อินโดนีเซียใช้เชื้อเพลิงผสมน้ำมันปาล์มบินเชิงพาณิชย์ไฟลต์แรก ดันนานาชาติใช้ทำ SAF

เครื่องบินของสายการบินการูดา อินโดนีเซีย
เครื่องบินของสายการบินการูดา อินโดนีเซีย/ แฟ้มภาพ ปี 2017 (ภาพโดย Darren Whiteside/ REUTERS)

แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมพลังงานได้ร่วมพัฒนาและผลักดันการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ “น้ำมันปาล์ม” ซึ่งเป็นน้ำมันชีวภาพที่หาได้ง่าย-มีปริมาณการผลิตสูง ยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งใน “วัตถุดิบ” ที่ได้รับการยอมรับให้นำเข้าไปผสมใน SAF ด้วยข้อกังวลเรื่องความยั่งยืน เนื่องจากนานาชาติมองว่าการปลูกปาล์มน้ำมันต้องตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งผิดกฎหมายสหภาพยุโรป (EU) ที่ประกาศใช้เมื่อเร็ว ๆ นี้ด้วย 

อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศผู้ปลูกปาล์มและผลิตน้ำมันปาล์มมากที่สุดในโลกพยายามผลักดันการใช้น้ำมันปาล์มสำหรับเครื่องบิน โดยให้อุตสาหกรรมและนานาชาติยอมรับ “น้ำมันปาล์ม” เข้าไปเป็นหนึ่งในวัตถุดิบผลิต SAF ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้รับเสียงสนุนจากประเทศสิงคโปร์ แต่การผลักดันของอินโดนีเซียก็คงไม่สำเร็จในเวลาอันใกล้ เพราะมี EU เป็นขวากหนามชิ้นใหญ่ 

อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียก็ได้เริ่มใช้น้ำมันปาล์มผสมในน้ำมันเครื่องบินที่ใช้ในประเทศของตนเองแล้ว นับว่าเป็นไฟลต์บินพาณิชย์ไฟลต์แรกของโลกที่ทำการบินด้วยเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์ม โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่จะใช้น้ำมันเครื่องบินผสมน้ำมันปาล์มต่อไปอย่างจริงจัง แม้ว่าก่อนหน้านี้มีสายการบินเวอร์จิ้น แอตแลนติก (Virgin Atlantic) ของอังกฤษที่เคยให้ทำการบินเชิงพาณิชย์ด้วยเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มเมื่อปี 2008 แต่ก็เป็นเพียงการทดลองที่ไม่ได้ใช้ต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2023 สายการบินแห่งอินโดนีเซียทำการบินเชิงพาณิชย์ด้วยการใช้เชื้อเพลิงเครื่องบินที่ผสมน้ำมันปาล์มเป็นครั้งแรก เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดในโลกที่กำลังผลักดันการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในวงกว้างมากขึ้น เพื่อลดการนำเข้าเชื้อเพลิง 

อีร์ฟาน เซเตียปุตรา (Irfan Setiaputra) ซีอีโอของสายการบินแห่งชาติ “การูดา อินโดนีเซีย” (Garuda Indonesia) ให้ข้อมูลเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ดังกล่าวว่า บินโดยเครื่องบินโบอิ้ง 737-800NG ซึ่งให้บริการผู้โดยสารมากกว่า 100 คน จากเมืองหลวงจาการ์ตาไปยังเมืองสุราการ์ตา ระยะทางประมาณ 550 กิโลเมตร

“เราจะหารือเพิ่มเติมกับเปอร์ตามินา (บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดฯ) กระทรวงพลังงาน และฝ่ายอื่น ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อเพลิงนี้มีความสมเหตุสมผลในเชิงพาณิชย์” อีร์ฟานกล่าว

