พาวเวลล์ช่วยเพิ่มความมั่นใจ ปีนี้เฟดลดดอกเบี้ยแน่ ตลาดหุ้นเฮ ดอลลาร์อ่อนค่า

เจอโรม พาวเวลล์ กล่าวรายงานนโยบายการเงินรายครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการการเงินของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา
เจอโรม พาวเวลล์ กล่าวรายงานนโยบายการเงินรายครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการการเงินของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา วันที่ 6 มีนาคม 2024 (ภาพโดย Bonnie Cash/ REUTERS)

เจอโรม พาวเวลล์ กล่าวรายงานนโยบายการเงินต่อคณะกรรมาธิการการเงินของสภา เพิ่มความมั่นใจให้ตลาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยแน่ในปีนี้ ตลาดหุ้นเฮ บวกทั้งตลาดหุ้นสหรัฐและเอเชีย ด้านเงินดอลลาร์อ่อนค่า 

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2024 ตามเวลากรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ ซึ่งช้ากว่าเวลาไทย 12 ชั่วโมง เจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell) ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด (Fed) กล่าวรายงานนโยบายการเงินรายครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการการเงินของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา 

การกล่าวรายงานของพาวเวลล์เริ่มจากการเน้นย้ำภารกิจของเฟดว่า ธนาคารกลางสหรัฐยังคงให้ความสำคัญกับอำนาจหน้าที่สองประการคือ ส่งเสริมการจ้างงานให้ได้มากที่สุดและทำให้ราคาสินค้ามีเสถียรภาพ ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐในปีที่ผ่านมาก็มีความก้าวหน้าอย่างมากตามวัตถุประสงค์เหล่านี้

แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงสูงกว่าเป้าหมายของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลาง (FOMC) ที่กำหนดไว้ที่อัตรา 2% แต่ก็ได้ผ่อนคลายลงอย่างมากแล้ว และการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อเกิดขึ้นโดยไม่มีการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ความตึงตัวของตลาดแรงงานคลี่คลายลงและความคืบหน้าของการลดอัตราเงินเฟ้อยังคงดำเนินต่อไป ความเสี่ยงในการบรรลุเป้าหมายการจ้างงานและลดอัตราเงินเฟ้อก็เริ่มเข้าสู่สมดุลที่ดีขึ้น 

“ถึงกระนั้น คณะกรรมการยังคงให้ความใส่ใจอย่างมากต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ และตระหนักดีว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงทำให้เกิดความยากลำบากอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่สามารถจ่ายค่าใช้จ่ายที่จำเป็นได้น้อยที่สุด อย่างเช่น ค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย และค่าเดินทาง คณะกรรมการ (FOMC) มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเป็นไปตามเป้าหมายที่ 2% การฟื้นคืนเสถียรภาพของราคาถือเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะบรรลุภาวะตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทุกคนในระยะยาว” 

ก่อนจะเข้าสู่เรื่องนโยบายการเงิน เจอโรม พาวเวลล์ รายงานสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐว่า ในปี 2023 กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่แข็งแกร่ง ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศโดยรวมเพิ่มขึ้น 3.1% โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ของผู้บริโภคที่แข็งแกร่งและอุปทานที่ดีขึ้น แต่กิจกรรมในภาคที่อยู่อาศัยลดลง ซึ่งสะท้อนถึงสาเหตุจากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจดจำนองที่สูงเป็นส่วนใหญ่ และอัตราดอกเบี้ยที่สูงดูเหมือนจะส่งผลต่อการลงทุนคงที่ของธุรกิจด้วย 

ตลาดแรงงานยังคงค่อนข้างตึงตัว แต่เงื่อนไขอุปสงค์และอุปทานยังคงมีความสมดุลที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กลางปี 2023 มีตำแหน่งงานที่ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 239,000 ตำแหน่งต่อเดือน และอัตราการว่างงานยังคงใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.7% การสร้างงานที่แข็งแกร่งมาพร้อมกับอุปทานคนทำงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนอายุ 25 ถึง 54 ปี และมีการย้ายถิ่นฐานที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ตำแหน่งงานว่างลดลง และการเติบโตของค่าจ้าง (ก่อนหักเงินเฟ้อ) ชะลอลง แม้ว่าช่องว่างระหว่างงานกับคนทำงานจะลดลง แต่ความต้องการแรงงานยังคงเกินอุปทานของแรงงานที่มีอยู่

อัตราเงินเฟ้อได้ผ่อนคลายลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังคงสูงกว่าเป้าหมายระยะยาวของ FOMC ที่กำหนดไว้ที่ 2% ดัชนีราคาค่าใช้จ่ายการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในเดือนมกราคม 2024 เพิ่มขึ้น 2.4% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) หากไม่รวมหมวดอาหารและพลังงานที่มีความผันผวน PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 2.8% ซึ่งเป็นการชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัดจากปี 2022 การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะยาวดูเหมือนจะยังคงยึดถือได้ดี สะท้อนได้จากการสำรวจภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และผู้พยากรณ์ในวงกว้าง ตลอดจนมาตรการจากตลาดการเงิน

