UN คาดวันนี้ จำนวนประชากรโลก ครบ 8 พันล้านคน

ประชากร ผู้คน
Photo by Jacek Dylag on Unsplash

องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) คาดการณ์วันนี้ ประชากรโลกมีจำนวน 8 พันล้านคน ท่ามกลางสัญญาณการเกิดที่ชะลอตัวทั่วโลก พร้อมคาดการณ์ใช้เวลาอีก 15 ปี ประชากรโลกแตะ 9 ล้านคน

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ระบุว่า ในวันนี้ UN คาดว่าประชากรทั่วโลกจะมีจำนวนถึง 8 พันล้านคน นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการเพิ่มขึ้นของประชากรมาจากการพัฒนาด้านการสาธารณสุข โภชนาการ สุขอนามัยส่วนบุคคล ยาและเวชภัณฑ์รักษาโรค รวมไปถึงอัตราการเกิดที่มีระดับสูงในหลายประเทศ

UN ระบุเพิ่มว่า ประชากรโลกใช้เวลา 12 ปี ในการเพิ่มขึ้นจาก 7 พันล้านคน เป็น 8 พันล้านคน และคาดการณ์ว่าจะใช้เวลาถึง 15 ปี จำนวนประชากรถึงจะเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านคน ในปี 2580

รายงานแนวโน้มประชากรโลก ปี 2565 ขององค์การสหประชาชาติ (World Population Prospects 2022) ระบุไว้ว่า ภาวะเจริญพันธุ์ในหลายประเทศมีอัตราลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดย 2 ใน 3 ของประชากรโลก อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอัตราการเกิดตลอดชีวิต ต่ำกว่า 2.1 คนต่อผู้หญิง 1 คน ซึ่งระดับดังกล่าวจำเป็นสำหรับอัตราการเกิดเป็นศูนย์ในระยะยาว สำหรับประชากรที่มีอัตราการตายต่ำ

นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์เพิ่มเติมว่า ประชากรใน 61 ประเทศทั่วโลกจะมีอัตราการเกิดลดลงต่ำกว่าร้อยละ 1 ในปี 2565-2593 จากระดับความอุดมสมบูรณ์ที่ลดลง และอัตราการย้ายถิ่นฐานที่สูงขึ้น

พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรที่เพิ่มขึ้น จะกระจุกตัวที่ 8 ประเทศ คือ คองโก อียิปต์ เอธิโอเปีย อินเดีย ไนจีเรีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และแทนซาเนีย

องค์การสหประชาชาติ รายงานเพิ่มเติมว่า จำนวนประชากรโลกที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 16 ในปี 2593 และคาดว่าจะมีจำนวนผู้สูงอายุเป็น 2 เท่า จากจำนวนเด็กทั่วโลกที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และมีจำนวนใกล้เคียงกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี

ส่วนอายุขัยเฉลี่ยของประชากรทั่วโลก อยู่ที่ 72.8 ปี ในปี 2562 เพิ่มขึ้นเกือบ 9 ปี นับตั้งแต่ปี 2533 โดยอัตราการตายที่ลดลงเพิ่มเติม จะส่งผลให้อายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 77.2 ปี ในปี 2593 แต่ในปี 2564 อายุขัยของกลุ่มประชากรประเทศด้อยพัฒนา จะมีค่าเฉลี่ยน้อยกว่า 7 ปี จากค่าเฉลี่ยปกติ

ขณะที่อายุขัยเฉลี่ยในช่วงปี 2564 มีอัตราลดลงเป็น 71 ปี จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากร และในบางประเทศ การแพร่ระบาดที่มีระลอกติดต่อกัน อาจทำให้จำนวนการตั้งครรภ์และการเกิดลดลงในระยะสั้น

องค์การสหประชาชาติ ยังระบุด้วยว่า ภูมิภาคที่อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรช้ากว่า แต่รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากขึ้น และนำไปสู่การผลิตและการบริโภคที่ไม่ยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของประชากรที่ช้าลงในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา อาจช่วยลดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษปัจจุบัน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ตัวเลขจากเว็บไซต์ worldometers.info ระบุว่า จำนวนประชากรทั่วโลก ณ เวลา 10.37 น. อยู่ที่ประมาณ 7,999,966,600 คนแล้ว โดยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ทั่วโลกอยู่ที่ราว 162,000 คน