ถอดวิธีคิด…”มาซาโยชิ ซัน” บิ๊ก “ซอฟต์แบงก์” เจ้าของกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

AFP PHOTO / Kazuhiro NOGI

ช่วงที่ผ่านมา ชื่อของ “ซอฟต์แบงก์” บริษัทเทเลคอมและบริษัทลงทุนด้านเทคโนโลยีอนาคต ขึ้นพาดหัวเว็บไซต์และหนังสือพิมพ์ธุรกิจระดับโลกทุกวัน จากการขยายการลงทุนอย่างเต็มพิกัด โดยหัวหอกนำการลงทุนก็ไม่ใช่ใครที่ไหน “มาซาโยชิ ซัน” ชาวเกาหลีใต้ที่เกิดและโตที่เกาะคิวชูของญี่ปุ่น วัย 60 ปี

ซีอีโอซอฟต์แบงก์ และเจ้าของกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก “วิชั่นฟันด์” มูลค่าเกือบแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และชายผู้ได้ชื่อว่าร่ำรวยที่สุดในญี่ปุ่น ณ ขณะนี้ ซอฟต์แบงก์มีดีลการลงทุนเกิดขึ้นทุกสัปดาห์

โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี เขาไล่ลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในธุรกิจ ride-sharing อย่าง “Uber” “Grab” กลุ่มโคเวิร์กกิ้งสเปซ อย่าง “We Work” ทั้งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “อาลีบาบา” ตั้งแต่อาลีบาบายังไม่ใหญ่โตขนาดนี้

ภาพขยายการลงทุนของซอฟต์แบงก์ได้กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับแวดวงธุรกิจไปแล้ว แต่ใช่ว่าความตื่นเต้นต่อการเดินหมากของมาซาโยชิจะหายไป นักลงทุนยังคงจับตาว่าซอฟต์แบงก์จะจับการลงทุนกับอุตสาหกรรมอะไรในอนาคตอยู่เสมอ

แม้ว่าการลงทุนหลายครั้งจะค้านสายตาสาธารณชน รวมไปถึงสายตาของบอร์ดบริหารและนักลงทุนในกองทุนของซอฟต์แบงก์ แต่แทบทุกครั้งก็ต้องยอมรับว่า มาซาโยชิ ก็ได้พิสูจน์ในตอนท้ายว่ามันเวิร์ก

มาซาโยชิเริ่มธุรกิจตั้งแต่เรียนคณะเศรษฐศาสตร์และคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ ทำให้เขาเชื่อมั่นว่าคอมพิวเตอร์จะเปลี่ยนแปลงโลกนับจากนั้น เขาเป็นเนิร์ดเทคโนโลยีอย่างสมบูรณ์แบบ และมีวิธีการคิดการลงทุนที่ไม่เหมือนใครเลยจริง ๆ

นับตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา ซอฟต์แบงก์ได้มีการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีต่าง ๆ กว่า 145,000 ล้านดอลลาร์และปี 2017 ที่ผ่านมาก็ได้มีการลงทุนอีกกว่า 37,000 ล้านดอลลาร์ ในกว่า 40 บริษัท

ผู้บริหารซอฟต์แบงก์ที่ใกล้ชิดกับมาซาโยชิกล่าวว่า บางทีพวกเขาก็ไม่เข้าใจวิธีคิดของมาซาโยชิสักเท่าไหร่ เพราะบางครั้งการลงทุนเกิดขึ้นแบบฉับพลัน ใช้เวลาตัดสินใจไม่ถึง 30 นาที แต่หลายครั้งมาซาโยชิก็ใช้เวลาหลายเดือนในการศึกษาและการตัดสินใจลงทุน

หลายคนบอกว่า บางครั้งมาซาโยชิลงทุนด้วยสัญชาตญาณ อย่างในปี 2000 ที่เขาตัดสินใจลงทุนกับ “อาลีบาบา”20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะเห็นแววตาอันเป็นประกายของแจ็ค หม่า ซึ่งปัจจุบัน