เจอโรม พาวเวลล์ กล่าวรายงานนโยบายการเงินรายครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการการเงินของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา
เจอโรม พาวเวลล์ กล่าวรายงานนโยบายการเงินรายครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการการเงินของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา วันที่ 6 มีนาคม 2024 (ภาพโดย Bonnie Cash/ REUTERS)

ในส่วนนโยบายการเงิน พาวเวลล์กล่าวว่า หลังจากปรับจุดยืนของนโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2022 คณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดยังคงระดับเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารกลางไว้ที่ร้อยละ 5.25-5.50% นับตั้งแต่การประชุมเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว นอกจากนี้ ยังลดขนาดงบดุลลงอย่างรวดเร็วและในลักษณะที่คาดการณ์ได้ ซึ่งจุดยืนนโยบายการเงินที่เข้มงวดเป็นการสร้างแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ

“เราเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเราน่าจะถึงจุดสูงสุดในช่วงวงจรที่เข้มงวดนี้แล้ว หากเศรษฐกิจพัฒนาไปในวงกว้างตามที่คาดไว้ ก็มีแนวโน้มที่จะเริ่มยกเลิกความเข้มงวดของนโยบายในช่วงใดช่วงหนึ่งของปีนี้ แต่แนวโน้มเศรษฐกิจยังไม่แน่นอน และไม่รับประกันความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ 2% ของเรา”

“การลดข้อจำกัดทางนโยบายเร็วเกินไปหรือมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดการพลิกกลับของความคืบหน้าของอัตราเงินเฟ้อ และท้ายที่สุดจำเป็นต้องมีนโยบายที่เข้มงวดยิ่งขึ้น เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาอยู่ที่ 2% ในเวลาเดียวกัน การลดข้อจำกัดทางนโยบายที่ช้าเกินไปหรือน้อยเกินไป อาจทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานอ่อนแอลงเกินควร ในการพิจารณาการปรับช่วงเป้าหมายของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เราจะประเมินข้อมูลที่เข้ามา แนวโน้มพัฒนาการ และความสมดุลของความเสี่ยงอย่างรอบคอบ คณะกรรมการไม่คาดหวังว่าจะเหมาะสมที่จะลดช่วงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ย จนกว่าจะเชื่อมั่นได้มากขึ้นว่าอัตราเงินเฟ้อจะเคลื่อนตัวไปอยู่ที่ 2% อย่างยั่งยืน” 

“เรายังคงมุ่งมั่นที่จะลดอัตราเงินเฟ้อให้กลับไปสู่เป้าหมาย 2% ของเรา และคงระดับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะยาวเอาไว้อย่างดี การฟื้นคืนเสถียรภาพของราคาถือเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดขั้นตอนในการบรรลุการจ้างงานสูงสุดและราคาที่มั่นคงในระยะยาว”

“โดยสรุป เราเข้าใจว่าการกระทำของเราส่งผลกระทบต่อชุมชน ครอบครัว และธุรกิจทั่วประเทศ ทุกสิ่งที่เราทำคือ การให้บริการต่อภารกิจสาธารณะของเรา พวกเรา ที่ธนาคารกลางจะทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อบรรลุเป้าหมายการจ้างงานระดับสูงสุด และเสถียรภาพด้านราคา” ประธานธนาคารกลางสหรัฐกล่าว 

ทั้งนี้ ในตอนหนึ่งของการตอบคำถามคณะกรรมาธิการ มีคำถามว่าจะมีการประกาศว่าสามารถนำเศรษฐกิจสหรัฐลงจอดอย่างนุ่มนวล (Soft Landing) หรือไม่ พาวเวลล์ตอบว่า “ผมไม่ได้คิดว่าจะมีการแถลง เราแค่จะก้มหน้าทำงานของเรา และพยายามส่งมอบสิ่งที่สาธารณชนคาดหวังจากเรา เราจะไม่ประกาศชัยชนะเช่นนั้น” 

อย่างไรก็ตาม การกล่าวรายงานของพาวเวลล์ ที่ให้ความมั่นใจต่อตลาดว่าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลงอย่างแน่นอนในปีนี้ ส่งผลให้ทั้งหุ้นสหรัฐปรับตัวดีขึ้นในวันพุธที่ 6 มีนาคม โดย S&P 500 เพิ่มขึ้น 0.5% ส่วน Nasdaq 100 ที่เน้นหุ้นเทคโนโลยีก็บวก 0.7% และหุ้นเอเชียก็ปรับตัวดีขึ้นในการเปิดตลาดในวันที่ 7 มีนาคม ทั้งหุ้นญี่ปุ่นและหุ้นจีน ไปจนถึงหุ้นออสเตรเลีย ส่วนค่าเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าที่สุดในรอบ 1 เดือน ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง