มะกันสกัดดาวรุ่ง “หัวเว่ย” หวั่นแผ่อิทธิพลเครือข่าย 5G

ดูเหมือนว่าช่วงที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาพยายามสกัดดาวรุ่ง “หัวเว่ย” แบรนด์มือถือระดับโลกสัญชาติจีนเต็มพิกัด จากเมื่อต้นปีหัวเว่ยวางแผนเจาะตลาดสหรัฐอเมริกา ตั้งใจเปิดตัว สมาร์ทโฟน “Mate 10 Pro” ด้วยแผนทำตลาดร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือรายใหญ่ของสหรัฐอย่าง AT&T และ Verizon แต่ก็ไปไม่ถึงฝัน เมื่อทั้ง 2 เครือข่ายได้ยกเลิกดีล หลังถูกหน่วยข่าวกรองสหรัฐกดดัน โดยให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการให้ชาวสหรัฐซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการจากผู้ผลิตจีน เพราะกังวลเรื่องความเสี่ยงในการขโมยข้อมูลต่าง ๆ

หลังดีลดังกล่าวล้ม แม้ว่าหัวเว่ยจะยังมีพาร์ตเนอร์ร้านค้าแก็ดเจตใหญ่ ๆ อยู่บ้าง เช่น Bestbuy, Amazon, Microsoft Store และ B&H Photo ให้วางขายผ่านช่องทางออนไลน์ในสหรัฐ แต่ “ริชาร์ด หยู” เจ้าพ่อหัวเว่ย ก็แสดงอาการหัวเสียอย่างเห็นได้ชัดในงานเปิดตัว Mate 10 Pro ในสหรัฐอเมริกา พร้อมบ่นว่า “ทุกคนรู้ดีว่า ตลาดมือถือสหรัฐกว่า 90% นั้น เป็นการขายผ่านผู้ให้บริการมือถือ นี่จึงถือเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ของหัวเว่ย และของผู้ให้บริการเครือข่ายด้วย แต่คนที่สูญเสียมากที่สุดคือผู้บริโภค เพราะขาดตัวเลือกที่ดีที่สุดไป”

ทั้งนี้ แอ็กชั่นที่เกิดขึ้นจากวอชิงตันอาจจะไม่ได้มีมูลจากแค่เรื่องกลัวการโจรกรรมข้อมูลเท่านั้น เพราะล่าสุดเดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล รายงานกรณีที่คณะกรรมการการลงทุนจากต่างประเทศในสหรัฐอเมริกาเข้าแทรกแซงการที่ “Broadcom” บริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติสิงคโปร์จะเข้าเทกโอเวอร์ “Qualcomm” ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา

โดยแถลงการณ์อธิบายว่า ทางคณะกรรมการมีความกังวลในการเข้าเทกโอเวอร์จากต่างชาติ ซึ่งอาจเข้ามาแทรกแซงด้านความมั่นคง และมีการอ้างถึงความกังวลใจที่หัวเว่ยจะเข้ามามีส่วนในการพัฒนาระบบ 5G ในสหรัฐ และในเวลาเดียวกันบางประเทศในโลกตะวันตกก็ได้แสดงความกังวลว่า หากประเทศจีนสามารถขยายการลงทุน
เครือข่าย 5G ได้ก่อนสหรัฐ จะไม่มีใครหยุดจีนได้ เนื่องจาก 5G จะเป็นเครือข่ายที่จะเข้ามารองรับการใช้งาน Internet of Things หรือระบบทำงานอัตโนมัติ และปัจจุบันจีนก็มีทั้งความรวดเร็วและความสามารถในการพัฒนานวัตกรรม เห็นได้จากตัวอย่างการพัฒนาเทคโนโลยี “รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ” ที่รุดหน้ากว่าหลายประเทศก้าวหน้า

ผู้กำกับนโยบายสหรัฐและผู้บริหารในแวดวงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้แสดงความกังวลอย่างสูงว่า หากจีนได้รับความช่วยเหลือจากหัวเว่ย ซึ่งเป็นบริษัทไอที ผู้สร้างนักพัฒนาหัวกะทิของจีนหลายพันคน ในอนาคตประเทศจีนอาจจะกลายเป็น “ซิลิกอน วัลเลย์” แห่งใหม่ของโลกได้

และหากหัวเว่ยขยายการผลิตในส่วนของอุปกรณ์มือถือและก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกอย่างแท้จริง ทางการสหรัฐอเมริกาเกรงว่า ผู้ให้บริการระบบไร้สายของอเมริกาอาจจะไม่มีทางเลือกในอนาคต นอกเสียจากต้องใช้อุปกรณ์จากหัวเว่ยเพราะปัจจุบันมีบริษัทของโลกไม่กี่รายที่โดดเข้ามาพัฒนา 5G อย่างเต็มตัว ซึ่งหัวเว่ยเป็นหนึ่งในนั้น โดยมีทั้งสิทธิบัตร ชิปมือถือ โทรศัพท์มือถือเราเตอร์ และเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ

ขณะที่โฆษกหัวเว่ยออกมาตอบโต้สหรัฐว่า หัวเว่ยเป็นบริษัทเอกชน ไม่ได้มีรัฐบาลอยู่เบื้องหลัง หรือเป็นสปายใช้เทคโนโลยีล้วงข้อมูลใคร พร้อมระบุว่า หัวเว่ยไม่ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงมากกว่าผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐจับตา “หัวเว่ย” ในปี 2012 คองเกรสเคยสั่งระงับไม่ให้ผู้ให้บริการในประเทศใช้สินค้าจากหัวเว่ย หลังมีรายงานข่าวระบุว่า รัฐบาลจีนบังคับให้หัวเว่ยใช้ความรู้ด้านนวัตกรรมและการออกแบบ เพื่อสอดแนมหรือสร้างความวุ่นวายแก่เครือข่ายคมนาคมรวมไปถึงเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

“โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ลงนามในร่างกฎหมายงบประมาณป้องกันประเทศ ระบุห้ามไม่ให้มีการสั่งซื้ออุปกรณ์จากหัวเว่ย หรือแซดทีอี ผู้ผลิตจากจีน เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอาวุธนิวเคลียร์ของกระทรวงกลาโหม