เศรษฐกิจเวียดนาม Q1/2024 โต 5.66% ต่ำกว่าเป้า แต่สูงกว่า 4 ปีที่ผ่านมา

เวียดนาม
นักท่องเที่ยวเยี่ยมชมอาคารไปรษณีย์กลางเวียดนาม ในนครโฮจิมินห์/ แฟ้มภาพ 19 ธันวาคม 2023 (ภาพโดย Lam Ngoc / AFP)

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1 ปี 2024 โต 5.66% ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 6.0-6.5% แต่สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2020-2023

วันที่ 29 มีนาคม 2024 สำนักงานสถิติ (GSO) ของประเทศเวียดนามเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปี 2024 ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เวียดนามขยายตัว 5.66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) เป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอลงจากอัตราการเติบโต 6.7% ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ก็ยังสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2020 ถึง 2023 

ตัวเลขการเติบโต 5.66% นี้ ถึงแม้จะมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศในอาเซียน แต่ต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลเวียดนามซึ่งตั้งไว้ที่ช่วง 6.0% ถึง 6.5% 

สำนักข่าวซินหัว (Xinhua) ของจีนรายงานว่า ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ และการประมงของเวียดนามเติบโต 2.98% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างขยายตัว 6.28% และภาคบริการเติบโต 6.12% ซึ่งสำนักงานสถิติเวียดนามระบุว่า สามภาคส่วนนี้มีสัดส่วนในการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม 6.09%, 41.68% และ 52.23% ตามลำดับ

เหงวียน ถิ เฮือง (Nguyen Thi Huong) ผู้อำนวยการ GSO กล่าวว่า ภาคบริการมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีชีวิตชีวา การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างมากจากนโยบายวีซ่าที่เอื้ออำนวยและโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์หลักมีแนวโน้มสูงขึ้น

นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า ห่วงโซ่อุปทานที่กำลังขยายตัวของเวียดนามกำลังดึงดูดผู้ผลิตชิป แผงโซลาร์เซลล์ และบริษัทอื่น ๆ ที่ต้องการที่หลบภัยจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ทำให้เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดและพึ่งพาการส่งออกมากที่สุดในเอเชีย

ตอนนี้ภาคธุรกิจในเวียดนามต่างพากันบ่นถึงอุปสงค์จากต่างประเทศที่ลดลง และความยากลำบากในการขอสินเชื่อและใบอนุญาต เนื่องจากการปราบปรามการทุจริตของรัฐบาลทำให้เจ้าหน้าที่กลัวที่จะทำผิดพลาด 

ความพยายามที่จะขจัดคอร์รัปชัน รวมถึงการจับกุมผู้บริหารหลายคน ซึ่งบางรายถูกกล่าวหาว่าฉ้อโกงตราสารหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์และการธนาคาร ทำให้นักลงทุนหวาดกลัว ส่งผลให้ตลาดตราสารหนี้นิ่งอยู่กับที่ และยากสำหรับผู้กู้ที่จะจัดหาแหล่งเงินทุนใหม่

เล ฮอง เฮียป (Le Hong Hiep) ผู้ประสานงานโครงการเวียดนามศึกษาของสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยชั้นนำเกี่ยวกับการศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวกับ นิกเคอิ เอเชีย ว่า บริษัทจำนวนมากในประเทศเวียดนามยังคงดิ้นรนเพื่อฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงปัญหาอื่น ๆ ที่ทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักในช่วงสองปีที่ผ่านมา รวมถึงวิกฤตสินเชื่อ การตึงตัวของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์

ขณะที่รัฐบาลเวียดนามก็ระบุในโพสต์ล่าสุดบนเว็บไซต์ว่า “ธุรกิจจำนวนมากรายงานว่าการเข้าถึงสินเชื่อยังเป็นเรื่องยาก และอัตราดอกเบี้ยการให้กู้ยืมยังอยู่ในระดับสูง”