ทั้งนี้ ก่อนจะเริ่มให้บริการพาณิชย์โดยใช้น้ำมันผสมสูตรใหม่นี้ สายการบินการูดา อินโดนีเซีย ได้ทำการทดสอบการบินด้วยเชื้อเพลิงใหม่ที่ผสมน้ำปาล์มแล้วหลายครั้ง ทั้งทดสอบการบิน และทดสอบเครื่องยนต์ภาคพื้นดิน 

เชื้อเพลิงเครื่องบินผสมน้ำมันปาล์มที่กล่าวถึงนี้ผลิตโดย เปอร์ตามินา (PT Pertamina) บริษัทพลังงานของรัฐอินโดนีเซียที่โรงกลั่น ซิลาแคป (Cilacap) โดยใช้เทคโนโลยี hydroprocessed esters and fatty acid (HEFA) และทำจากน้ำมันเมล็ดในปาล์มที่ผ่านการฟอกขาวและกำจัดกลิ่นแล้ว

อินโดนีเซียพยายามอย่างจริงจังที่จะใช้น้ำมันปาล์มสำหรับเป็นเชื้อเพลิงเครื่องบิน โดยกำหนดให้เชื้อเพลิงเครื่องบินมีการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพ 3% ภายในปี 2020 แต่การดำเนินการล่าช้ามาจนถึงปีนี้ 

นอกจากนั้น เมื่อปี 2021 อินโดนีเซียทำการบินทดสอบโดยใช้เชื้อเพลิงแบบเดียวกันนี้บนเครื่องบินที่ผลิตโดย ดีร์กันทารา อินโดนีเซีย (Dirgantara Indonesia) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยบินจากเมืองบันดุงในจังหวัดชวาตะวันตกไปยังเมืองหลวงจาการ์ตา

อัลเฟียน นาซูชัน (Alfian Nasution) กรรมการบริษัทเปอร์ตามินากล่าวว่า ในปี 2021 เปอร์ตามินาประสบความสำเร็จในการผลิตน้ำมัน “2.0 SAF” ที่โรงกลั่นซิลาแคป โดยใช้เทคโนโลยีการประมวลผลร่วม และผลิตจากน้ำมันเมล็ดในปาล์มฟอกขาวที่ปราศจากกลิ่น มีกำลังการผลิต 1,350 กิโลลิตร (1,350,000 ลิตร) ต่อวัน

เปอร์ตามินากล่าวว่า เชื้อเพลิงจากปาล์มปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิล และประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มได้เรียกร้องให้รวมน้ำมันปาล์มไว้ในวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (SAF) 

เช่นเดียวกันกับที่ แฮร์ริส ยาห์ยา (Harris Yahya) ผู้อำนวยการฝ่ายในกระทรวงพลังงานของอินโดนีเซียกล่าวว่า การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจะช่วยลดเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนได้ 

ขณะที่อุตสาหกรรมการบินซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ก็กำลังมองหาวิธีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยใช้เชื้อเพลิงทางเลือก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าอุตสาหกรรมการบินจะต้องการน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF) ปีละ 450,000 ล้านลิตรต่อปีในปี 2050 หากเชื้อเพลิง SAF ถูกใช้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 65% ของการบรรเทาผลกระทบที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์

ถึงอย่างนั้นก็ตาม น้ำมันปาล์มก็อาจจะคว้าโอกาสนี้ได้ไม่มาก เพราะอย่างที่กล่าวไปในตอนต้นว่า หลายประเทศได้หยิบยกข้อกังวลเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่าในการผลิตน้ำมันปาล์มมาคัดค้านการใช้น้ำมันปาล์มทำ SAF โดยเฉพาะสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของอุตสาหกรรมการบินได้ออกกฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าที่มีความเชื่อมโยงกับการทำลายป่า ซึ่งน้ำมันปาล์มเป็นเป้าใหญ่ของกฎหมายนี้ที่สหภาพยุโรปกำหนดให้เลิกใช้เชื้อเพลิงขนส่งที่ทำจากปาล์มภายในปี 2030