บอลโลก กติกานอกเกม

ฟุตบอลโลก
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

ใคร ๆ ก็รู้ว่าฟุตบอลโลกไม่ใช่แค่เกมกีฬาดวลแข้ง ถ้าลองต้องไประดมเงินลงขันกันระทึกทั้งรัฐและเอกชน 1,400 ล้านบาท เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ชมการแข่งขัน

ขณะที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า แถลงเปิดตัวเลขรายได้จากดีลธุรกิจต่าง ๆ ของฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ช่วง 4 ปีมานี้ สูงถึง 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 2.7 แสนล้านบาท

สูงกว่า ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย 1 พันล้านดอลลาร์ จนคาดกันว่าครั้งต่อไป เวิลด์คัพ 2026 ที่มีเจ้าภาพจัดการแข่งขันถึง 3 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ฟีฟ่าจะทำเงินแตะ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเกิน 3.5 แสนล้านบาท

ถ้าหันไปดูโฆษณาฮือฮาหลุยส์ วิตตอง แบรนด์หรูระดับโลกที่ตั้งใจปล่อยช่วงบอลโลก จับเอาสองซูเปอร์สตาร์แห่งยุค คริสเตียโน โรนัลโด กับ ลีโอเนล เมสซี มาอยู่ในเฟรมเดียวกันได้ ก็ยิ่งเห็นว่าธุรกิจนี้มีมูลค่ามหาศาล

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มาแรงพอ ๆ กับเรื่องเศรษฐกิจสำหรับฟุตบอลโลก ก็คือประเด็นทางการเมือง ทั้งกับเจ้าภาพกาตาร์และบรรดาประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน

ฟุตบอลโลกที่กาตาร์เต็มไปด้วยปมการประท้วงตั้งแต่ยังไม่เริ่ม เพราะชาติมหาเศรษฐีน้ำมันทุ่มทุนไปกับงานนี้กว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 7 ล้านล้านบาท ผุดทั้งสนามฟุตบอลแห่งใหม่ โรงแรม ถนนหนทาง ปรับโฉมเมือง ฯลฯ

ด้วยการก่อสร้างมหาศาล จึงมีคนงานต่างด้าวเข้าไปทำงานในกาตาร์เกิน 30,000 คน เผชิญกับความเสี่ยงในการทำงานจนมีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตจนเป็นเรื่องที่ถูกประท้วงขึ้นมา

รัฐบาลกาตาร์ระบุว่า ยอดรวมแรงงานที่เสียชีวิต 37 คน ช่วงปี 2557-2563 และในจำนวนนี้มีเพียง 3 คนที่เสียชีวิตจากการทำงานเกี่ยวกับฟุตบอลโลก แต่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO โต้แย้งตัวเลขนี้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะกาตาร์ไม่ได้นับการเสียชีวิตจากโรคทางหัวใจที่มีปัจจัยหลักจากการทำงานท่ามกลางอากาศร้อนจัดในชาติอาหรับ

ตัวเลขที่ไอแอลโอนับได้คือ ปี 2564 ปีเดียว มีแรงงานต่างชาติเสียชีวิตในโครงการก่อสร้างของฟุตบอลโลก 50 ราย และอีกกว่า 500 คนล้มป่วยหรือบาดเจ็บ

ประเด็นการเมืองยังไม่หมดเท่านี้ แต่ยังงอกออกมาเป็นประเด็นใหญ่น้อยนอกสนาม

เริ่มตั้งแต่ฟีฟ่าแบนรัสเซียพ้นจากฟุตบอลโลก แทบจะทันทีที่สงครามบุกยูเครนเปิดฉากเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ จึงเท่ากับฟีฟ่าตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ไม่ต้องลุ้นว่าหากรัสเซียได้เข้ารอบไปกาตาร์แล้วจะเป็นอย่างไร

จากนั้นเดือนกันยายนเกิดเหตุเขย่าอำนาจรัฐบาลอิหร่าน เมื่อหญิงสาวชื่อ มาห์ซา อามินี เสียชีวิตด้วยวัยเพียง 22 ปี ขณะอยู่ในการควบคุมของตำรวจศีลธรรมฐานไม่โพกผ้าคลุมศีรษะให้ถูกต้อง จึงเกิดการลุกฮือประท้วงทั่วประเทศโดยเฉพาะคนหนุ่มสาว

การรับมือของรัฐบาลสายแข็ง ยิ่งทำให้สถานการณ์พังหนักกว่าเดิม เพราะการปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง ทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตายอีกนับร้อย และอีกหลายเคสเผยว่าถูกล่วงละเมิด

เมื่อฟุตบอลโลกเปิดเกมในสนาม นัดอังกฤษ-อิหร่าน นักเตะอิหร่านจึงไม่ร้องเพลงชาติให้โลกเห็น ส่งสารว่าประชาชนอยู่คนละฝั่งกับรัฐบาลในเรื่องนี้

ภาพถ่ายพิพาทของนักเตะก่อนเริ่มเกมอีกภาพ คือทีมเยอรมนีในนัดดวลญี่ปุ่น (แล้วแพ้) เหล่านักเตะทีมชาติเอามือปิดปาก เพื่อประท้วงที่ฟีฟ่าไม่ยอมให้กัปตันทีมใส่ปลอกแขนเขียนรูปหัวใจหลากสี เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ

ฟีฟ่าบอกว่าไม่ควรเอาเรื่องการเมืองเข้าไปปะปนกับฟุตบอล แต่เยอรมนีและชาติยุโรปโต้แย้งว่า สิทธิมนุษยชนไม่ใช่การเมือง เป็นเรื่องสำคัญที่จะมาต่อรองกันไม่ได้

การโต้เถียงที่คุกรุ่นยิ่งกว่าเกมการแข่งขันนี้ตอกย้ำว่า ฟุตบอลโลกไม่ใช่แค่เกมกีฬาลูกกลม ๆ หากต้องต่อสู้กันนอกสนามว่าใครจะเป็นฝ่ายกำหนดกติกา