คลอเดีย โกลดิน ผู้ศึกษาความไม่เท่าเทียมของค่าจ้างระหว่างเพศ คว้าโนเบลเศรษฐศาสตร์

คลอเดีย โกลดิน ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2023
คลอเดีย โกลดิน ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2023 (ภาพโดย Brian Snyder/ REUTERS)

คลอเดีย โกลดิน ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์หญิงจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ผู้ศึกษาสาเหตุของความไม่เท่าเทียมของค่าจ้างระหว่างเพศ คว้ารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2023 

วันที่ 9 ตุลาคม 2023 มีการประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ โดยราชบัณฑิตยสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน ที่กรุงสตอกโฮล์ม ซึ่งเป็นการประกาศรางวัลโนเบลสาขาสุดท้ายของปีนี้ 

ผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีนี้ได้แก่ คลอเดีย โกลดิน (Claudia Goldin) นักประวัติศาสตร์เศรษฐศาสตร์หญิงวัย 77 ปี แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ซึ่งราชบัณฑิตยสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน ประกาศว่า คลอเดีย โกลดิน ได้รับรางวัลจากผลงานการศึกษาค้นคว้าซึ่งช่วยให้เกิดความเข้าใจบทบาทของผู้หญิงในตลาดแรงงาน 

“คลอเดีย โกลดิน ผู้ได้รับรางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีนี้ได้ได้ให้การอธิบายที่ครอบคลุมเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับรายได้ของผู้หญิงและการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา งานวิจัยของเธอเผยให้เห็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนสาเหตุหลักของช่องว่างทางเพศที่ยังคงดำเนินอยู่”

โกลดิน เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ในแผนกเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี 1990 เธอเป็นเพียงผู้หญิงคนที่ 3 ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ และเป็นคนแรกที่คว้ารางวัลนี้แบบ “เดี่ยว” ไม่ใช่การคว้ารางวัล “ร่วม” 

หลังทราบผลการประกาศรางวัล โกลดินได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) ที่บ้านของเธอในรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา

เธอยกย่องรางวัลนี้ว่าเป็น “รางวัลสำหรับแนวคิดที่ยิ่งใหญ่และสำหรับการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว” 

“ยังคงมีความแตกต่างอย่างมากระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย ในแง่ของงานที่พวกเขาทำ การได้รับค่าตอบแทน และอื่น ๆ” โกลดินบอกกับรอยเตอร์

“คำถามก็คือ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?” ซึ่งนั่นคือคำถามที่โกลดินทำงานเพื่อพยายามหาคำตอบเกี่ยวกับมัน 

ผลงานการศึกษานี้ของเธอออกมาเป็นหนังสือชื่อ “Understand the Gender Gap : An Economic History of American Women” เมื่อปี 1990 ซึ่งเป็นหนังสือที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการตรวจสอบหาต้นตอของความไม่เท่าเทียมกันของค่าจ้างตลอดประวัติศาสตร์ 200 ปี

“ฉันคิดเสมอว่าตัวเองเป็นนักสืบ และฉันเขียน (บทความ) เมื่อหลายปีก่อน … บทความที่ชื่อว่า ‘นักเศรษฐศาสตร์ในฐานะนักสืบ’ ฉันเป็นนักสืบมาตั้งแต่เด็ก ๆ” เธอกล่าวในบันทึกที่โพสต์บนเว็บไซต์โนเบล 

รันดี ฮาลมาร์สสัน (Randi Hjalmarsson) สมาชิกคณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า การค้นพบของคลอเดีย โกลดิน มีผลกระทบ (เชิงบวก) ต่อสังคมอย่างมาก “เธอได้แสดงให้เราเห็นว่าธรรมชาติของปัญหานี้ หรือที่มาของช่องว่างทางเพศที่ซ่อนอยู่นั้นเปลี่ยนแปลงตลอดประวัติศาสตร์ และตลอดเส้นทางของการพัฒนา” 

ฮาลมาร์สสันอ้างอิงคำพูดของโกลดินเองว่า “ในที่สุด เมื่อเราเข้าใจปัญหาและเรียกมันด้วยชื่อที่ถูกต้อง เราก็จะสามารถปูหนทางข้างหน้าได้ดียิ่งขึ้น” 

คริสติน ลาการ์ด (Christine Lagarde) ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) โพสต์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย X (ทวิตเตอร์เดิม) ว่า “การอุทิศตนของโกลดินเพื่อปรับปรุงความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจเป็นแรงบันดาลใจสำหรับเราทุกคน”