สินค้าโภคภัณฑ์ราคาร่วง บ่งชี้เศรษฐกิจโลกถดถอย

คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์หลายคนเห็นตรงกันว่า สภาวะเศรษฐกิจโลกในยามนี้ตกอยู่ในสภาพสับสนพอสมควร ด้วยเหตุที่ว่ามีปัจจัยสารพัดที่ก่อให้เกิดความกังวลว่า ถึงที่สุดแล้วเศรษฐกิจของทั้งโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีกไม่ช้าไม่นาน

ที่เห็นกันชัด ๆ ก็คือ พอความกลัว ความกังวลจากภาวะเงินเฟ้อผ่อนคลายลง ปัจจัยใหม่ก็คืบคลานเข้ามาแทนที่ นั่นคือการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก ตั้งแต่ข้าวสาลีไปจนถึงพลังงานชนิดต่าง ๆ ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง

ตามข้อมูลของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอาหาร ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขยับสูงขึ้นต่อเนื่องจนถึงเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ ก่อนหน้าที่รัสเซียจะกรีธาทัพบุกยูเครน ระดับ ราคาพุ่งขึ้นสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2022 คือราว 2 เดือนหลังจากการบุกยูเครน

แต่ในตอนนี้ คาดกันว่า ราคาสินค้าประเภทอาหารดังกล่าวนี้จะร่วงลงมากถึง 21 เปอร์เซ็นต์ในปี 2023 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

“อัยฮาน โคเซ่” รองหัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารโลก ยอมรับว่า ดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่จัดทำโดยธนาคารโลก มีแนวโน้มลดต่ำลง

ดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกสำหรับ 5 เดือนแรกในปี 2023 ของธนาคารโลก สะท้อนภาพดังกล่าวได้อย่างชัดเจน เพราะลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยหลายปัจจัยด้วยกัน ตั้งแต่เรื่องของการหาหนทางใหม่สำหรับการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญจากทั้งยูเครนและรัสเซีย, สภาพอากาศในหน้าหนาวที่ไม่หนักอย่างที่คาด และที่สำคัญที่สุดก็คือ การชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก

เหตุระเบิดเขื่อนขนาดใหญ่ทางตะวันออก เฉียงใต้ของยูเครนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ยิ่งทำให้ราคาสินค้าอาหารผันผวนมากยิ่งขึ้น

ตัวเลขของธนาคารโลกสอดคล้องกับตัวเลขดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์อาหารขององค์การอาหารและเกษตรกรรม (เอฟเอโอ) ของสหประชาชาติ ที่ติดตามบันทึกข้อมูลสินค้าอาหารจากทั่วโลกตลอดเวลา

ดัชนีของเอฟเอโอแสดงให้เห็นว่า ราคาสินค้าจำพวกอาหารทั้งหลายลดลง 22% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ราคาน้ำมันพืชลดลงมากที่สุดถึง 48% ธัญพืช อย่างเช่น ข้าวสาลีและข้าวโพด ลดลง 25% จากระดับราคาที่เคยสูงสุดเมื่อปีที่แล้ว

เฉพาะในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ราคาข้าวสาลีร่วงลง 3.5% เป็นผลจากการทำความตกลงยืดเวลาข้อตกลงส่งออกธัญพืชผ่านทะเลดำระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก

แต่ในเวลาเดียวกัน การระเบิดเขื่อนก็อาจทำให้สถานการณ์เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เพราะการสู้รบอาจหนักหน่วงรุนแรง ขึ้นจนเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก ในอีกทางหนึ่ง ภาวะน้ำท่วมที่เกิดจากการระเบิดเขื่อน ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมหลักของยูเครน อีกทั้งการสร้างเขื่อนใหม่ก็อาจต้องใช้เวลานานหลายปี

เหตุเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดภาวะตึงตัวของสินค้าธัญพืชได้ในครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป

ความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทพลังงานก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน โดยหลักทรัพย์ภาคอุตสาหกรรมพลังงานในดัชนีเอสแอนด์พี 500 ถือเป็นหลักทรัพย์ระดับ “เบสต์เพอร์ฟอร์เมอร์” ทั้งในปี 2021 และ 2022 ที่ผ่านมา

แต่ตอนนี้ ดัชนีหลักทรัพย์ภาคพลังงานพลิกกลับเป็นตรงกันข้าม ร่วงลง 5% นับตั้งแต่เริ่มต้นปีเรื่อยมา ในขณะที่ทั้งตลาดบวกเพิ่มขึ้นถึง 8%

ราคาพลังงานโดยรวมคาดว่าตลอดทั้งปีนี้จะลดลงราว 26% ราคาน้ำมันดิบชนิดเบรนต์คาดว่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีนี้ ลดลง 18% จากราคาเฉลี่ยตลอดปี 2022

ราคาก๊าซธรรมชาติทั้งในยุโรปและในสหรัฐอเมริกา คาดการณ์กันว่าจะลดลงถึง 50% ส่วนราคาถ่านหินก็เช่นเดียวกัน จะร่วงลงมากถึง 42% ในปี 2023 นี้

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จำพวกโลหะอุตสาหกรรมก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน ราคาทองแดงในตลาดโลกลงถึงระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือนในสัปดาห์ที่สองของเดือนมิถุนายน ส่วนราคาโลหะอุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็ได้รับแรงกดดันจากการฟื้นตัวแบบกระท่อนกระแท่นในจีน ซึ่งบริโภคโลหะอุตสาหกรรมมากถึง 23% ของทั้งโลก ทำให้ราคาทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง

ธนาคารโลกชี้ว่า ราคาโลหะอุตสาหกรรม จะมีเสถียรภาพหรือไม่ในปีนี้ ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นสำคัญ

อัยฮาน โคเซ่ ยอมรับว่า การที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ลดลง ซึ่งส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งโลกชะลอลง แต่โคเซ่ก็ยังยืนยันว่า ไม่ควรมองว่า การที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงดังกล่าวคือ “สัญญาณบ่งชี้” ว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอย

โคเซ่กล่าวว่า ธนาคารโลกยังคงเชื่อว่า เศรษฐกิจโลกแม้จะอ่อนแอลง แต่ก็ยังจะสามารถหลีกเลี่ยงจากภาวะโดยมีข้อแม้ว่า ปัญหาในระบบธนาคารของสหรัฐอเมริกาและยุโรปต้องอยู่ภายใต้การควบคุม ไม่ลุกลามมากไปกว่าที่เป็นอยู่

เขาชี้ว่า การที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง ถือเป็นปัจจัยบวก ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดต่ำลง ช่วยให้ประเทศต่าง ๆ รับมือกับภาวะเงินเฟ้อได้ดีขึ้นด้วยซ้ำไป