“มุมไบ” รุกสร้างสนามบินใหม่ สร้างอนาคตอินเดีย รองรับ ศก.โตไว !

“นาวี มุมไบ อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต” สนามบินแห่งใหม่ของเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย กำลังจะเริ่มต้นโครงการก่อสร้าง หลังจากรอคอยมานานถึง22 ปี นับตั้งแต่ครั้งแรกที่ยื่นเสนอโครงการเมกะโปรเจ็กต์นี้ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองมุมไบ ศูนย์กลางการเงินทางธุรกิจของอินเดีย 22 ไมล์ ในทางตอนใต้ โดยคาดการณ์ว่า ส่วนแรกของสนามบินนี้จะเปิดใช้งานได้ในธันวาคม ปี 2019 พร้อมรองรับผู้โดยสารได้ 10 ล้านคนต่อปี

“นเรนทรา โมดี” นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย กล่าวถึงการจัดสร้างสนามบินมุมไบแห่งใหม่นี้ว่า เป็นความพยายามในการไล่ตามอุตสาหกรรมการบินโลกที่ขยายตัวเร็วขึ้นทุกวัน ๆ ซึ่งปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานการบินของอินเดียยังตามหลังอุตสาหกรรมการบินอยู่มาก ซึ่งรัฐบาลกลางแห่งอินเดียคาดว่า สนามบินใหม่ เมื่อแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะรองรับคนได้กว่า 60 ล้านคนต่อปี และจะช่วยให้ปัญหาไฟลต์ดีเลย์บรรเทาลง ซึ่งหมายถึงโอกาสในการรับนักธุรกิจและนักเดินทางจากทั่วโลก พร้อมกับรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในฐานะตลาดเกิดใหม่ที่โตไวที่สุดในโลก

เมื่อปีที่แล้วสำนักข่าว “เดอะ ไทม์ ออฟ อินเดีย” รายงานว่า สนามบินมุมไบเป็นสนามบินเดียว ที่ขึ้นแท่นสนามบินที่รับมือกับไฟลต์บินมากที่สุดในโลก โดยใน 1 วัน มีมากถึง 969 ไฟลต์บิน ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้สนามบินมุมไบขึ้นชื่อว่าดีเลย์บ่อยมาก

ข้อมูลวิจัยจากมาร์ติน คอนซัลแทนต์ ชี้ว่า เครื่องบินจากสนามบินมุมไบ ต้องใช้เวลารอสลอตเพื่อเทกออฟ ขั้นต่ำ 45-60 นาที ในช่วงเวลาเร่งด่วน ขณะที่สนามบินที่สิงคโปร์ใช้เวลา 25 นาที และสนามบินในกรุงโดฮา 0 นาที

และไม่ใช่แค่มุมไบเท่านั้น แต่ปัญหาสนามบินแออัดก็มีให้เห็นเป็นปกติในหลายเมืองใหญ่ แม้ว่าอินเดียจะเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ และมีศักยภาพในการขึ้นเป็นฮับการบินภูมิภาค แต่กลับเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญหน้ากับปัญหา “ขาดแคลนสนามบิน” อย่างหนัก ด้วยสนามบินส่วนมากที่มีรันเวย์เดียว ไม่เพียงพอต่อความต้องการในการเดินทางของผู้โดยสาร ทำให้การจราจรทางอากาศในแดนภารต ถือได้ว่าคับคั่งมาก

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า ในระยะเวลา 15 ปีข้างหน้า รัฐบาลอินเดียต้องสำรองเงินราว 4 ล้านล้านรูปี หรือ 62,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการสร้างสนามบินเพิ่มทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแห่งอินเดีย “อรุณ เจทลีย์” ประกาศว่า รัฐบาลต้องการเพิ่มสนามบินมากขึ้น 5 เท่าเพื่อรองรับเที่ยวบินกว่าพันล้านเที่ยว โดยเล็งปรับปรุง 56 สนามบิน และ 31 ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ที่ไม่มีการใช้งาน

ขณะที่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา สายการบินราคาถูกเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชากรในโลกมีการเคลื่อนย้ายอย่างคล่องตัวมากขึ้น

“เอเชีย-แปซิฟิก” กลายเป็นภูมิภาคที่มีความต้องการด้านการบินเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยในปี 2016 ผลสำรวจจากสภาการบินระดับนานาชาติ ระบุว่า หลาย ๆ สนามบินในเอเชียมีความต้องการใช้งานเติบโตในอัตราสูง โดยสนามบิน 3 อันดับแรกของโลก ที่มีความต้องการใช้งานเพิ่มขึ้นมากสุดคือ สนามบินนิวเดลี อินเดีย (21%) สนามบินอินชอน เกาหลีใต้ (17.1%) สนามบินคุนหมิง จีน (11.9%)

“จีน” ถือเป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมากแซงอินเดียในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินเพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ในปี 2019 รัฐบาลจีนเตรียมเปิดตัวสนามบินปักกิ่งแห่งใหม่ที่่จะรองรับคนได้กว่า 75 ล้านคนต่อปี โดยมีรันเวย์มากถึง 7 เลน ทั้งรัฐบาลยังมีแผนว่าภายในปี 2022 จะสร้างสนามบินเพิ่มขึ้นอีก 66 แห่ง

ขณะเดียวกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศ ต่างเร่งเครื่องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการบินสุดกำลัง เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน โดยสนามบินถือเป็นหนึ่งสิ่งอำนวยความสะดวก ที่แต่ละรัฐบาลเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ควรพัฒนาและลงทุนเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย เวียดนาม หรือฟิลิปปินส์

รวมทั้ง “ชางงี แอร์พอร์ต” สนามบินของสิงคโปร์ ประเทศแห่งการท่า ซึ่งได้แชมป์สนามบินที่ดีที่สุดในโลก 5 ปีซ้อน ก็ไม่เคยหยุดพัฒนา รองรับความต้องการที่ขยายตัวมากขึ้น ปลายปีที่แล้ว สนามบินชางงี เปิดให้บริการเทอร์มินอล 4 อาคารผู้โดยสารสุดล้ำ ดีไซน์ล้ำสมัย ที่ใช้ระบบอัตโนมัติเกือบทั้งหมด ตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านการบินอย่างแท้จริง