เมื่อ “ผู้อพยพ” เป็นตัวแปรสำคัญ ดันเศรษฐกิจสหรัฐโตแกร่ง แต่เงินเฟ้อไม่พุ่ง

politics-US-immigration-justice-Mexique
Immigrant activist demonstrate in front of the US Supreme Court in Washington, DC, on April 26, 2022. The Supreme Court will hear oral arguments Tuesday in the Biden v. Texas case, which will determine if the Biden administration must continue to enforce a Trump-era program known as the ìremain in Mexicoî policy. The court is considering whether President Joe Biden can end a controversial Trump-era border policy that denies asylum-seekers entry to the US while their case is reviewed. (Photo by Stefani Reynolds / AFP)
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

หนึ่งในปัจจัยโดดเด่นที่ผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเติบโตได้อย่างเกินคาดหมาย ก็คือตลาดการจ้างงานที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง และอาจกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ลดความคาดหวังของบรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนที่ต้องการเห็นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ ทั้งในแง่ระยะเวลาและอัตราในการลด

ล่าสุดการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมีนาคมพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 303,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่ตลาดคาดหมายว่าจะมีเพียง 200,000 ตำแหน่ง และยังสูงกว่าเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งอยู่ที่ 270,000 ตำแหน่ง

ปกติแล้วการจ้างงานที่มากและแข็งแกร่ง มักเป็นการส่งสัญญาณว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้น เพราะมันหมายถึงเศรษฐกิจเติบโตดี มีความต้องการสินค้าและบริการมาก ธุรกิจต่าง ๆ จำเป็นต้องจ้างคนงานเพิ่มขึ้น หากนายจ้างขาดแคลนแรงงานก็ต้องขึ้นค่าจ้างเพื่อจูงใจ ผลลัพธ์ก็จะลงเอยที่นายจ้างจะมีต้นทุนโดยรวมในการทำธุรกิจสูงขึ้น และก็จะส่งผ่านต้นทุนไปที่ราคาสินค้าและบริการ

ถึงแม้ในปัจจุบันเงินเฟ้อของสหรัฐเมื่อเทียบรายปีจะยังสูงกว่า 3% แต่ก็ถือว่าต่ำกว่าช่วงฤดูร้อนปี 2022 ที่เคยขึ้นไปสูงสุดถึง 9% ทำให้บรรดานักเศรษฐศาสตร์เชื่อมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า การที่มีต่างชาติอพยพเข้ามาในสหรัฐอเมริกาอย่างมากในช่วงหลังจากวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ผ่านพ้นไป คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ดันให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้น เพราะผู้อพยพเหล่านี้สามารถช่วยให้นายจ้างสามารถจ่ายค่าจ้างในอัตราที่จะไม่กระทบต่อราคาสินค้ามากนัก

“เดวิด เมอริเคิล” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซกส์ ชี้ว่า การที่มีผู้อพยพเพิ่มขึ้นเป็นคำตอบที่ว่า “ทำไมเราถึงมีเศรษฐกิจที่เติบโตแข็งแกร่งและเงินเฟ้อต่ำไปพร้อมกันได้” ผู้อพยพเหล่านี้ทำให้ถึงแม้ผู้บริโภคจะจับจ่ายมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ราคาต่าง ๆ ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก และที่จริงแล้วมาตรวัด “ความตึงตัว” ของตลาดแรงงาน อย่างเช่นค่าจ้างเริ่มลดลงด้วยซ้ำ หรือไม่ก็เปลี่ยนแปลงน้อยมาก (Sideway) ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

สำนักงบประมาณสภาคองเกรสของสหรัฐ เป็นหน่วยงานรัฐบาลกลางแห่งแรกที่ออกมาระบุว่า การเพิ่มขึ้นอย่างมากของผู้อพยพที่เริ่มเกิดขึ้นในปี 2022 เป็นปัจจัยเบื้องต้นที่ทำให้ตลาดแรงงานสหรัฐโดยรวมขยายตัว

สถาบันบรูกกิงส์ มีข้อสรุปคล้ายกันว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐสามารถทนทานต่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของการจ้างงาน โดยไม่ต้องกังวลว่ามันจะเพิ่มราคาให้สินค้าต่าง ๆ “การเติบโตอย่างรวดเร็วของประชากรและแรงงาน หมายถึงการจ้างงานสามารถเติบโตได้รวดเร็วมากกว่าที่เคยคิดกันก่อนหน้านี้ โดยไม่สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ”

อย่างไรก็ตาม ผู้อพยพเป็นปัญหาภายในประเทศที่อ่อนไหวที่สุดที่ประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ต้องเผชิญ เพราะผลสำรวจของแกลลัพ พบว่าชาวอเมริกันที่ตอบแบบสอบถามระบุว่า ผู้อพยพเป็น “ปัญหาสำคัญที่สุด” ของประเทศ ขณะที่รีพับลิกันซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านเรียกร้องให้ไบเดนใช้มาตรการเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อพยพไหลบ่าเข้ามา

เมืองใหญ่อย่างเช่นนิวยอร์กและชิคาโกเผชิญกับวิกฤตที่ส่วนหนึ่งเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง เมื่อ “เกร็ก แอ็บบอต” ผู้ว่าการรัฐเทกซัส ซึ่งต่อต้านนโยบายผู้อพยพของไบเดน ได้ประชดด้วยการใช้รถบัสขนผู้อพยพไปไว้ที่เมืองเหล่านี้ โดยที่ผู้เกี่ยวข้องไม่พร้อมที่จะรับมือ ขณะเดียวกัน แอ็บบอต
ก็ขัดขืนคำสั่งศาลด้วยการสร้างรั้วที่ชายแดนเทกซัส เพื่อป้องกันผู้อพยพจากเม็กซิโก

แต่ประเด็นที่กำลังถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนในสังคมอเมริกัน เป็นปัญหาเกี่ยวกับผู้อพยพที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย หรือไม่มีเอกสารถูกต้อง แต่ทว่าผู้อพยพส่วนใหญ่ได้รับอนุญาตให้ทำงานอย่างถูกกฎหมายในสหรัฐ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าพวกเขามีแนวโน้มจะใช้จ่ายเงินค่าจ้างที่ได้รับนั้นมาซื้อสินค้าและบริการในสหรัฐ

ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ช่วยเพิ่มจำนวนแรงงานในตลาด ช่วยสร้างความสมดุลระหว่างจำนวนแรงงานกับความต้องการซื้อสินค้าและบริการ ผลลัพธ์สุทธิจึงออกมาในลักษณะที่ว่า มันส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อน้อยมาก