25 สิงหา อวสานมหากาพย์ “คดีจำนำข้าว”-

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าว คดีหมายเลขดำ อม.22/2558 พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ได้ไต่สวนพยานจำเลยนัดที่ 14 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท

แฟนคลับให้กำลังใจแน่น

ทั้งนี้ เวลา 08.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมทีมทนาย เดินทางมาศาลฎีกา โดยมีบรรดาอดีตรัฐมนตรี แกนนำพรรค และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) มาให้กำลังใจ อาทิ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล นายชัยเกษม นิติสิริ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายวัฒนา เมืองสุข นายภูมิธรรม เวชยชัย นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์

มีประชาชนจำนวนมากเดินทางมาให้กำลังใจจำนวนมากบริเวณหน้าศาล พร้อมตะโกนว่า “ยิ่งลักษณ์สู้ ๆ” ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 และกองร้อยควบคุมฝูงชน หรือกองร้อยน้ำหวาน รวมทั้งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประมาณ 2 กองร้อย โดยมี พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เดินทางมาอำนวยความสะดวก

น.ส.ยิ่งลักษณ์ตาแดงก่ำมีน้ำตาอาบแก้มกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ขอขอบคุณสื่อมวลชนทุกท่าน และขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกคนที่มาให้กำลังใจ”

ไต่สวน 3 ปากสุดท้าย

ต่อมาเวลา 09.30 น.ศาลฎีกาฯออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานจำเลยปากที่ 1 คือ นายพศดิษฐ์ ดีเย็น อดีตหัวหน้าคลังสินค้า จ.นครราชสีมา ข้าราชการบำนาญเกษียณแล้ว เบิกความยืนยันขั้นตอนการจ่ายข้าวออกจากคลังสินค้ามีการตรวจสอบตามขั้นตอนและคู่มือที่กรมการค้าภายในกำหนด และทุกครั้งที่มีการมารับข้าวต้องมีเอกสารหรือตั๋วมายืนยันที่จะลงชื่อและเลขรหัสไว้ ส่วนการตรวจสอบของคณะกรรมการ 100 ชุด ของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ขณะเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ทำขั้นตอนแทงข้าวไม่ถูกวิธีเหมือนผู้ที่มีความชำนาญทำ ดังนั้นกลายเป็นว่ามีข้าวหัก ข้าวเสียมาก ส่วนกรณีที่ตั้งข้อสงสัยข้าวเขมรปลอมปนนั้น พยานระบุว่า ลักษณะข้าวเขมร-ไทยต่างกันชัดเจน ข้าวเขมรเม็ดตรงป้อม ๆ และข้าวไทยเมล็ดงอนหัว-ท้าย และยืนยันไม่มีการนำข้าวเขมรมาในโครงการ ซึ่งระหว่างโครงการ อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์สั่งตรวจเข้มตามแนวชายแดนเฝ้าระวัง

ต่อมาเวลา 10.30 น. ศาลฎีกาฯเริ่มไต่สวนพยานจำเลยปากที่ 2 คือ นายชนุตร์ปกรณ์ วงษ์สีนิล อดีต ผอ.องค์การคลังสินค้า (อคส.) ปี 2556 โดยสรุปขั้นตอนการบันทึกข้อมูลการรับเข้า-ออกข้าวจากคลังสินค้า ซึ่งระบบสารสนเทศสามารถประมวลผลได้วันต่อวัน ได้ตอบซักค้านอัยการโจทก์ถึงกรณีที่ตัวเองถูก ป.ป.ช.ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงนั้นก็เป็นเรื่องที่บริษัทเอกชนกล่าวหาว่ารับเงิน 30 ล้านบาท ช่วยเหลือการคืนข้าวที่ล่าช้า ซึ่งสาเหตุที่ถูกร้องเรียนนั้นเพราะว่าถูกกลั่นแกล้ง เนื่องจากเอกชนจะให้การช่วยเหลือเรื่องเงินค่าปรับ แต่ตัวเองไม่รับซึ่งเคยให้การกับ ป.ป.ช.ไปแล้ว ส่วนที่มีทนายคนนอกที่ไม่ใช่ลูกจ้างขององค์การคลังสินค้ามาตรวจสอบเอกสารก่อนส่ง ป.ป.ช.เรื่องการตรวจสอบจำนำข้าวนั้น ก็เป็นคำสั่งของผู้ใหญ่ในกระทรวง