หุ้นของอาลีบาบาที่ซอฟต์แบงก์ลงทุนมีมูลค่ามากถึง 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในแวดวงเทคโนโลยีการเงิน ก็เชื่อว่าการตัดสินใจลงทุนมหาศาลของมาซาโยชิ ช่วยต่อลมหายใจให้สตาร์ตอัพหลายราย และเพิ่มมูลค่าธุรกิจให้กับอีกหลายเจ้า ซึ่งช่วงที่ผ่านมา มาซาโยชิใส่เงินลงทุนในสตาร์ตอัพยูนิคอร์นรวมมูลค่าราว 90,000 ล้านดอลลาร์

หรืออย่างเมื่อครั้งตัดสินใจลงทุนในสตาร์ตอัพของสหรัฐที่ทำธุรกิจปลูกต้นไม้ในอาคารอย่าง “Plenty” มาซาโยชิให้เจ้าของสตาร์ตอัพเล่าถึงโปรเจ็กต์ภายใน 15 นาที เมื่อเล่าจบ มาซาโยชิบอกให้สตาร์ตอัพคิดให้ใหญ่ขึ้น คิดไปให้ถึงการตีตลาดต่างประเทศ จากนั้นเขาใช้เวลาเพียง 30 นาทีในการตัดสินใจลงเงินสนับสนุนไป 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สิ่งที่สตาร์ตอัพรายนี้สามารถจับใจมาซาโยชิ น่าจะเป็นเพราะการนำปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และ internet of things มาใช้ร่วมในธุรกิจ มาซาโยชิเคยชม Plenty ต่อหน้าสื่อในเรื่องนี้

“ไซมอน ซีการ์” ผู้อำนวยการซอฟต์แบงก์ เคยเล่าว่า “มาซาโยชิ ซัน” มักจะสนใจบริษัทที่ทำงานเกี่ยวกับการทำบิ๊กดาต้าของผู้คนว่าใช้ชีวิตอย่างไร ทำงานอะไร หลายครั้งที่มาซาโยชิลงทุนโดยไม่ถามความเห็นบอร์ด หรือพาร์ตเนอร์ในกองทุน เพราะคิดว่าช้าเกินไป และใช้วิธีลงทุนไปก่อน และค่อยกลับมาให้บอร์ดอนุมัติภายหลังแต่ก็มีหลายครั้งที่มาซาโยชิศึกษาธุรกิจที่ต้องการลงทุนอย่างหนัก เพื่อนำเสนอต่อบอร์ดและมาพร้อมเอกสาร 100 กว่าหน้า

“ถ้ามองจากภายนอกอาจจะเห็นว่า การลงทุนของมาซาโยชินั้นอาจมีความเสี่ยงสูงกว่าที่บริษัทอื่น แต่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็ได้ตอบเราแล้วว่า การลงทุนของมาซาโยชิมักจะถูก มากกว่าผิด” ซีการ์กล่าว

“ยาสุฮิโระ ซาโต้” ซีอีโอจากธนาคารมิซูโฮะ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินของซอฟต์แบงก์ระบุว่า แม้ว่าการลงทุนของมาซาโยชิและวิชั่นฟันด์จะดูรวดเร็ว แต่บอร์ดบริหารก็ยืนยันว่าได้มอนิเตอร์ความเสี่ยงอย่างเต็มที่เสมอ

ล่าสุด มาซาโยชิก็คิดไม่เหมือนใครอีกครั้ง เมื่อจะนำ “วิชั่นฟันด์” ลงทุนใน “Wag Labs” สตาร์ตอัพรับจ้างพาสุนัขเดินเล่น ซึ่งมาซาโยชิระบุว่า นี่คือ “อูเบอร์สำหรับหมา”

อย่างไรก็ตาม เพราะการลงทุนมหาศาลทำให้ซอฟต์แบงก์มีหนี้มากกว่าทุนในปัจจุบัน แต่มาซาโยชิก็คงจะลงทุนต่อไป เพราะเขารักในโลกเทคโนโลยี และเขาคงมาเกิดมาเพื่อสนุกไปกับการค้นคว้าศึกษาเทคโนโลยี และทิศทางของโลกอนาคต

เป้าหมายของมาซาโยชิ ซัน ที่ได้ตั้งใจไว้ คือ การเข้าไปมีส่วนร่วมในบริษัทเทคโนโลยีหลายบริษัท และทำให้ซอฟต์แบงก์เติบโต และสามารถโต้คลื่นดิจิทัลดิสรัปชั่น เป็นกิจการที่มีอายุนานถึง 300 ปี