เกาหลีใต้เลิกวัฒนธรรมกินเนื้อสุนัข สภาผ่านร่างกฎหมายห้ามฆ่า-ห้ามขาย  

เกาหลีใต้ เนื้อสุนัข
นักกิจกรรมชุมนุมรอฟังข่าวดีระหว่างการประชุมรัฐสภา (ภาพโดย JUNG YEON-JE / AFP)

เกาหลีใต้พยายามเลิกวัฒนธรรมกินเนื้อสุนัข สภาผ่านร่างกฎหมายห้ามเพาะพันธุ์และห้ามฆ่าสุนัขเพื่อนำเนื้อไปบริโภค อุตสาหกรรมเนื้อสุนัขเกาหลีใต้ระส่ำ เตรียมฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ 

วันที่ 9 มกราคม 2024 สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า รัฐสภาเกาหลีใต้ผ่านร่างกฎหมายห้ามการกินและการขายเนื้อสุนัขแล้ว  หลังจากมีการถกเถียงเรื่องนี้กันมานาน และในยุคปัจจุบันมีการสนับสนุนเรื่องสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น

กฎหมายนี้ซึ่งระบุวัตถุประสงค์คือ “เพื่อขจัดการบริโภคสุนัข” จะมีผลใช้บังคับหลังจากพ้นระยะเวลาผ่อนผัน 3 ปี โดยกำหนดบทลงโทษให้ผู้เพาะพันธุ์และฆ่าสุนัขเพื่อผลิตเนื้อสัตว์สำหรับการบริโภคของมนุษย์จะต้องได้รับโทษจำคุกสูงสุด 3 ปีหรือปรับ 30 ล้านวอน (ประมาณ 7.95 ล้านบาท) แต่ร่างกฎหมายนี้ไม่ได้กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้รับประทานเนื้อสุนัข

ในอดีต การกินเนื้อสุนัขถือเป็นวิธีเพิ่มความแข็งแกร่งในฤดูร้อนของเกาหลี แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยมีการกินกันแล้ว โดยส่วนใหญ่การกินเนื้อสุนัขจะจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและร้านอาหารบางแห่งเท่านั้น เนื่องจากในปัจจุบันมีชาวเกาหลีจำนวนมากขึ้นที่มองว่าสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงในครอบครัว และมีการเลี้ยงสุนัขมากขึ้น ตามข้อมูลของรัฐบาลเผยว่า ในปี 2022 ครัวเรือนเกาหลีประมาณ 25% มีการเลี้ยงสุนัข โดยเพิ่มขึ้นจาก 16% ในปี 2010 และมีการวิพากษ์วิจารณ์การฆ่าสุนัขมากขึ้นด้วย 

นักเคลื่อนไหวกล่าวว่า สุนัขที่ถูกนำไปฆ่าเพื่อเป็นอาหารส่วนใหญ่ถูกชอร์ตด้วยไฟฟ้าหรือแขวนคอ แม้ว่าผู้เพาะพันธุ์สุนัขและพ่อค้าจะแย้งว่า มีวิธีการที่ก้าวหน้าที่ทำให้การฆ่าสุนัขมีมนุษยธรรมมากขึ้น 

เกาหลีใต้ เนื้อสุนัข
สุนัขในฟาร์มเพาะเลี้ยงสุนัขสำหรับบริโภค/ แฟ้มภาพ 27 เมษายน 2016 (ภาพโดย Ed Jones / AFP)

ความพยายามครั้งก่อน ๆ หน้านี้ที่จะออกกฎหมายห้ามขายเนื้อสุนัขล้มเหลว เมื่อเผชิญกับการประท้วงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมนี้ 

ในครั้งนี้ ร่างกฎหมายนี้ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นภายใต้การนำของประธานาธิบดียุน ซอกยอล (Yoon Suk Yeol) ซึ่งเป็นคนรักสัตว์ที่มีสุนัข 6 ตัวและแมว 8 ตัว ร่วมกับสุภาพสตรีหมายเลข 1 คิม กอนฮี (Kim Keon Hee) ที่เป็นนักวิจารณ์เรื่องการบริโภคเนื้อสุนัขด้วย 

ร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอโดยพรรครัฐบาล และได้รับการสนับสนุนจากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นฉันทามติที่เกิดขึ้นได้ยาก โดยผ่านมติด้วยคะแนนเสียงล้นหลาม 208 เสียง และมีการงดออกเสียง 2 เสียง ในรัฐสภาเกาหลีใต้ซึ่งเป็นระบบสภาเดี่ยว

อย่างไรก็ตาม ฝั่งผู้ที่ต้องการคงการกินเนื้อสุนัขเอาไว้ก็ไม่นิ่งเฉย ซอน วอนฮัก (Son Won-hak) จากสมาคมสุนัขเพื่อการบริโภคแห่งเกาหลี (Korean Association of Edible Dogs) ซึ่งเป็นแนวร่วมของผู้เพาะพันธุ์และผู้ขายสุนัขเพื่อบริโภคกล่าวว่า ทางกลุ่มวางแผนที่จะนำเรื่องนี้ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของกฎหมาย 

แต่ก่อนที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่าน สมาชิกกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้ออกมาเรียกร้องค่าชดเชยจากรัฐหากร่างกฎหมายนี้ถูกบัญญัติเป็นกฎหมาย ซึ่งพวกเขาเรียกร้องเงินชดเชยอย่างน้อย 2 ล้านวอน (ประมาณ 53,000 บาท) ต่อสุนัขหนึ่งตัว เพื่อชดเชยความสูญเสียในช่วง 5 ปีข้างหน้า ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกที่จะไม่ได้ใช้งาน ก็มีการเรียกร้องแยกต่างหาก 

กระทรวงเกษตรของเกาหลีใต้กล่าวว่า จะปรึกษาหารือกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขายังคงดำเนินกิจการได้อย่างมีเสถียรภาพและจะให้การสนับสนุนสูงสุดภายในขอบเขตที่เหมาะสม 

กระทรวงเกษตรประเมินว่า ณ เดือนเมษายน 2022 ทั้งประเทศมีฟาร์มสุนัขประมาณ 1,100 ฟาร์ม เพาะพันธุ์สุนัข 570,000 ตัวในแต่ละปี เพื่อนำไปเสิร์ฟในร้านอาหารประมาณ 1,600 แห่ง

ด้านสมาคมเกษตรกรระบุตัวเลขที่สูงกว่าว่า กฎหมายห้ามดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อฟาร์ม 3,500 แห่งที่เลี้ยงสุนัข 1.5 ล้านตัว และร้านอาหาร 3,000 แห่ง