จากนั้นเวลา 13.00 น. ศาลจะนัดไต่สวนพยานปากที่ 3 คือ นายกิตติ ลิ่มสกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง ได้เบิกความตอบการซักค้านของอัยการโจทก์เกี่ยวกับผลวิจัยของทีดีอาร์ไอ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยนายกิตติเบิกความว่า ตนได้ศึกษาผลงานวิจัยของทั้งสองแห่ง และผลงานอื่น ๆ อีกทั้งยังเป็นผู้ร่วมแถลงในรัฐสภาเกี่ยวกับนโยบายโครงการจำนำข้าวว่ามีการควบคุมทางวินัยการเงินการคลัง ซึ่งได้กำหนดกรอบวงเงินที่ใช้ในโครงการจำนำข้าวไม่เกิน 5 แสนบาท หรือมีหนี้สาธารณะไม่เกิน 60% ของจีดีพี และไม่เกิน 15% ของงบประมาณ ยืนยันได้ว่า โครงการจำนำข้าวใช้เงินไม่เกินกรอบวงเงินดังกล่าว

ตีตกคำร้องทนายขัด รธน. 60

กระทั่งเวลา 14.40 น. ไต่สวนจำเลยปากสุดท้ายเสร็จ ศาลได้อ่านกระบวนพิจารณาว่า ศาลไต่สวนพยานโจทก์และพยานจำเลย รวม 45 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 26 นัด เริ่มไต่สวนเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 สำหรับที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 7 ก.ค. 2560 และคำร้องเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 11 และ17 ก.ค. 2560 ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 212 โดยโต้แย้งว่าบทบัญญัติในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 3, 25, 29, 235 วรรคหก

โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านฉบับลงวันที่ 7 ก.ค. 2560 และคำร้องโต้แย้งคัดค้านเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 20 ก.ค. 2560 ว่า ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 5 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 235 วรรคหก จะใช้ถ้อยคำว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้ศาลมีอำนาจไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ แต่ก็มีความหมายเดียวกัน ดังนั้น บทบัญญัติในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

ให้ความยุติธรรมสองฝ่ายเต็มที่

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการพิจารณาคดีนี้ ศาลได้ให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนเพิ่มเติม โดยโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม 21 ครั้ง ไต่สวนพยาน 15 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 10 นัด จำเลยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติม 51 ครั้ง ไต่สวนพยาน 30 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 16 นัด อันเป็นการให้โอกาสคู่ความรวมทั้งสองฝ่ายนำพยานมาให้ศาลไต่สวนอย่างเต็มที่แล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่าย อันเป็นหลักการสำคัญของระบบไต่สวน ตามคำร้องของจำเลยพร้อมด้วยเหตุผลที่ยกขึ้นอ้างนั้นไม่เข้าเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 212 ที่ศาลจะต้องส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย จึงให้ยกคำร้องของจำเลย

นัดฟังคำพิพากษา 25 ส.ค.

ศาลอนุญาตให้จำเลยขอแถลงปิดคดีด้วยวาจา วันที่ 1 สิงหาคม 2560 เวลา 09.30 น. และอนุญาตให้คู่ความทั้งสองฝ่ายยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2560 หากไม่ยื่นภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดี อนึ่ง ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 เวลา 09.00 น.

หลังเสร็จสิ้นการไต่สวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “หลังจากนี้จะไม่ขอให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องคดี จะขอพูดทุกอย่างในวันแถลงปิดคดีด้วยวาจาในวันที่ 1 ส.ค.”

ทั้งนี้ วัน-เวลา ที่่ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีดังกล่าวของ เป็นวันเดียวกับที่ศาลฎีกาฯนัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อม.25/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 1, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 2 และพวก

เปิดชื่อองค์คณะ 9 คน

สำหรับองค์คณะไต่สวนคดีดังกล่าว 9 คน คือ 1.นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ 2.นายวิรุฬห์ แสงเทียน 3.นายธนฤกษ์ นิติเศรณี 4.นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง 5.นายโสภณ โรจน์อนนท์ 6.นายชีพ จุลมนต์ 7.นายพิศล พิรุณ 8.นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย 9.นายธานิศ เกศวพิทักษ์

บิ๊กตู่ลั่น ถูกผิดพิสูจน์กันในศาล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า สิ่งที่น่าห่วงอีกเรื่องหนึ่งคือ ภาพที่มีคนไทยหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ มีความเคลื่อนไหวในการบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ประเทศไทยและสถาบัน หลายคนมีการโอนสัญชาติไปแล้ว แล้วก็มีเหตุผลที่อ้างคือ การถูกปฏิวัติรัฐประหาร ไม่เป็นธรรม

“รัฐบาลและ คสช.พร้อมให้ความเป็นธรรมทุกคดี ทุกคน ขอให้กลับเข้ามาสู่กระบวนการต่อสู้คดี ผมไปบังคับศาลไม่ได้ครับ ศาลก็คือศาล กระบวนการยุติธรรมคือกระบวนการยุติธรรม ผมมีหน้าที่ในการนำเข้าเท่านั้น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว