“เฟด” ถึงจุด “พีก” นโยบายตึงตัว ส่งสัญญาณหั่นดอกเบี้ย 3 ครั้งปีนี้

US-ECONOMY-BANK-RATE
เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (ฟด) แถลงข่าวหลังการประชุม FOMC วันที่ 20 มีนาคม 2024 (ภาพโดย Mandel NGAN / AFP)
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกืจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

ผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ถึงแม้ตลาดจะคาดหมายอยู่แล้วว่าคงจะยังไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง 5.25-5.5% สูงที่สุดในรอบกว่า 23 ปี แต่ตลาดก็ตอบรับในทางบวกอย่างคึกคัก ตลาดหุ้นสหรัฐและทั่วโลกทะยานขึ้นอย่างร้อนแรง เนื่องจากเฟดส่งสัญญาณว่าช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในปีนี้ (2024) จะมีการลดดอกเบี้ยประมาณ 3 ครั้ง

“เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด แถลงหลังการประชุมว่า ทางคณะกรรมการไม่ได้กำหนดช่วงเวลาการลดดอกเบี้ย แต่ก็คาดหวังว่าจะมีการลดหลายครั้งตราบเท่าที่ข้อมูลต่าง ๆ เอื้ออำนวยให้ทำเช่นนั้น

“เราเชื่อว่านโยบายดอกเบี้ยของเรามีแนวโน้มจะถึงจุดสูงสุด (พีก) ของวัฏจักรตึงตัว และถ้าหากเศรษฐกิจเติบโตเป็นวงกว้างอย่างที่คาด ก็เหมาะสมที่จะผ่อนคลายดอกเบี้ยลง ณ จุดใดจุดหนึ่งของปีนี้” ประธานเฟดระบุ อย่างไรก็ตาม ไม่วายย้ำว่าเป็นไปได้อีกเช่นกันที่จะตรึงไว้ระดับนี้นานขึ้นกว่าเดิมหากจำเป็น

หากดูจาก dot plot หรือคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยของคณะกรรมการรายบุคคลชี้ให้เห็นว่า การลดดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นประมาณ 3 ครั้งในปี 2024 ขณะที่เครื่องมือติดตามความเคลื่อนไหวของเฟดของ CME กรุ๊ป ระบุว่ามีความเป็นไปได้เกือบ 75% ที่การลดดอกเบี้ยครั้งแรกน่าจะเกิดขึ้นในการประชุมเดือนมิถุนายน

นอกจากนี้ dot plot ยังบ่งชี้ว่า จะมีการลดอีก 3 ครั้งในปี 2025 น้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว 1 ครั้ง จากนั้นปี 2026 จะลดอีก 3 ครั้ง ปีถัดไปหลังจากนี้ก็จะลดอีก 2 ครั้ง จนกว่าอัตราดอกเบี้ยจะไปแตะระดับประมาณ 2.6% ที่เฟดเห็นว่าเป็นอัตราที่ “เป็นกลาง”

พร้อมกันนี้ เฟดยังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีขึ้นอย่างมากเป็น 2.1% จากเดิมในเดือนธันวาคมเคยประเมินว่าจะขยายตัวเพียง 1.4% อัตราว่างงานลดลงเหลือ 3.9% จากเดิม 4% ส่วนคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานโดยวัดจากการใช้จ่ายเพื่อบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.2% ไปอยู่ที่ 2.6%

นักวิเคราะห์บางคนตั้งข้อสังเกตว่า ถึงแม้ dot plot ของคณะกรรมการจะบอกเป็นนัยถึงการลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2024 แต่จะเห็นว่าได้ลดจำนวนครั้งที่จะหั่นดอกเบี้ยในปี 2025 จาก 4 ครั้งเหลือ 3 ครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงการลดความเร็วของการผ่อนคลาย ซึ่งขอเรียกว่าเป็นจุดยืนแบบ “bullish-dovish”

ซีมา ชาห์ หัวหน้านักกลยุทธ์ของ พรินซิปอล แอสเสท แมเนจเมนต์ ชี้ว่า สิ่งที่ประธานเฟดกล่าวออกมา เป็นการหาเหตุผลดี ๆ ว่าทำไมจะไม่หั่นดอกเบี้ย มากกว่าที่จะหาเหตุผลว่าทำไมต้องลด เฟดต้องการให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างนุ่มนวล การลดดอกเบี้ยก่อนที่เงินเฟ้อจะลดลงใกล้เคียงเป้าหมาย 2% ในขณะที่อัตราเติบโตเศรษฐกิจสูงกว่าแนวโน้ม เป็นเส้นทางที่อันตราย

ตลาดหุ้นสหรัฐปรับขึ้นร้อนแรงขานรับข่าวผลประชุม โดยดัชนีดาวโจนส์ พุ่งขึ้น 401.37 จุด หรือ 1.03% ปิดตลาดที่ 39,512.13 จุด ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐทุกช่วงอายุส่วนใหญ่ปรับลง โดยพันธบัตรอายุ 10 ปี ปรับลง 0.01% จากที่เคยอยู่ในระดับ 4.28% ส่วนตลาดหุ้นเอเชียก็เขียวถ้วนหน้า อาทิ เกาหลีใต้พุ่งขึ้นมากกว่า 2% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2022 หั่งเส็งฮ่องกงขยับขึ้น 1.74%

ที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ ดัชนีนิกเคอิของญี่ปุ่น ในช่วงเช้า บางช่วงของการซื้อขายพุ่งขึ้น 600 กว่าจุด หรือมากกว่า 1% ทำให้ดัชนีทำสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้งที่ 40,642.89 จุด ลบสถิติของก่อนหน้านี้ที่ทำได้ 40,109.23 จุด เนื่องจากส่วนหนึ่งได้แรงสนับสนุนจากบรรยากาศด้านธุรกิจในประเทศที่ดีขึ้น รวมทั้งการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ที่ขยายตัว 7.8% เกินกว่าที่ตลาดคาด จากเดิมที่ประเมินว่าจะเติบโตเพียง 5.3% ขณะที่ขาดดุลการค้าน้อยลงเหลือเพียง 3.794 แสนล้านเยน จากเดิมที่คาดว่าจะขาดดุล 8 แสนล้านเยน

เดวิด รัสเซลล์ หัวหน้ากลยุทธ์ตลาดระดับโลกของแพลตฟอร์มการลงทุน “TradeStation” ระบุว่า นักลงทุนโล่งใจที่เห็นว่าการลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง ปรากฏอยู่ใน dot plot ทำให้นักลงทุนมีความกระหายที่จะรับความเสี่ยง ถึงแม้เงินเฟ้อช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาจะไม่เป็นไปตามคาด แต่เฟดไม่ยอมสะดุดตาม จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนตลาดให้คึกคัก