ย้อนรอย “เศรษฐกิจรัสเซีย” 6 เดือนหลังบุกยูเครน

รัสเซีย

เป็นเวลากว่า 6 เดือนหลังจากที่ “รัสเซีย” ตัดสินใจบุกโจมตียูเครนเต็มรูปแบบ ส่งผลให้นานาชาติใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพื่อกดดันรัสเซีย แม้ว่าจะยังไม่เห็นผลชัดเจนในระยะแรก แต่การแซงก์ชั่นก็กำลังกัดเซาะเศรษฐกิจรัสเซียกลายเป็นความเสี่ยงที่รัสเซียอาจก้าวเข้าสู่ภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ (stagnation)

ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า เศรษฐกิจของรัสเซียที่พึ่งพิงอยู่กับการส่งออกพลังงานกำลังเป็นปัจจัยที่ตัดสินชะตากรรม หลังจากที่มาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติ ส่งผลให้บรรดาธุรกิจและกลุ่มทุนต่างถอนตัวและตัดสัมพันธ์ทางธุรกิจกับรัสเซีย

แม้ในระยะแรก รัสเซียดูเหมือนจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก จากการเตรียมพร้อมรับมือ ทั้งการออกแบบระบบการเงินภายในประเทศ การเปลี่ยนแบรนด์ระดับโลกเป็นแบรนด์ท้องถิ่น รวมถึงการส่งออกน้ำมันราคาถูกให้กับประเทศที่ยังต้องการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย โดยเฉพาะประเทศในเอเชียอย่าง “จีนและอินเดีย”

บริษัทที่ปรึกษาตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ “เคปเลอร์” ระบุว่า การส่งออกน้ำมันทางทะเลของรัสเซียไปยังเอเชีย สัดส่วนสูงเป็น 56% ของปริมาณส่งออกทั้งหมดในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เทียบกับ 37% ในเดือน ก.ค. 2021

การแสวงหาตลาดใหม่ในเอเชีย เพื่อชดเชยกับการส่งออกพลังงานไปยังยุโรปที่หดตัวจากการแซงก์ชั่น สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ระบุว่า ปริมาณการส่งออกพลังงานของรัสเซียไปยังยุโรปลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่ลดลงราว 75% ในรอบปี

Advertisment

และเดือน ธ.ค.นี้ มาตรการแซงก์ชั่นของสหภาพยุโรป (อียู) จะมีผลครอบคลุมปริมาณการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียถึง 90% หมายความว่าจะมีน้ำมันราว 2 ล้านบาร์เรล/วัน ของรัสเซียที่ต้องหาตลาดใหม่รองรับ ท่ามกลางความไม่แน่นอนว่าความต้องการในเอเชียจะมากพอที่จะมาทดแทนยุโรปได้หรือไม่

“โฮมายูน ฟาลักชาฮี” นักวิเคราะห์จากเคปเลอร์ ระบุว่า จีนจะไม่สามารถซื้อน้ำมันของรัสเซียได้ในปริมาณมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะความต้องการน้ำมันในประเทศจีนก็ชะลอตัวเช่นกัน

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า รัสเซียพยายามยกระดับการค้ากับจีน นอกจากพลังงาน ยังรวมถึงสินค้าเกษตรอย่างถั่วเหลือง แต่การปิดกั้นพรมแดนที่เข้มงวดของจีนเป็นอุปสรรคต่อการขนส่ง ส่วนธุรกิจจีนก็กังวลในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับรัสเซีย เพราะเสี่ยงจะถูกคว่ำบาตรไปด้วย

ผลกระทบจากการแซงก์ชั่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ที่การส่งออกเซมิคอนดักเตอร์จากทั่วโลกไปยังรัสเซียลดลงถึง 90% นับจากสงครามก่อตัวขึ้น ส่งผลให้อำนาจในการผลิต “รถยนต์” ไปจนถึง “คอมพิวเตอร์” ของรัสเซียหายไป

Advertisment

ขณะที่อุตสาหกรรมการบินรัสเซียก็ไม่สามารถเข้าถึงการจัดหาชิ้นส่วนจากผู้ผลิตต่างประเทศ ทั้งยังถูกสั่งห้ามผ่านน่านฟ้าของบางประเทศ และล่าสุด อียูยังเตรียมจำกัดการออกวีซ่าให้กับชาวรัสเซีย จะมีผลให้ชาวรัสเซียเดินทางเข้าออก 27 ประเทศสมาชิกอียูยากมากขึ้น

แม้ว่ารัสเซียจะไม่ขาดแคลนพลังงานเหมือนประเทศอื่น แต่ชาวรัสเซียก็เผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพไม่ต่างกัน ด้วยเงินเฟ้อที่สูงถึง 17.8% เมื่อเดือน เม.ย. กระทั่งรัฐบาลต้องประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและเงินบำนาญอัตรา 10% และแม้ว่าเดือน ก.ค. เงินเฟ้อของรัสเซียจะลดลงมาอยู่ที่ 15.1% แต่ก็ยังสูงหากเทียบกับก่อนสงคราม

“อันเดรย์ เนเชฟ” อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจรัสเซียช่วงต้นทศวรรษ 1990 ชี้ว่า เศรษฐกิจของรัสเซียขณะนี้เริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย และมีแนวโน้มว่าต้องเผชิญกับภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจเป็นเวลานาน อันเป็นผลมาจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก