แกะคำพูดประธาน “เฟด” “ต้นตอ” ใหญ่ เงินเฟ้อไม่ยอมลง

Powell
REUTERS/Evelyn Hockstein/File Photo
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

เงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยังคงดื้อแพ่งอยู่ในระดับ 3.2% สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และยังสูงกว่าคาดการณ์ของตลาดเล็กน้อย ที่ประเมินว่าน่าจะอยู่ในระดับ 3.1% สร้างความผิดหวังและทำลายความหวังของตลาดที่หวังว่า
คงไม่ต้องรอนานนักก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยอมหั่นดอกเบี้ยลง

ฟอร์จูน สื่อของสหรัฐได้รายงานว่า หากสังเกตถ้อยแถลงต่อสภาคองเกรสของ “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา จะพบบางสิ่งที่ซ่อนอยู่และถูกมองข้าม เกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อยังคงค้างอยู่ในระดับสูง โดยพาวเวลล์พูดว่า “ค่าประกันภัยหลายชนิด ทั้งประกันภัยบ้าน รถยนต์ และอื่น ๆ พุ่งขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสูง จนกระทบต่อความพยายามของเฟดที่จะดึงลงมาให้อยู่ในเป้าหมายที่ 2%”

ตามข้อมูลของสำนักสถิติแรงงานของสหรัฐ แสดงให้เห็นว่า ค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ส่วนบุคคลปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 20.6% ส่วนในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม ขณะที่ผลการศึกษาของเอสแอนด์พี โกลบอลมาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ พบว่าค่าประกันภัยบ้านพุ่งขึ้น 11.3% ในปีที่แล้ว

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าปัจจัยที่ผลักดันให้ค่าประกันสูงขึ้นมาจากหลายด้าน เช่น ภาวะโลกร้อน ราคาชิ้นส่วนรถยนต์ที่สูงขึ้น ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงสุดขั้ว นำไปสู่ความเสี่ยงที่สูงขึ้นของบริษัทประกันภัย เพราะสิ่งที่รับประกัน เช่น บ้านมีความเสี่ยงที่จะเสียหายจากภัยธรรมชาติสูง โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาภาวะอากาศสุดขั้วสร้างความเสียหายให้สหรัฐประมาณ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นเหตุให้บริษัทประกันภัยต้องขึ้นเบี้ยประกัน นอกจากนี้ ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงมาก เช่น พื้นที่ชายฝั่ง บริษัทประกันภัยถึงกับหยุดรับประกัน

ส่วนเบี้ยประกันภัยรถยนต์ก็ทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 50 ปี ซึ่งมีสาเหตุจากทั้งสภาวะอากาศ อาชญากรรม และแม้แต่จากตัวรถยนต์เอง โดยรถยนต์ที่ออกมาใหม่และความซับซ้อนของมันทำให้ค่าซ่อมแพง จะเห็นว่าค่าบำรุงรักษา
และซ่อมแซมรถยนต์ในเมืองต่าง ๆ ของสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ขยับขึ้น 6.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สูงกว่าเงินเฟ้อโดยรวมเสียอีก สร้างความลำบากให้กับผู้บริโภค

ในอีกด้านหนึ่งการที่เฟดยืนกรานเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 2% จึงจะยอมลดดอกเบี้ย ก็กำลังสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายเสรีนิยม โดยเฉพาะในห้วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ บางคนในฝ่ายซ้ายจึงต้องการให้เฟดปรับเป้าหมายเงินเฟ้อให้สูงกว่านี้ โดยสมาชิกพรรคเดโมแครตหลายคนได้ถือโอกาสซักถามประธานเฟดถึงสาเหตุที่ต้องกำหนดเป้าหมายไว้ที่ 2% สมาชิกเดโมแครตอ้างว่า เป้าหมายนี้คงได้รับแนวคิดมาจากอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางนิวซีแลนด์ตั้งแต่ปี 1988 ซึ่งพาวเวลล์ยอมรับว่าแนวคิดนี้มาจากนิวซีแลนด์จริง แต่ตอนนี้กลายมาเป็นมาตรฐานโลกแล้ว เพราะเป็นมาตรฐานที่คงทน และจะไม่ก่อปัญหาใหสหรัฐในวันข้างหน้า

“ซาราห์ ไบเดอร์” นักประวัติศาสตร์ธนาคารกลางสหรัฐให้ความเห็นว่า เรื่องการให้ความสำคัญกับเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นหลักของเฟด เป็นประเด็นที่ถกเถียงมาหลายปี ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 มาจนตลอดทศวรรษ 2000 ซึ่งมักมีแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองที่ต้องการให้เฟดไม่เคร่งเรื่องนี้เกินไป แต่ควรคำนึงถึงการเติบโตของเศรษฐกิจและการจ้างงานด้วย แต่ก็จะเห็นว่าประธานเฟดหลายคนก็ยังยืนกรานในนโยบายของเฟด ไม่ว่าจะเป็นยุคของ อลัน กรีนสแปน หรือเบน เบอร์แนงคี ที่ต้องต่อสู้กับความคิดเห็นของสาธารณะที่ไม่อยากให้เฟดเน้นเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นหลักเหนืออย่างอื่น โดยเบอร์แนงคีระบุว่า เงินเฟ้อ 2% นั้น เป็นระดับที่สามารถเพิ่มกิจกรรมเศรษฐกิจไปพร้อมกับสร้างความมั่นใจให้กับฝั่งของผู้บริโภค ดังนั้น ทำให้เฟดมีความยืดหยุ่นในการแก้ปัญหาทั้งสองฝั่งได้

คำชี้แจงนี้ของเบอร์แนงคี ยังคงสอดคล้องกับเนื้อหาบนเว็บไซต์ของเฟดจนถึงปัจจุบัน ในการอธิบายต่อสาธารณะว่าทำไมต้องกำหนดเงินเฟ้อ 2% โดยเฟดยืนยันว่าเป็นอัตราที่สอดคล้องกับอำนาจของเฟดมากที่สุด ในการก่อให้เกิดการจ้างงานเต็มที่ และสามารถรักษาเสถียรภาพราคามากที่สุด