ความท้าทาย 3 ประการที่อาจทำให้ “อินโดนีเซีย” ไปไม่ถึงฝัน “ศูนย์กลางอีวี”

อินโดนีเซีย รถอีวี

ก่อนหน้านี้ “อินโดนีเซีย” ซึ่งเป็นประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน ได้รับการกล่าวถึงพร้อมชื่นชมในแง่ความสำเร็จของการดึงการลงทุนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และแบตเตอรี่ แต่ตอนนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าอินโดนีเซียอาจจะไปไม่ถึงดวงดาวที่ฝันไว้

อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในสองประเทศที่มีแหล่งแร่นิกเกิลสำรองมากที่สุดในโลกร่วมกับออสเตรเลีย

ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ บวกกับวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดี “โจโก วิโดโด” (Joko Widodo) ที่ใช้ความได้เปรียบจากการมีแร่นิกเกิล ทำให้อินโดนีเซียประสบความสำเร็จในการดึงการลงทุนเข้าประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

หนึ่งในกลยุทธ์ที่ “โจโกวี” ใช้คือ ห้ามการส่งออกแร่นิกเกิล เป็นเงื่อนไขให้บริษัทต่างชาติที่ต้องการนิกเกิลต้องแห่ตั้งโรงงานผลิตในอินโดนีเซีย ส่งผลให้ในปี 2022 ภาคอุตสาหกรรมแร่-โลหะของอินโดนีเซียมีมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มากถึง 10,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

มาถึงตอนนี้ ความฝันของอินโดนีเซียที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถอีวี กำลังเผชิญความท้าทายสำคัญ 2-3 ประการที่อาจจะเป็นอุปสรรคในเส้นทางสู่เป้าหมาย

ประการแรก คือ อินโดนีเซียไม่มีแร่ลิเทียม และไม่สามารถจัดหาแร่ลิเทียมเข้ามาได้มากเพียงพอ ซึ่งถึงแม้ว่าแร่นิกเกิลที่อินโดนีเซียมีอยู่จะสำคัญมากต่ออุตสาหกรรมแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้า แต่แร่ลิเทียมนั้นสำคัญกว่า เพราะแบตเตอรี่นิกเกิลเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัยไปแล้ว ส่วนแบตเตอรี่ที่ใช้กันในปัจจุบันและในอนาคตระยะใกล้นี้คือแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งใช้แร่ลิเทียมเป็นหลัก

ประการสอง คือ อินโดนีเซียโดนสกัดดาวรุ่งจากคู่แข่งที่ทรงพลังอย่างสหรัฐ โดยเครื่องมือสำคัญของสหรัฐซึ่งมีส่วนอย่างมากในการดึงการลงทุนจากประเทศอื่นให้ย้ายไปยังสหรัฐ คือ “กฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ” ที่มีมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ลงทุนสร้างห่วงโซ่อุปทาน EV อย่างครบวงจรในสหรัฐ พร้อมกับให้เครดิตภาษีแก่ผู้ซื้อรถเป็นการกระตุ้นตลาด

ขณะที่อินโดนีเซียยังไม่มีข้อได้เปรียบอย่างอื่นมาชดเชย รวมทั้งไม่มีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหรัฐซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่สำคัญของโลก แม้ว่าอินโดนีเซียพยายามเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่สำเร็จ

ส่วนประการสาม ก็คือ ผลกระทบจากความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งมีความเสี่ยงที่อินโดนีเซียจะโดนหางเลขไปด้วย เนื่องจากบริษัทที่เข้าไปลงทุนผลิต-แปรรูปแร่นิกเกิลในอินโดนีเซียนั้นเป็นบริษัทจีนเกินกว่าครึ่ง

โดยในปี 2022 FDI ที่เข้าไปยังภาคอุตสาหกรรมโลหะของอินโดนีเซียนั้นมาจากจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงถึง 60% นอกจากนั้น ยังมีบริษัทจีนบางบริษัทที่ลงทุนในอินโดนีเซียผ่านสิงคโปร์ด้วย

ดังนั้น บริษัทแบตเตอรี่ในอินโดนีเซียที่ร่วมทุนกับจีนจะเจออุปสรรคในการที่จะเป็นซัพพลายเออร์ให้แก่บริษัทรถยนต์ไฟฟ้า เพราะบริษัทรถยนต์ก็กังวลว่าจะโดนผลกระทบจากมาตรการกีดกันจีนที่ไม่รู้ว่าสหรัฐจะใช้ไม้ไหนในอนาคต รวมถึงเกรงว่าจะผิดเงื่อนไขที่จะได้สิทธิประโยชน์จาก “กฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ” ของสหรัฐ

การที่ “เทสลา” (Tesla) บริษัทรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของโลกเลือกตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคที่มาเลเซียเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ถูกมองว่าทำให้อินโดนีเซียเสียหน้ามากทีเดียว แม้ว่าเทสลาจะยังคงลงทุนโรงงานผลิตในอินโดนีเซียก็ตาม

นอกจากความท้าทายหลัก ๆ ที่ว่ามาแล้ว ยังมีกฎ “ยูโรเปียน กรีน ดีล” ของสหภาพยุโรปซึ่งมีข้อกำหนดอย่างเข้มงวดเกี่ยวกับการนำเข้าแบตเตอรี่ ที่อาจจะเป็นอีกความท้าทายหรืออุปสรรคของอินโดนีเซียในระยะยาว