TPP แปลงร่างเป็น CPTPP “ญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย” หัวหอกใหม่

ข้อตกลงใหม่ในนาม “CPTPP” หรือ ข้อตกลงความครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) ของ 11 สมาชิกที่เหลือจากกรอบความร่วมมือเดิมอย่าง “TPP” (ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น หลังจากประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ประกาศจะพิจารณาการร่วมเป็นสมาชิกอีกครั้ง

“นิกเคอิ เอเชีย รีวิว” รายงานว่า การเจรจาเกิดขึ้นหลายยก หลังจากที่ผู้นำสหรัฐประกาศถอนตัวการเป็นสมาชิก TPP ตั้งแต่วันแรกที่เข้าบริหารรัฐบาลวอชิงตัน ซึ่งญี่ปุ่นและออสเตรเลียพยายามอย่างหนักเพื่อชุบชีวิต “TPP” โดยผลักดันกรอบความร่วมมือใหม่ ที่เรียกว่า “CPTPP” หรือที่บางสื่อเรียกกันว่า “TPP-11” ซึ่งเน้นไปที่การรักษาผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม แต่ยังคงลดภาษีนำเข้าระหว่างสมาชิก พร้อมข้อตกลงที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าเดิม

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีแคนาดา “จัสติน ทรูโด” แสดงความลังเลไม่ร่วมเป็นสมาชิกเพราะกังวลในธุรกิจเชิงวัฒนธรรมที่ต้องการปกป้อง เช่น อุตสาหกรรมภาพยนตร์และเพลง โดยนักวิเคราะห์มองว่า การที่แคนาดาพิจารณาออกจากการเป็นสมาชิก หนึ่งในสาเหตุก็คือ ตลาดร่วมไม่มีสหรัฐอีกต่อไป แต่ในที่สุดก็เปลี่ยนใจ พร้อมเอ่ยถึงข้อตกลงใหม่เป็นครั้งแรกผ่านเวทีเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม ว่าเป็น “ข้อตกลงที่ใช่” จึงนับว่าเป็นก้าวแรกที่ดีมากสำหรับข้อตกลง CPTPP

โดย 11 ชาติสมาชิก เห็นพ้องกันที่จะลงนามข้อตกลงใหม่ ในวันที่ 8 มี.ค.นี้ และจะทดลองใช้ภายใน 60 วัน หลังจากที่ 6 ประเทศสมาชิกจากทั้งหมด 11 ประเทศ ให้สัตยาบันรับรองข้อตกลงดังกล่าว และคาดว่าข้อตกลงใหม่จะเริ่มบังคับใช้ได้จริงในช่วงต้นปี 2019

ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือใหม่ CPTPP มีแผนจะยกเลิกภาษีศุลกากรที่ครอบคลุมสินค้าและบริการถึง 98% ในตลาดร่วม ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยข้อตกลงใหม่ที่ไม่มีสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนจีดีพีโลกราว 12.9% และคิดเป็น 14.9% ของการค้าโลก รวมถึงการเจรจาเปิดเสรีในภาคอุตสาหกรรมหลัก ๆ เช่น สิ่งทอ ลดอุปสรรคเชิงเทคนิคสำหรับธุรกิจบริการด้านสุขภาพ เปิดเสรีในภาคแรงงานมากขึ้น รวมถึงรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ขณะเดียวกันประเทศที่เคยพึ่งพาการส่งออกหรือนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ จะหันมาพึ่งพาสมาชิกมากขึ้น หมายความว่าจะสร้างรายได้ให้แก่กันแบบ “วิน-วิน”

นายโตชิมิตซึ โมเตงิ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจญี่ปุ่น ระบุว่า ข้อตกลง CPTPP จะทำหน้าที่เสมือนจักรกลสำคัญในการเอาชนะการกีดกันทางการค้าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยการผนึกกำลังทางการค้าถือเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองกับสหรัฐ และทำให้แต่ละประเทศสามารถรับมือกับมาตรการทางการค้าของสหรัฐได้ดีขึ้น เช่น “ญี่ปุ่น” ที่อาจลดการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ โดยเฉพาะข้าวสาลีและเนื้อวัว เนื่องจากการลดภาษีนำเข้าภายใต้ข้อตกลง CPTPP จะทำให้เนื้อวัวจากออสเตรเลีย และข้าวสาลีจากแคนาดาและออสเตรเลีย มีราคาที่ถูกกว่านั่นเอง

ด้าน นายสตีฟ ซิโอโบ รัฐมนตรีกระทรวงการค้าออสเตรเลีย กล่าวถึงกรอบข้อตกลง CPTPP ว่าจะเอื้อประโยชน์ทางการค้าให้กับออสเตรเลียมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าถึงตลาด เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวไม่เพียงแค่เปิดกว้างภาคอุตสาหกรรมและลดภาษีสินค้าระหว่างกันเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่รวมกฎเกณฑ์ทางการค้าเข้าด้วยกัน ซึ่งจะนำไปสู่การทำข้อตกลงการค้าแยกย่อยระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก ซึ่งจะเกิดข้อตกลงการค้าใหม่อีก 18 ฉบับ ระหว่างประเทศสมาชิก สำหรับออสเตรเลียนั่นหมายถึง การทำข้อตกลงการค้าใหม่ระหว่าง “แคนาดาและเม็กซิโก” รวมถึงการเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ อย่าง ญี่ปุ่น ชิลี สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และบรูไน

เดอะ การ์เดียน รายงานว่า แม้ข้อตกลง CPTPP อาจมีความน่าดึงดูดใจน้อยลง จากเดิมที่คิดเป็นสัดส่วน 40% ของ GDP โลก มาเหลือเพียง 14% แต่ข้อตกลงดังกล่าวคาดว่าจะกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสมาชิกได้ราว 0.3-1% และน่าจะเป็นอีกหนึ่งข้อตกลงทางการค้าที่ยืดหยุ่นที่สุดด้วย

ขณะที่ นางเซเรนา หลิง หัวหน้าฝ่ายวิจัยและกลยุทธ์จากธนาคาร OCBC ในสิงคโปร์ มองว่า “CPTPP อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันสหรัฐให้ร่วมขบวนเร็วขึ้น หรืออย่างน้อยก็น่าจะกังวลถึงผลประโยชน์ที่เสียไปจากการที่ประเทศคู่ค้าหันหลังให้ ยิ่งปัจจุบันหลายประเทศให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมขบวน CPTPP ทั้งอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ไทย และสหราชอาณาจักร หากความร่วมมือนี้เดินหน้าไปอย่างไม่สะดุด จะสร้างอำนาจต่อรองกับกระแสการค้าแบบปกป้องผลประโยชน์ได้มากขึ้น อีกทั้งมีโอกาสที่ CPTPP จะเป็น “โรลโมเดล” ของข้อตกลงการค้าเสรีอื่น ๆ ได้ เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งมีความสำคัญต่อภูมิภาคเอเชีย”

หากสหรัฐตัดสินใจจะกระโดดร่วมขบวนใหม่นี้ ก็ต้องยอมให้ “ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย” เป็นหัวหอกสำคัญ ซึ่งสมาชิกหลายประเทศอย่าง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ก็ส่งสัญญาณต้อนรับน้องใหม่อย่างสหรัฐ เพียงแต่เงื่อนไขต่าง ๆ ในกรอบข้อตกลง สหรัฐอาจจะไม่ใช่ “พระเอก” อีกต่อไป