ลิซ ทรัสส์ นั่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ ชนะโหวต 57.4%

ลิซ ทรัสส์
ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษต่อจากบอริส จอห์นสัน (ภาพ REUTERS/Hannah McKay)

ลิซ ทรัสส์ รมว.ต่างประเทศ ได้คะแนนนำอดีต รมว.คลัง ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงอังกฤษ ต่อจากบอริส จอห์นสัน ในวันอังคาร (6 ก.ย.) นี้

วันที่ 5 กันยายน 2565 รอยเตอร์ รายงาน ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชนะการลงคะแนนเลือกเป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยม และเธอจะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักร แทนที่ บอริส จอห์นสัน ที่ประกาศลาออกจากตำแหน่ง และอยู่ระหว่างหาตัวแทนจากพรรคเข้ามาทำหน้าที่แทน

ลิซ ทรัสส์ ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของสหราชอาณาจักรในวันที่ 5 ก.ย. โดยได้รับคะแนนเสียง 81,326 คะแนน หรือคิดเป็น 57.4% ของผู้ลงคะแนน เฉือนคู่แข่งคือ ริชี สุนัค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลจอห์นสัน ที่ได้คะแนนเสียง 60,399 คะแนน หรือคิดเป็น 42.6% ของผู้ลงคะแนน

ทรัสส์กำลังก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำอังกฤษ ในช่วงเวลาที่อังกฤษต้องเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพ ความปั่นป่วนในภาคอุตสาหกรรม และภาวะถดถอย

“เราต้องแสดงให้เห็นว่า เราจะส่งผ่านประเทศได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า ฉันจะส่งมอบแผนการที่กล้าหาญในการลดภาษีและทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต” ทรัสส์ กล่าวหลังจากประกาศผล

“ฉันจะจัดการกับวิกฤตพลังงาน จัดการกับค่าพลังงานของผู้คน แต่ยังต้องจัดการกับปัญหาระยะยาวที่เรามีเกี่ยวกับการจัดหาพลังงาน”

คำประกาศดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ารับตำแหน่งต่อจากบอริส จอห์นสัน ผู้ที่กำลังจะกลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกบังคับให้ประกาศลาออกเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากเกิดเรื่องอื้อฉาวหลายเรื่องจากการบริหารของเขา

การลงคะแนนครั้งนี้ คือผลลัพธ์ของการลงคะแนนเสียงผู้นำขั้นสุดท้าย ซึ่งดำเนินการในหมู่สมาชิกพรรคอนุรักษนิยม โดยผู้นำคนใหม่ของพรรคจะได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภา และได้เป็นนายกรัฐมนตรีตามขั้นตอนการส่งมอบอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 ก.ย.

ลิซ ทรัสส์
ลิซ ทรัสส์ ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ที่งาน hustings ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์หาเสียงของผู้นำพรรคอนุรักษนิยมในลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 (ภาพ REUTERS/Hannah McKay/File Photo)

ทรัสส์วัย 47 ปี นายกรัฐมนตรีหญิงหลังยุคมาร์กาเรต แทตเชอร์

ทรัสส์จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของพรรคอนุรักษนิยม นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2558 หรือในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ในเวลาที่อังกฤษได้รับผลกระทบจากวิกฤตสู่วิกฤต และตอนนี้กำลังเผชิญการคาดการณ์ว่าจะประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ยาวนาน ซึ่งเกิดจากอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงแตะระดับ 10.1% ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ทรัส วัย 47 ปี ให้คำมั่นระหว่างการหาเสียงว่าจะดำเนินการแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อจัดการกับวิกฤตค่าครองชีพของสหราชอาณาจักร โดยเธอกล่าวว่า ภายใน 1 สัปดาห์เธอจะทำแผนเพื่อจัดการกับค่าพลังงานที่สูงขึ้น และการจัดหาเชื้อเพลิงในอนาคต

เธอส่งสัญญาณในระหว่างการหาเสียง เธอจะท้าทายวิธีการแบบเดิม ๆ โดยการประกาศยกเลิกการขึ้นภาษีและลดการเก็บภาษีอื่น ๆ ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์บางคนกล่าวว่า สิ่งที่เธอจะทำคือการกระตุ้นเงินเฟ้อ รวมถึงการระบุว่าเธอจะผ่อนคลายเกณฑ์การโอนเงินของธนาคารกลางอังกฤษ ซึ่งทำให้นักลงทุนทิ้งเงินปอนด์และพันธบัตรรัฐบาล

ควาซี ควาร์เต็ง ผู้ที่ถูกมองว่าจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในรัฐบาลทรัสส์ พยายามทำให้ตลาดสงบในวันที่ 5 ก.ย. โดยกล่าวในบทความในหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ว่า ภายใต้การบริหารของทรัสส์จะต้องมี “การผ่อนปรนนโยบายการคลัง” ขณะที่ฝ่ายบริหารของเธอบอกว่าจะใช้วิธี “รับผิดชอบด้วยนโยบายการเงิน” ด้วย

ลิซ ทรัสส์
ลิซ ทรัสส์ และ ฮิวจ์ โอเลียรีย์ สามีของเธอแสดงความยินดีหลังการประกาศผลคะแนนเลือกตั้งของสมาชิกพรรรคอนุรักษนิยม โดยมีคู่แข่ง ริชี สุนัค นั่งปรบมืออยู่ด้านซ้ายมือของเธอ (ภาพ Stefan Rousseau/Pool via REUTERS)

ฝ่ายค้านเรียกร้องจัดเลือกตั้งใหม่ก่อนกำหนด

อย่างไรก็ดี ทรัสส์มีต้นทุนการดำเนินนโยบายที่สูงและยาก เนื่องจากฝ่ายค้านกล่าวหาว่าปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นผลมาจากรัฐบาลอนุรักษนิยมที่บริหารประเทศมา 12 ปี และหลายคนเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งก่อนกำหนด ซึ่งทรัสส์ย้ำว่าเธอจะไม่อนุญาตให้เกิดขึ้น

เดวิด เดวิส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความท้าทายที่ทรัสส์จะได้รับในฐานะนายกรัฐมนตรีว่า อาจเป็นบทสรุปที่ยากที่สุดอันดับ 2 ของนายกรัฐมนตรีหลังสงคราม รองจากมาร์กาเรต แทตเชอร์ จากพรรคอนุรักษนิยมเมื่อปี 2522

“จริง ๆ แล้วผมไม่คิดว่าผู้สมัครคนใดคนหนึ่งที่ผ่านเข้ารอบ รู้ดีว่าเรื่องนี้จะใหญ่ขนาดไหน” เขากล่าว พร้อมเสริมว่าค่าใช้จ่ายอาจสูงถึงหลายหมื่นล้านปอนด์

ทั้งนี้ ทรัสส์กล่าวว่าเธอจะแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีที่เข้มแข็ง โดยมอบหมายให้กับกลุ่มคนที่เธอเรียกว่า “การปกครองแบบประธานาธิบดี” และเธอจะทำงานอย่างหนัก เพื่อเอาชนะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนในพรรคของเธอที่สนับสนุนสุนัคในการแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม กำหนดการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของทรัสส์ จะเกิดขึ้นในวันอังคารที่ 6 ก.ย. หลังจากบอริส จอห์นสันเดินทางไปสกอตแลนด์เพื่อพบกับควีนเอลิซาเบธ เพื่อยื่นใบลาออกอย่างเป็นทางการ โดยทรัสส์จะไปด้วย แล้วหลังจากนั้นจะเป็นการแจ้งควีนเพื่อขอจัดตั้งรัฐบาล