ใครจะเป็นประธานาธิบดีคนใหม่เวียดนาม ? เมื่อ “ดาวรุ่ง” ของพรรคกลายเป็น “ดาวดับ”

หวอ วัน เถือง
หวอ วัน เถือง (ภาพโดย Nhac NGUYEN / AFP)

หวอ วัน เถือง (Vo Van Thuong) ลาออกจากตำแหน่ง “ประธานาธิบดี” ของเวียดนาม หลังจากโดนพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามซึ่งเป็นผู้ปกครองประเทศบีบให้ลาออก 

หวอ วัน เถือง เป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ของเวียดนามที่ต้องลงจากตำแหน่งในรอบ 1 ปีกว่า หลังจากที่เขาได้รับเลือกขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราวเมื่อเดือนมีนาคม 2023 ต่อจากประธานาธิบดี เหวียน ซวน ฟุก (Nguyen Xuan Phuc) ที่ถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคม 2023 

ตามคำแถลงของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามซึ่งประกาศการยอมรับการลาออกของ หวอ วัน เถือง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2024 หวอ วัน เถือง ถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎของพรรค แต่ไม่ได้มีการชี้แจงอย่างชัดเจนว่าเขาทำอะไรผิด 

อย่างไรก็ตาม พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงกว้างในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา และการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งต่าง ๆ ในระดับสูงที่เกิดขึ้นก็ล้วนมีส่วนเชื่อมโยงกับการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น จึงมีการคาดเดาว่าการลาออกของ หวอ วัน เถือง อาจเกี่ยวข้องกับกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศจับกุมอดีตผู้ว่าฯจังหวัดกว๋างหงายเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ในข้อหาคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ หวอ วัน เถือง เป็นเลขาธิการพรรคอยู่ที่จังหวัดดังกล่าว

หวอ วัน เถือง ซึ่งปัจจุบันอายุ 53 ปี ถูกมองว่าเป็น “ดาวรุ่ง” ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เขาเป็นสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดในคณะโปลิตบูโรซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจสูงสุดของพรรค เขามีบทบาทระดับแถวหน้าในงานด้านต่างประเทศของเวียดนาม และยังเป็นบุตรบุญธรรมของ เหวียน ฝู จ่อง (Nguyen Phu Trong) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดในพรรคและในประเทศ 

ก่อนหน้านี้ หวอ วัน เถือง ถูกมองว่าจะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามต่อจาก เหวียน ฝู จ่อง วัย 79 ปี ซึ่งสุขภาพไม่ค่อยดี การต้องลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีก่อนเวลาอันควร พร้อมกับการมีประวัติด่างพร้อยของเขา จึงมีหลายแง่มุมให้จับตามองสถานการณ์การเมืองในเวียดนามต่อไป 

“ความมีเสถียรภาพ” มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศเวียดนาม ซึ่งเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สำคัญคือ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เนื่องจากมีบริษัทต่างชาติจำนวนมากเลือกเข้าไปตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม โดยมีปัจจัยเรื่องเสถียรภาพเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการพิจารณา 

หลายทศวรรษที่ผ่านมา เสถียรภาพของเวียดนามได้รับการ “รับประกัน” โดยรัฐที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม แต่ขณะนี้เสถียรภาพของเวียดนามดูไม่แน่นอนเท่าในอดีต 

ถึงอย่างนั้นก็ตาม นักวิเคราะห์เห็นพ้องกันว่า การเปลี่ยนแปลงผู้นำเวียดนามในปัจจุบันจะไม่ส่งผลกระทบต่อนโยบายหลักของประเทศ รวมถึง “การทูตแบบไผ่ลู่ลม” ที่มุ่งรักษาความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐอเมริกาและจีนไปพร้อม ๆ กัน 

คำถามที่น่าสนใจในตอนนี้คือ เมื่อ “ดาวรุ่ง” ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามกลายเป็น “ดาวดับ” ไปแล้ว ใครจะเป็นประธานาธิบดี (ชั่วคราว) คนต่อไปของเวียดนาม ? 

ในการประชุมสมัยวิสามัญเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม รัฐสภาเวียดนามได้แต่งตั้ง หวอ ถิ แองห์ ซวน (Vo Thi Anh Xuan) รองประธานาธิบดีให้ดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี ซึ่งเป็นงานที่เธอเพิ่งทำเมื่อปีที่แล้ว ตอนที่อดีตประธานาธิบดี เหวียน ซวน ฟุก ลาออก

วาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจะสิ้นสุดลงในปี 2026 เช่นเดียวกับตำแหน่งงานระดับสูงอื่น ๆ แต่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามมีแนวโน้มที่จะเลือกประธานาธิบดีถาวรในเดือนพฤษภาคม 2026 ซึ่งเป็นกำหนดเวลาที่รัฐสภาจะจัดการประชุมเต็มชุดสมัยสามัญครั้งต่อไป เว้นแต่จะมีการประชุมวิสามัญเกิดขึ้นเร็วกว่านั้น

นักวิเคราะห์หลายคนระบุว่า ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไป ได้แก่ โต เลิม (To Lam) รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะผู้มากอำนาจ และ เจือง ถิ มาย (Truong Thi Mai) ผู้มากประสบการณ์ในพรรค

อย่างไรก็ตาม โต เลิม อาจสนใจตำแหน่ง “เลขาธิการพรรค” ซึ่งมีอำนาจมากกว่าตำแหน่งประธานาธิบดีที่เป็นตำแหน่งในทางพิธีการและเชิงสัญลักษณ์ 

ขณะที่หน้าที่การงานของ เจือง ถิ มาย ถูกมองว่าตกอยู่ในความเสี่ยงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงผู้นำครั้งล่าสุด แต่ก็ไม่มีการประกาศการตัดสินใจของพรรคเกี่ยวกับเธอเมื่อวันพุธที่ 20 มีนาคมที่ประกาศการลาออกของประธานาธิบดี 

นอกจากนี้ มีอีก 2 ชื่อที่แพร่หลายในหมู่นักวิเคราะห์ นักการทูต และเจ้าหน้าที่ของต่างประเทศ ได้แก่ ฟาน วัน ซาง (Phan Van Giang) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และ เหวียน วัน เนน (Nguyen Van Nen) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขานครโฮจิมินห์  

นอกจากการคาดการณ์ถึงรายชื่อเหล่านี้ที่มีสิทธิจะเลื่อนขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงสุด นักวิเคราะห์และนักการทูตก็ยังไม่ตัดความเป็นไปได้ที่จะมีการสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งครั้งใหญ่ของบรรดาคนที่อยู่ในระดับสูงสุดอยู่แล้ว โดยมีการคาดว่า ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรี หรือ เวือง ดิ่งห์ เหวะ (Vuong Dinh Hue) ประธานรัฐสภา อาจจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี โดยสละตำแหน่งปัจจุบันของตนเอง 

อ้างอิง : 

อ่านเนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง