นทุนสินค้า การตรงเวลา
“นโยบายคือเปลี่ยนการขนส่งทางถนนมาสู่ระบบราง เดินทางในเมืองและระหว่างเมือง ขยายลงทุนทางคู่ รถไฟฟ้าเพิ่มให้ครบ 14 สาย สนข.จะศึกษาระบบฟีดเดอร์รับพฤติกรรมการเดินทางในอนาคตเมื่อเน็ตเวิร์กครบ จะเกิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี และเมืองตามแนวเส้นทาง ส่วนทางน้ำจะพัฒนาท่าเรือเชื่อม 2 ฝั่งอันดามัน ให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนโดยแท้จริง”
ดึงเอกชน PPP มอเตอร์เวย์ 6 สาย
 
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่ากรมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในปี 2563 รวม 107,807 ล้านบาท คิดเป็น 60% ของงบฯทั้งหมดรองรับอีอีซี เขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่วนโครงการเกิน 2 หมื่นล้าน จะให้เอกชนลงทุน PPP มี 6 โครงการ 297,313 ล้านบาท 1.มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ 79,006 ล้านบาท 2.มอเตอร์เวย์เอกชัย-บ้านแพ้ว 32,187 ล้านบาท 3.ต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงรังสิต-บางปะอิน 28,000 ล้านบาท 4.มอเตอร์เวย์หาดใหญ่-ชายแดนไทย/มาเลเซีย 42,620 ล้านบาท 5.วงแหวนรอบนอกตะวันตก 78,000 ล้านบาท6.มอเตอร์เวย์ศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ 37,500 ล้านบาท
BTS ลงทุนรถไฟฟ้า-เมืองการบิน
ขณะที่ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวว่า ปีนี้จะใช้เงินลงทุน 3 หมื่นล้าน หลัก ๆ สร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูแคราย-มีนบุรี สายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง เปิดปลายปี 2564 สายสีทองกรุงธนบุรี-คลองสาน เปิดในเดือน ต.ค.นี้
และร่วมกับพันธมิตรขยายลงทุนสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เซ็นสัญญาแล้ว งานติดตั้งระบบ O&M มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี บางปะอิน-นครราชสีมา 39,138 ล้านบาท เซ็นสัญญา ส.ค.นี้ และสนใจประมูลสายสีส้มและอีกหลายโครงการ
ทอท.ลงทุน 3 แสนล้าน พัฒนาสนามบิน
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) กล่าวว่า แม้โควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารใช้สนามบินลดลง แต่ ทอท.ไม่ได้ชะลอลงทุน ยังลงทุน 6 สนามบิน เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ กว่า 3 แสนล้าน คาดว่าอีก 2 ปีจะกลับเป็นปกติเดือน ต.ค. 2565 ระหว่างนี้จะสร้างรายได้ช่องทางอื่น เช่น พัฒนาเมืองการบิน คาร์โก้ ส่วนสุวรรณภูมิเฟส 2 จะเสร็จปี 2565 ปี 2567 รันเวย์ 3 สุวรรณภูมิ และการขยาย north expansion จะแล้วเสร็จ